ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องโรคไม่ติดต่อ ชื่นชมผู้นำรัฐบาลไทย และกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) มีความก้าวหน้าเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พญ.ซอมญ่า ซวามินาทน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก และคณะทำงานระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องโรคไม่ติดต่อ (United Nations Interagency Task Force (UNIATF) on NCDs) ร่วมกันแถลงข่าว ผลการประเมินการดำเนินงานด้านการป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประเทศไทย

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อ เน้นการป้องกันก่อนการรักษา รักษาอย่างมีคุณภาพ ด้วยงบประมาณที่เหมาะสม แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและครบวงจร โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข และมอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักประสานทุกภาคส่วนในการดำเนินการ และติดตามอย่างเร่งด่วน

ทำให้ในปี 2560 องค์การอนามัยโลกประเมินให้ไทยมีผลการดำเนินงานในการป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อ ที่มีความก้าวหน้าเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ได้แสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญ และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยจะผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ความสำคัญกับการป้องกันควบคู่ไปกับการรักษา เป็นคำมั่นสัญญาที่จะนำประเทศไทยไปสู่ Free of NCDs society

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการที่สำคัญเพื่อปกป้องประชาชนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การยกระดับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การห้ามใช้ไขมันทรานส์ การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย และการออกมาตรการภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคยาสูบลดลง ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มปรับส่วนผสมให้มีน้ำตาลให้น้อยลง ซึ่งประเทศไทยจะยกระดับการดำเนินงานป้องกันโรคไม่ติดต่อของทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทางเดียวกันเพื่อประชาชนมีสุขภาพดี ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

สำหรับโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนกว่า 400,000 ราย หรือเท่ากับร้อยละ 71 ในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลให้ภาระโรคจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคือการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และขาดการออกกำลังกาย ในปี 2552 ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อสูงถึง 198.512 พันล้านบาท

ทั้งนี้ UNIATF เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจขององค์การสหประชาชาติที่ตั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทุกหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อ เพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งเสริมการจัดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า