ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัด เผยข้อสรุปถก ร่าง พ.ร.บ.ยา ยกเลิก ม.22(5) ที่เพิ่มวิชาชีพอื่นจ่ายยา คง 3 วิชาชีพจ่ายยาเหมือนเดิม หลังองค์กรวิชาชีพเภสัชมีมติร่วม หวั่นเปิดช่องสถานพยาบาลเอกชนไม่ใช่เภสัชกรจ่ายยา ทำประชาชนเสี่ยงรับยา พร้อมคงเภสัชกรปฏิบัติงานร้านยา 1 แห่งเหมือนเดิม ระบุภาพรวมเนื้อหา เป็นร่าง กม.ที่ดี หากปรับแก้ส่วนเป็นปัญหา เดินหน้าต่อได้

ภก.จิระ วิภาสวงศ์

ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และวิชาชีพเภสัชกรรม โดยมีคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สภาเภสัชกรรม และชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัด โดยมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.ยา ในประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง โดยเฉพาะมาตรา 22(5) ที่เปิดให้วิชาชีพอื่นสามารถร่วมจ่ายยาให้กับคนไข้ได้

โดยมีข้อสรุปร่วมกันคือ ให้ยึดเนื้อหาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ในมาตรา 13 โดยคงให้อำนาจการจ่ายยานอกจากเภสัชกรเฉพาะ 3 วิชาชีพหลักเช่นเดิม คือแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ส่วนวิชาชีพอื่นๆ นั้นเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้อำนาจในการจ่ายยาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งการหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยในการรับยาได้ ทั้งยังไม่สอดคล้อง และขัดต่อหลักการในแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากแต่ละวิชาชีพในระบบสุขภาพ นอกจากแพทย์ ทันแพทย์ และสัตวแพทย์แล้ว ไม่ได้มีหน้าที่รักษาคนไข้ อาทิ พยาบาลมีหน้าที่ดูแลคนไข้ นักเทคนิกการแพทย์มีหน้าที่ตรวจสิ่งส่งตรวจ และนักกายภาพบำบัด มีหน้าที่บำบัดคนไข้โดยไม่ใช้ยา เป็นต้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาแต่อย่างใด

ส่วนการที่ก่อนหน้านี้มีแถลงการณ์ขอให้พยาบาลจ่ายยาผู้ป่วยได้นั้น ภก.จิระ กล่าวว่า ในประเด็นนี้ที่ประชุมได้มีการพูดคุยเช่นกันและเห็นตรงกันว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการขอจ่ายยาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลของรัฐ แต่เดิมก็มีการอนุญาตให้จ่ายยาได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้กำกับของแพทย์และเภสัชกร ทั้งยังมีกรอบบัญชียาในการสั่งจ่ายที่พิจารณาโดยคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ถือเป็นช่องทางกฎหมายที่เปิดให้ดำเนินการโดยถูกกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา แต่ไม่ควรกำหนดเปิดช่องไว้ในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ที่เป็นกฎหมายหลัก เพราะจะเป็นการเปิดให้วิชาชีพอื่นๆ สามารถจ่ายยาในสถานพยาบาลเอกชนได้ ส่งผลต่อมาตรฐานการรักษาและดูแลคนไข้ในสถานพยาลเอกชน และอาจทำให้ประชาชนได้รับอันตรายได้

ขณะที่รายการยาที่พยาบาลจ่ายยามีจำนวน 120 รายการ 9 กลุ่มโรค มองว่ามีความเสี่ยงอยู่แล้ว โดยมีทั้งยาปฏิชีวนะ 8 รายการ น้ำเกลือ ยาควบคุมพิเศษ และยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ซึ่งเราต่างไม่เห็นด้วยกับกรอบรายการยาเหล่านี้อยู่แล้ว และหากเปิดกว้างให้จ่ายยาอื่นเพิ่มเติมอีก อาจทำใก้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา และอันตรายต่อประชาชนได้อีก

ภก.จิระ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการหาข้อสรุปในประเด็นอื่นๆ อาทิ การจัดแบ่งประเภทยาที่ไม่เป็นสากล โดยปัจจุบันมีการแบ่งยาออกเป็น 4 ประเภท คือ

1.ยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์ เป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ และมีเภสัชกรเป็นผู้จ่าย

2.ยาที่ต้องใช้โดยเภสัชกร โดยเป็นกลุ่มยาอันตรายที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของวิชาชีพเภสัชกรเฉพาะ

3.ยาสามัญประจำบ้าน

และ 4.ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ โดยเป็นรายการที่อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยา ขย.2 ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,800 แห่ง แต่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ไม่พูดถึงว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยในต่างประเทศไม่มีประเภทร้านยานี้ จึงควรมีแนวทางพัฒนาเพื่อยกระดับให้เป็นร้านยา ขย.1

นอกจากนี้ในประเด็นการเปิดให้เภสัชกรสามารถประจำร้านยาได้มากกว่า 1 แห่ง ในช่วงเวลาที่ต่างกันนั้น ในที่ประชุมต่างยังคงไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดการวิ่งรอกและเกิดปัญหาเภสัชกรแขวนป้ายเช่นเดิม ทุกวันนี้ก็ปราบไม่ไหวอยู่แล้ว หากเขียนกฎหมายแบบนี้อาจทำให้ปัญหาขยายเพิ่มขึ้นได้ จึงขอให้คงปฏิบัติงานร้านยาได้เพียง 1 แห่งเช่นเดิม

ต่อข้อซักถามว่า หลังการประชุมในครั้งนี้แล้ว ยังต้องหารือกับวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะในประเด็นการจ่ายยาอีกหรือไม่ นพ.จิระ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ อย. และกระทรวงสาธารณสุข แต่ในการประชุมครั้งนี้มีทั้ง ปลัด สธ. และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมการแพทย์ ว่าที่ปลัด สธ.คนใหม่ และ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่งการที่จะเรียกกลุ่มอื่นมาร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมคงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทาง อย. และกระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการปรับแก้ไขตามผลสรุปการประชุมในวันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ นพ.จิระ กล่าวว่า หากมีการปรังปรุงร่างกฎหมายตามที่มีการทักท้วงแล้วก็สามารถเดินหน้าได้ หรือดึงในส่วนที่เป็นปัญหาออกก่อนเพื่อให้ได้ข้อยุติ เพราะการออกกฎหมายยังมีกระบวนการออกกฎหมายเพิ่มเติมในภายหลังได้ ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้มีข้อดีหลายส่วนและดีกว่ากฎหมายเดิม อาทิ การจำกัดให้ทะเบียนยามีอายุ 7 ปี จากเดิมที่เป็นทะเบียนยาไม่มีวันหมดอายุ และการปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตตามมาตรา 44 เพื่อให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ยา มองว่าดีและใช้ได้ แต่ยังปรับในส่วนที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อวิชาชีพและประชาชนก่อน