ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุข เผย อย.เตรียมตั้ง คกก.ถกร่าง พรบ.ยา “เปิดช่องวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้” แนะต้องมีตัวแทนทุกวิชาร่วมหาทางออก ดูผลกระทบรอบด้าน หวั่นปลดล็อกคลินิก-รพ.เอกชน ไม่ต้องมีเภสัชกรประจำ ทำประชาชนเสี่ยง ไม่ปลอดภัย พร้อมระบุสถานพยาบาลรัฐ พยาบาลจ่ายยาอยู่แล้ว ภายใต้กำกับแพทย์และเภสัชกร

ภก.จิระ วิภาสวงศ์

ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ..... โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มีข้อสรุปคือในส่วนประเด็นที่ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งและหาข้อยุติไม่ได้ ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันโดยเร็ว เนื่องด้วยต้องการให้กฎหมายผ่านในรัฐบาลชุดนี้ที่มีระยะเวลาจำกัด ภายในเดือนธันวาคมนี้จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออก ที่มีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องได้มีเวลามาร่วมพูดคุยก็เป็นไปได้ที่จะหาทางออกร่วมกันได้ เพราะประเด็นที่เห็นต่างไม่ใช่ประนีประนอมไม่ได้ เพียงแต่ต้องนำหลักการและเหตุผลมาพูดคุยกัน

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องหาข้อสรุปร่วมคือการเปิดให้ทุกวิชาชีพจ่ายยาได้โดยที่ไม่ต้องมีใบอนุญาต ขึ้นอยู่กับกฎกระทรวงสาธารณสุข เป็นประเด็นที่ชมรมฯ ไม่เห็นด้วย เพราะแต่เดิมกำหนดให้วิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เป็นผู้สั่งยา โดยเภสัชกรทำหน้าที่จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์และขายยาในร้านยาที่ต้องมีใบอนุญาต แต่เมื่อมีการร่างกฎหมายฉบับใหม่ มีบางวิชาชีพร้องขอให้เปิดช่องให้จ่ายยาได้ โดยให้เหตุผลว่าเมื่อกฎหมายวิชาชีพให้เขาทำการรักษาเบื้องต้น จึงมีความจำเป็นต้องจ่ายยาที่อยู่นอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้านได้

ส่วนที่สภาการพยาบาลออกแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา โดยระบุว่า เพราะเอื้อให้ทุกวิชาชีพร่วมทำงานได้นั้น ภก.จิระ กล่าวว่า พื้นฐานองค์ความรู้เรื่องยาที่เรียนมาในแต่ละวิชาชีพไม่เท่ากัน ทั้งนี้ แต่ละวิชาชีพได้ถูกแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน อาทิ แพทย์เรียนมาพื่อทำการรักษาและสั่งยา ทันตแพทย์ดูแลและรักษาช่องปาก เภสัชกรมีหน้าที่ผลิตยาและจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ พยาบาลเน้นการดูแลพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งในหลักสากลก็แบ่งบทบาทหน้าที่มาเป็น 100 ปีแล้ว โดยแต่ละวิชาชีพไม่ก้าวก่ายและไม่ล้ำเส้นกัน ต่างทำหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพ ทั้งในการเรียนการสอนต่างเน้นหนักในศาสตร์วิชาชีพของตนเอง ความรู้เรื่องยาจึงไม่เท่ากัน

สำหรับกรณีที่ระบุว่าในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พยาบาลเป็นผู้จ่ายยานั้น ตรงนี้เป็นการสั่งจ่ายยาภายใต้การควบคุมของแพทย์และเภสัชกร ไม่ได้ปล่อยอิสระ ซึ่งการเปิดให้วิชาชีพอื่นร่วมจ่ายยาได้ที่เรากังวลกรณีคลินิกเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้จ่ายยาต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น เพื่อป้องกันประชาชนจากความเสี่ยง หากเราเปิดช่องตรงนี้จะเกิดความเป็นอิสระทำให้ผู้จ่ายยาในสถานพยาบาลเอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นเภสัชกรที่มีความรู้ด้านยาโดยตรง

“ที่ระบุว่าปัจจุบันพยาบาลจ่ายยา 18 กลุ่มอยู่แล้วนั้น เป็นการทำภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพและจำกัดเฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐเท่านั้น และในยา 18 กลุ่ม มียาฉีดรวมอยู่ด้วย ซึ่งตามหลักการการฉีดยาเป็นเรื่องของแพทย์ แต่ที่ทุกวันนี้ฉีดยาได้เพราะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เช่นกัน แพทย์เป็นผู้อนุญาตให้ทำ เช่นเดียวกับผู้ช่วยพยาบาลที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพพยาบาล แต่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยภายใต้การกำกับของพยาบาล โดยผู้ช่วยพยาบาลก็จำกัดให้มีเฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐเช่นกัน รวมไปถึงผู้ช่วยเภสัชกรและทันตาภิบาล ซึ่งในสถานพยาบาลเอกชนนั้นทำไม่ได้เลย” ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัด กล่าว

กรณีที่มีการมองว่าเหตุที่ต้องให้วิชาชีพอื่นร่วมจ่ายยา เนื่องจากจำนวนเภสัชกรไม่เพียงพอนั้น ภก.จิระ กล่าวว่า ตอนนี้ในระบบมีเภสัชกรประมาณ 30,000 คน หาแปรียบเทียบปี 2510 ขณะนั้นทั้งประเทศมีเภสัชกรเพียงหลักพันเท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐมองถึงความจำเป็นก็ให้มีการเพิ่มกรอบอัตรากำลังเภสัชกรได้ เพราะวันนี้มีเภสัชกรที่ทำงานอยู่ในภาครัฐเพียงแค่หมื่นคนเท่านั้น ทั้งโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งยังเป็นการจ้างลูกจ้างชั่วคราว โดยภาครัฐเองก็ไม่เหลียวแล

ในส่วนคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหารือประเด็นนี้คงต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของวิชาชีพในระบบสุขภาพ ทั้งวิชาชีพหลักที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้จ่ายยาได้ และวิชาชีพอื่นที่ร้องขอให้มีการเปิดช่องการจ่ายยา ทั้งวิชาชีพพยาบาล กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย และพยาธิวิทยา เป็นต้น เพื่อพิจารณาขอบเขตการจ่ายยาในแต่ละวิชาชีพตามการรักษาและบำบัด โดยในการพูดคุยคงต้องดูว่าพื้นฐานของวิชาชีพมีความรู้และทักษะด้านใด รักษาโรคอะไร เมื่อได้ข้อสรุปตรงนี้ขอบเขตการใช้ยาและการจ่ายยาก็จะตามมา

“ในการชี้แจงโดยเลขาธิการ อย.แม้จะระบุว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยา คงต้องรีบทำเพราะรัฐบาลชุดนี้ใกล้หมดวาระลง แต่เมื่อยังมีประเด็นที่เห็นต่างอยู่ คงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันก่อน เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาภายหลังได้” ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุข กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เภสัชค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ อย. ให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชขายยาได้ ไม่ปลอดภัยต่อ ปชช.

แนะถอยคนละก้าวร่าง พ.ร.บ.ยา เขียนให้ชัดยาอะไรที่วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายได้บ้าง

อย.ยันแก้ กม.ยา ยึดหลัก ปชช.ปลอดภัย เตรียมแจงความคืบหน้า 27 ส.ค.นี้

ชมรมเภสัชฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา แจง 6 ช่องโหว่สุดเสี่ยง จี้ อย.ทบทวนด่วน

สภาพยาบาลหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เอื้อทุกวิชาชีพทำงานร่วมกันได้ แจงหลักสูตรมีสอนเรื่องยา

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ยาอ่อนด้อยยิ่งกว่าของเดิม ยันผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นความปลอดภัยของ ปชช.

อย.แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

สภาเภสัชกรรมชี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ซ้ำรอยเดิม อย.ทำปัญหาวนกลับจุดเดิม หนุนใช้ระบบใบสั่งยา

อย.ชี้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ยาผิด โดยเฉพาะประเด็น ‘จ่ายยาและขายยา’ ยืนยันมีข้อดีหลายด้าน

องค์กรประชาชนอีสานร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ชี้เอื้อประโยชน์ทุนกินรวบ