ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เป็นฉบับลับลวงพราง อย.และ สธ.แก้ไขตามอำเภอใจไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ปล่อยให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ นิยามยาสามัญประจำบ้านไม่ชัดเจนสร้างความสับสน ไม่แก้ไขการขายยาออนไลน์ จี้ อย.เร่งแก้ไข ก่อนเกิดประท้วงบานปลายทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชมรมฯ เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา ฉบับที่ อย.ได้มีการนำเสนอมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ยานี้ ไม่ได้นำข้อตกลงที่ได้จากการรับฟังก่อนหน้านี้หลายครั้งมาแก้ไข องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมได้ทำการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ชมรมฯ จึงขอออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อที่ต้องแก้ไขต่อสังคม โดยมีสาระสำคัญ เช่น นิยามยาสามัญประจำบ้านที่ไม่รัดกุม การปล่อยให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ การไม่แบ่งประเภทยาตามหลักสากล ให้จดแจ้งยาชีววัตถุ และการโฆษณา เป็นต้น การแก้ไขขาดความรอบคอบด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนไม่คำนึงถึงหลักการที่มีการยอมรับในระดับสากลที่กำหนดให้มีความสมดุลระหว่างผู้สั่งยาและผู้ใข้ยา ทั้งนี้ชมรมฯ ขอเรียกร้องว่า อย.ต้องไม่ทำเพียงการมาแจ้งความคืบหน้าเท่านั้น แต่ต้องตกลงกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ใช่แก้ไขตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจหลักการ

ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน องค์กรตัวแทนเภสัชกรที่ปฏิบัติงานวิชาชีพในร้านยาทั่วประเทศ กล่าวว่า การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ยาในครั้งนี้ ไม่คำนึงถึงหลักการ ดูได้จากหลักการที่เสนอกับสิ่งที่แก้ไขแปลกแยกแตกต่างกัน ไม่คุ้มครองความปลอดภัยให้จดแจ้งการโฆษณาและยาชีววัตถุ ซึ่งการจดแจ้งเครื่องสำอางที่ผ่านมาก็สะท้อนแล้วว่ามีปัญหาด้านสถานที่ผลิตเถื่อนจนกระทบสังคมกว้างขวางตามที่เป็นข่าว

ที่สำคัญคือ ร้านยามีหน้าที่หลักคือขายยาโดยเภสัชกรตามกฎหมาย กลับออกกฎหมายมาให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ด้วย เป็นการสวนทางกับการที่มีเภสัชกรจบออกมามากขึ้น ซึ่งควรให้เภสัชกรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาทำหน้าที่นี้โดยมีใบสั่งยามาที่ร้านยาตามหลักสากล

“อย่างกรณีการขายยาออนไลน์ไม่มีการควบคุมจริงจังก็ไม่สนใจออกกฎหมายมาดูแล ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพต่างๆ รวมกันเสนออะไรไปก็ไม่สนใจ รอจังหวะแต่เพียงจะออกกฎหมายมา เชื่อว่าจะมีการคัดค้านกว้างขวางให้กฎหมายนี้ตกไปในที่สุด ทั้งนี้ได้ร่วมกับกลุ่มมงคลนามเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ (ดู ทีนี่) โดยจะได้ชวนให้ร้านยาที่เป็นสมาชิกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนทั่วประเทศร่วมคัดค้านด้วย” ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว

ผศ.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพสภาเภสัชกรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยาและสุขภาพ กล่าวว่า จากที่ได้ทำการวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีการนำเสนอ โดย อย. พบว่า

1.อย.รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง เลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง

2.ไม่คุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยใช้หลักการกฎหมายที่ผิด

3.ไม่สนใจหลักการสมดุลและตรวจสอบในการจ่ายยา

4.ไม่ให้ความสาคัญกับข้อเสนอของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง (ดูบทวิเคราะห์)

“ในฐานะอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์จะนำข้อมูลเสนอศูนย์ประสานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อให้คณาจารย์เภสัชศาสตร์และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในทุกคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศไทยมีความเข้าใจถึงปัญหาของการออกกฏหมายนี้ และร่วมกันนำเสนอให้มีการแก้ไขตลอดจนคัดค้านกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขันต่อไป”

ผศ.ภญ.วรรณา กล่าวว่า ตั้งแต่ อย.ได้มีความพยายามที่ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไขสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีกระแสคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งออกแถลงการณ์คัดค้านและยื่นต่อ อย. และจากนั้นได้มีองค์กรต่างๆ แถลงการณ์ตามมาขยายวงอย่างต่อเนื่อง จนอาจคาดได้ว่าจะมีการประท้วงในจังหวัดต่างๆ ดังที่เคยปรากฎผ่านมาในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา ครั้งที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะถอยคนละก้าวร่าง พ.ร.บ.ยา เขียนให้ชัดยาอะไรที่วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายได้บ้าง

อย.ยันแก้ กม.ยา ยึดหลัก ปชช.ปลอดภัย เตรียมแจงความคืบหน้า 27 ส.ค.นี้

ชมรมเภสัชฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา แจง 6 ช่องโหว่สุดเสี่ยง จี้ อย.ทบทวนด่วน

สภาพยาบาลหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เอื้อทุกวิชาชีพทำงานร่วมกันได้ แจงหลักสูตรมีสอนเรื่องยา

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ยาอ่อนด้อยยิ่งกว่าของเดิม ยันผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นความปลอดภัยของ ปชช.

อย.แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

อย.เตรียมตั้ง คกก.ถกร่าง พ.ร.บ.ยา “เปิดช่องวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้”

สภาเภสัชกรรมชี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ซ้ำรอยเดิม อย.ทำปัญหาวนกลับจุดเดิม หนุนใช้ระบบใบสั่งยา

เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ

อย.ชี้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ยาผิด โดยเฉพาะประเด็น ‘จ่ายยาและขายยา’ ยืนยันมีข้อดีหลายด้าน

องค์กรประชาชนอีสานร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ชี้เอื้อประโยชน์ทุนกินรวบ