ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัด ยื่นแถลงการณ์ต่อ “เลขาธิการ อย.” ค้าน “ร่าง พ.ร.บ.ยา” พร้อมแจง 6 ประเด็นช่องโหว่ร่างกฎหมาย ไม่สอดคล้องสถานการณ์ กระทบวิชาชีพเภสัชฯ แถมทำประชาชนเสี่ยงอันตราย แนะทบทวน จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมระดมความเห็นสภาวิชาชีพ พิจารณาอย่างรอบด้าน สู่การปฏิรูป พ.ร.บ.ยา 50 ปี

ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทยได้ยื่นแถลงการณ์คัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา ฉบับที่ .... ต่อ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมองว่ายังมีเนื้อหาที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ใช้กฎหมายและประชาชนได้ โดยมีความเห็นใน 6 ประเด็นที่ทางชมรมฯ ได้แสดงข้อห่วงใยไป ดังนี้

1.นิยามคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” มีการให้คำจำกัดความเพียงว่าเป็น “ยารักษาโรคทั่วไป” มองว่าเป็นการให้นิยามที่กว้างมาก และการจำกัดความแบบนี้ส่งผลให้ยาอะไรก็สามารถเข้ามาอยู่ในยาสามัญประจำบ้านได้ ซึ่งในการขายยาสามัญประจำบ้านไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต ประชาชนหาซื้อได้ง่ายทั่วไป ไม่จำกัดฉพาะที่ร้านยาที่ต้องมีใบอนุญาติ จึงนับเป็นความเสี่ยงตอ่ประชาชน

2.ในมาตรา 22 (5) เปิดช่องให้ทุกวิชาชีพจ่ายาหรือขายยาให้กับคนไข้ที่มารักษากับตนเอง นอกเหนือจากปัจจุบันที่ให้เพียงเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เท่านั้น โดยเป็นการเปิดกว้างไปยังวิชาชีพอื่นๆ ตามที่กฎกระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มเติมภายหลัง ซึ่งจะส่งผลให้การจ่ายยาสามารถทำได้ทุกวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตได้ ทั้งที่ในแต่ละวิชาชีพมีความรู้เรื่องยามีไม่เท่ากัน ทั้งปัจจุบันมียาสามัญประจำบ้านจำนวนมากที่สามารถจ่ายให้คนไข้ได้อยู่แล้ว การเขียนกฎหมายแบบเปิดกว้างแบบนี้จึงไม่น่าเหมาะสม และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนไช้ได้

3.ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ....ได้แบ่งยาออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาที่มีใช่ยาอันตราย และยาสามัญประจำบ้าน โดยยาทุกประเภทแม้ว่าจะขายในร้านยาได้ แต่ยาควบคุมพิเศษต้องเป็นการขายโดยมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ซึ่งในข้อเท็จจริงปัจจุบัน ใบสั่งยาแพทย์ไม่เคยมีมาที่ร้านขายยา เนื่องจากในกฎหมายได้มีการยกเว้นบางวิชาชีพให้จ่ายยาเองได้ ทั้งเวลาคนไข้ไปที่คลินิก หมอก็จะรักษาและจ่ายยามาด้วย ซึ่งก็ถือเป็นการขายยาเช่นกัน แต่เป็นการขายยาที่ไม่ต้องมีใบอนุญาต เป็นแบบนี้มานานแล้ว ซึ่งการเขียนกฎหมายแบบนี้เท่ากับทำให้ร้านยาไม่สามารถขายยาควบคุมพิเศษได้เลย หากจำหน่ายก็จะกลายเป็นการลักลอบขายยาโดยผิดกฎหมาย ดังนั้นหากจะเขียนกฎหมายลักษณะนี้ต้องมีการปฏิรูปเพื่อทำให้ใบสั่งยาจากคลินิกมาที่ร้านยา เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยหมอมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการตรวจรักษาและการตรวจวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ใช้รายได้จากค่ายา

4.การกำหนดให้ชีววัตถุ อาทิ วัคซีน เซรุ่มแก้พิษงู เป็นต้น ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยาเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทยและยาแพทย์ทางเลือก ที่เป็นการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย โดยกำหนดให้เพียงทำการจดแจ้งเท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการเว้นขั้นตอนบางอย่างที่ไม่เข้มงวดเหมือนการขึ้นทะเบียน ทั้งที่ต้องเข้มงวดด้วยซ้ำเพราะมีความเสี่ยง อย่างการผลิตวัคซีนเป็นกระบวนการนำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนตัวลงเพื่อฉีดเข้าร่างกายเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งในการยื่นขอใบอนุญาตควรต้องเข้มงวดและมีรายงานการศึกษาเพื่อยืนยัน รวมถึงต้องควบคุมการโฆษณา ไม่ใช่ปล่อยหละหลวมเพียงแต่กำหนดให้จดแจ้งเท่านั้น

5. ยกเลิกข้อห้ามเภสัชกรปฎิบัติงานยังสถานประกอบการด้านยามากกว่า 1 แห่ง ใน พ.ร.บ.ยาฉบับปัจจุบัน นั่นหมายความว่าเมื่อ พ.ร.บ.ยาใหม่บังคับใช้ เภสัชกรจะสามารถปฏิบัติงานได้หลายแห่งในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาเภสัชกรแขวนป้าย คือมีชื่อเภสัชกรปฏิบัติการอยู่แต่ไม่ได้อยู่ทำหน้าที่ ดังนั้นเกรงว่าหากยกเลิกข้อห้ามนี้จะทำให้ประสบปัญหานี้กว่าเดิม เรื่องนี้เป็นความกังวลในฐานะผู้มีหน้าที่ใช้กฎหมายยา ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชน

6.ไม่มีการระบุถึงแนวทางกลุ่มร้านขายยา ขย.2 หรือร้านขายยาบรรจุเสร็จ ซึ่งเป็นร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรปฏิบัติงานอยู่ โดยเจ้าของร้านยาเป็นผู้รับการอบรม ปัจจุบันมีกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ยานี้บังคับใช้ เท่ากับว่าร้านขายยา ขย.2 ต้องเลิกกิจการไปเลย เนื่องจากไม่มีการระบุถึงการพัฒนาหรือยกระดับร้านขายยาเหล่านี้ หรือไม่ต้องมีการจ้างเภสัชกรประจำร้านยาปฏิบัติงานแทน ซึ่งไม่รู้วาจะแบกรับไหวหรือไม่ ดังนั้นมองว่ากฎหมายควรมีทางออกให้ร้านยากลุ่มนี้

“วันนี้เป็นการประชุมเภสัชสาธารณสุขทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสในการยื่นข้อห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ต่อเลขาธิการ อย.โดยตรง ซึ่งเป็นความเห็นจากผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งแม้ว่าในการร่างกฎหมายที่ผ่านมาจะมีการรับฟังความเห็น แต่กระบวนการไม่ได้เปิดกว้าง ทั้งยังจำกัด เช่นการรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ร่วมแสดงความเห็นต้องมีความรู้การใช้ระบบออนไลน์ ทั้งคำถามในการแสดงความเห็นยังไม่ครอบคลุม แม้กระทั่งเวทีวันนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเวลา ทำให้กังวลว่าการออกกฎหมายจะไม่รอบด้านเพียงพอ” ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขฯ กล่าว

ภก.จิระ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ อย.จะนำความเห็นที่ได้ไปประมวล ส่วนจะปรับแก้ตามที่ได้เสนอหรือไม่ถือเป็นสิทธิของ อย. แต่เสียงคัดค้านคงมีมากขึ้น และการออกกฎหมายนี้ไม่ได้จบที่ อย. ยังมีกระบวนการอีกมาก ต้องผ่าน รมว.สาธารณสุข การนำเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณา การส่งกฤษฎีกาตีความและการพิจารณากลั่นกรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยชมรมฯ ยังคงต้องติดตามต่อเนื่องเพื่อให้การออกเกิดความรอบด้าน ทั้งนี้เจตนารมณ์ที่ออกมาคัดค้านก็เพื่อให้ อย.ออกกฎหมายอย่างรอบด้าน มีการเรียกประชุมหน่วยงานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสภาวิชาชีพมาพูดคุย เพราะหากจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมที่ใช้มา 50 ปีแล้ว ควรเป็นการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เภสัชค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ อย. ให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชขายยาได้ ไม่ปลอดภัยต่อ ปชช.

แนะถอยคนละก้าวร่าง พ.ร.บ.ยา เขียนให้ชัดยาอะไรที่วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายได้บ้าง

อย.ยันแก้ กม.ยา ยึดหลัก ปชช.ปลอดภัย เตรียมแจงความคืบหน้า 27 ส.ค.นี้

สภาพยาบาลหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เอื้อทุกวิชาชีพทำงานร่วมกันได้ แจงหลักสูตรมีสอนเรื่องยา

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ยาอ่อนด้อยยิ่งกว่าของเดิม ยันผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นความปลอดภัยของ ปชช.

อย.แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

อย.เตรียมตั้ง คกก.ถกร่าง พ.ร.บ.ยา “เปิดช่องวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้”

สภาเภสัชกรรมชี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ซ้ำรอยเดิม อย.ทำปัญหาวนกลับจุดเดิม หนุนใช้ระบบใบสั่งยา

เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ

อย.ชี้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ยาผิด โดยเฉพาะประเด็น ‘จ่ายยาและขายยา’ ยืนยันมีข้อดีหลายด้าน

องค์กรประชาชนอีสานร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ชี้เอื้อประโยชน์ทุนกินรวบ