ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.แจงมีความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในสาระของร่าง พ.ร.บ.ยาที่ได้ร่างขึ้น ยืนยันมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างครอบคลุม มีข้อดีหลายด้าน เช่น กำหนดให้สามารถทบทวนทะเบียนตำรับยาได้ทุกเมื่อ เมื่อมีข้อมูลความไม่เหมาะสมด้านความปลอดภัย คุณภาพ หรือประสิทธิผล ซึ่งอาจส่งผลต่อประชาชนและผู้บริโภค มีข้อกำหนดให้มีการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาทุก 7 ปี แทนที่แบบตลอดชีพ เพื่อให้เกิดการประเมินข้อมูลทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้เข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในสาระและบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้ในด้านการจ่ายยาและการขายยานั้น อย.ขอชี้แจงว่า ตามมาตรา 22 (5) ของร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ ที่กล่าวว่า “การจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หรือการจ่ายยาที่การแบ่งจ่ายในกรณีซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ใช้สำหรับสัตว์ที่ตนป้องกันหรือบำบัดโรค หรือการจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง” นั้น

หมายถึง การยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตเป็นผู้ขายยาในกรณีที่แพทย์ ทันตแพทย์ หรือสัตวแพทย์จ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิก ซึ่งได้ทำการวินิจฉัยแล้วรักษาเท่านั้น และไม่หมายความถึงการขายยาในร้านยาแต่อย่างใด และท้ายบทบัญญัติได้กำหนดว่า “โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง” นั้น เป็นการเปิดโอกาสไว้รองรับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ที่อาจสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนในคลินิกได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการหารืออย่างรอบด้านระหว่างวิชาชีพที่เกี่ยวข้องแล้วจึงดำเนินการเสนอออกกฎกระทรวง และต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

ส่วนประเด็นการขายยาในร้านขายยานั้น ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการถูกแยกออกจากกัน คือ ผู้รับอนุญาตจะเป็นผู้ใดก็ได้ อาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ประกอบวิชาชีพก็ได้ ส่วนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา ต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น ไม่ใช่ใครก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการสามารถเป็นคนเดียวกันได้ นั่นคือกรณีที่เภสัชกรเป็นผู้รับอนุญาตด้วย ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตถูกกำหนดให้มีหน้าที่ต่างๆตามกฎหมาย รวมถึงการจัดหาสถานที่ที่เป็นสัดส่วนเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด และการจัดหาผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ (เภสัชกร) มาประจำร้านขายยาตลอดเวลาทำการด้วย

ดังนั้น จึงขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การจัดตั้งร้านยาไม่ใช่ว่าทำที่ใดก็ได้ และการขายยาจะต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฏิบัติการตามช่วงเวลาที่ระบุ ยกเว้นไว้แต่เพียง ร้านขายยาประเภทขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ข.ย.2 ตามพ.ร.บ.เดิม) ที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอาจเป็นวิชาชีพอื่นหรือผู้ผ่านการอบรมจาก อย. แล้วเท่านั้น

“ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ยังคงมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการพิจารณาอนุญาตยา และความมั่นคงด้านยาของประเทศเป็นหลัก และขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า การจ่ายยาโดยบุคลากรวิชาชีพ จะกระทำสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนซึ่งได้ผ่านการวินิจฉัยและรักษาโดยบุคลากรเหล่านั้น ส่วนการขายยาในร้านขายยา จะกระทำสำหรับผู้มารับบริการที่ร้านยา โดยมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ” รองเลขาธิการฯ อย. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เภสัชค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ อย. ให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชขายยาได้ ไม่ปลอดภัยต่อ ปชช.

แนะถอยคนละก้าวร่าง พ.ร.บ.ยา เขียนให้ชัดยาอะไรที่วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายได้บ้าง

อย.ยันแก้ กม.ยา ยึดหลัก ปชช.ปลอดภัย เตรียมแจงความคืบหน้า 27 ส.ค.นี้

ชมรมเภสัชฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา แจง 6 ช่องโหว่สุดเสี่ยง จี้ อย.ทบทวนด่วน

สภาพยาบาลหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เอื้อทุกวิชาชีพทำงานร่วมกันได้ แจงหลักสูตรมีสอนเรื่องยา

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ยาอ่อนด้อยยิ่งกว่าของเดิม ยันผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นความปลอดภัยของ ปชช.

อย.แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

อย.เตรียมตั้ง คกก.ถกร่าง พ.ร.บ.ยา “เปิดช่องวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้”

สภาเภสัชกรรมชี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ซ้ำรอยเดิม อย.ทำปัญหาวนกลับจุดเดิม หนุนใช้ระบบใบสั่งยา 

เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ

องค์กรประชาชนอีสานร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ชี้เอื้อประโยชน์ทุนกินรวบ