ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอศักดิ์ชัย ระบุข้อเสนอ “ร่วมจ่ายหลังป่วย” ไม่ใช่แนวคิด สปสช. ทั้งยังไม่เข้ากับปรัชญาหลักของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ด้านอดีตบอร์ด สปสช. เผย ยุค คสช.ร่วมจ่ายบัตรทองไม่เคยจางหาย มองเป็นภาระประเทศ พร้อมชี้เหตุ สปสช.ต้องดิ้นรนบริหารกองทุนบัตรทอง เพราะรัฐบาลทุกยุคจ่ายเป็นงบปลายปิด ขณะที่ต้องดูแลผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการ แนะทางออกงบประมาณให้เพียงพอ ประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีก่อนป่วย

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

จากกรณีที่มีรายงานข่าว กระทรวงการคลังมีแนวคิดลดสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยให้ประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปี จะต้องร่วมจ่ายร้อยละ 10-20 ของค่ารักษาพยาบาล นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวคิดการร่วมจ่ายในระบบบัตรทองเคยมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการทั้งใน สปสช.และนอก สปสช.เป็นระยะ การที่ต้องให้ร่วมจ่ายมีทั้งเหตุผลจากงบประมาณไม่พอ การปรับพฤติกรรมสุขภาพประชาชน เหล่านี้ยังไม่ตกผลึกหรือมีข้อมูลประจักษ์ชัดเจน ซึ่ง สปสช.มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนมาตลอด เช่นรูปแบบการร่วมจ่ายก่อนป่วยหรือหลังป่วย เป็นต้น แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้

อย่างไรก็ตามแนวคิดการร่วมจ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมจ่ายหลังป่วยไม่ใช่แนวคิด สปสช. ทั้งยังไม่เข้ากับปรัชญาหลักของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน โดยเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาตลอด

เมื่อพูดถึงความยั่งยืนของงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ปัจจุบันงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศไทยไม่ได้สูงหรือต่ำเกินไป อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของจีดีพี และร้อยละ 15 ของงบประมาณค่าใช้จ่ายประเทศ โดยรวมกองทุนสุขภาพภาครัฐทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก อย่างไรก็ตามหากถามว่าแล้วงบประมาณที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ เนื่องจากมักมีข่าวปรากฎต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการพิสูจน์โดยการปรับการบริหารจัดการและรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ทำให้สถานการณ์ภาพรวมต่างๆ ดีขึ้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอการร่วมจ่ายไม่เคยจางหายไปในรัฐบาลชุดนี้ มีการพูดมาตลอด ตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนแรกที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพต้องขึ้นมาทักท้วงจนรัฐบาลออกมาชี้แจงว่าไม่มีเรื่องนี้ ขณะที่ในสภาปฎิรูปประเทศเอง หลายคนมีการคิดเรื่องนี้เช่นกัน มองว่าระบบบัตรทองที่เป็นสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนเป็นภาระ หากจะทำใหระบบยั่งยืนประชาชนต้องร่วมจ่าย

ในการบริหารระบบบัตรทอง วันนี้ที่อยู่ได้เพราะมีกลไกและกติกากำกับการใช้งบบัตรทองที่ชัดเจน สามารถบริหารงบประมาณให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพได้ เพราะเมื่อดูงบประมาณที่ได้รับ 1.4 แสนล้านบาท ในการดูแลประชาชน 49 ล้านคนถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่ใช้เงินงบประมาณสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ในการดูแลข้าราชการ 4 ล้านคน ดังนั้นการที่บอกว่าบัตรทองเป็นภาระงบประมาณคงต้องคิดใหม่ นอกจากนี้ยังต้องมองเรื่องนี้เป็นการลงทุน เพราะมีส่วนแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่ต้องรับแบกรับภาระค่ารักษา ทั้งโรคเรื้อรังและโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งในอดีตมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องขายเครื่องมือทำกินเพื่อจ่ายเป็นค่ารักษา ขณะเดียวกันยังทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจประเทศได้ ไม่ต้องคอยกังวลค่ารักษา รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนนี้

“ในระบบบัตรทองมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 3 แสนคน ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง นอกจากค่ายาแล้วยังมีค่าตรวจอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ในระบบประมาณ 7 ล้านคน ด้วยรายได้ที่จำกัด หากต้องจ่ายค่ารักษาต่อเนื่องก็จะมีผลกระทบ เช่นเดียวกับโรคค่าใช้จ่ายสูง อย่างโรคหัวใจ ในอดีตคนทั่วไปอย่าคิดได้ทำสายสวนหัวใจ ขณะนั้นมีค่าใช้จ่าย 2 แสนบาทต่อเส้น แต่จากการมีระบบบัตรทอง และการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพของ สปสช. ที่มีการใช้วิธีต่อรองราคา ทำให้ราคาสายสวนหัวใจลดลงมาอยู่ที่ 40,000 บาทต่อเส้น ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย ทำให้เข้าถึงการรักษาได้”

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ในการบริหารงบประมาณของ สปสช. ไม่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณมาแล้วนำไปจ่ายต่อ แต่ต้องบริหารงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการได้ ซึ่งการที่ สปสช.ต้องดิ้นรน มีการใช้วิธีบริหารงบประมาณที่หลากหลายรูปแบบเพราะถูกรัฐบาลรังแก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุคใด เพราะระบบบัตรทองเป็นการรับงบประมาณปลายปิดที่ สปสช.ต้องใช้ให้พอ หากเงินไม่พอก็เป็นเรื่องของ สปสช. ทั้งการของบกลางเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องที่ยาก ต่างจากงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นงบปลายเปิด หากไม่เพียงพอสามารถขอเพิ่มเติมได้

วันนี้หากถามว่าจะทำให้ระบบบัตรทองยั่งยืนได้อย่างไร นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ระบบมีความยั่งยืนอยู่แล้วถ้าไม่มีใครล้ม เพราะกำหนดเป็นกฎหมาย และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องได้รับการดูแลจากรัฐในการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่หากจะทำให้ระบบดีกว่านี้ เท่าที่ดูงบประมาณขณะนี้ได้มีการรีดประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว ขณะที่คนทำงานในระบบ ทั้งหมอและบุคลากรทางการแพทย์ต่างบอกตรงกันว่างบที่ได้รับนั้นต่ำเกินไป ไม่สะท้อนต้นทุนการบริหารของโรงพยาบาล ทางออกแทนที่จะเก็บเงินเพิ่มจากคนไข้ ควรมานั่งพูดคุยและเคาะตัวเลขงบประมาณที่ทำให้ระบบเดินไปได้เพื่อต่อรองกับรัฐบาลในการจัดสรรงบเพิ่มเติม

“ถึงเวลาที่ต้องหยุดเรียกร้องประชาชนร่วมจ่ายเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยั่งยืน แต่ควรหันนมาบอกกับรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณลงกองทุนอย่างเป็นธรรมและมองสุขภาพประชาชนเป็นการลงทุนไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่ายประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ทุกคนร่วมจ่ายโดยผ่านภาษีที่จัดเก็บอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลต้องนำทุกคนมาอยู่ในระบบภาษี เชื่อว่าตลอด 16 ปี คนไทยต่างรู้จักระบบบัตรทองดี รู้ว่ามาจากภาษีที่เขาจ่าย เพียงแต่รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจนว่า ภาษีที่จ่ายมีสัดส่วนเท่าไหร่ที่มาใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ และต้องให้เพียงพอ ดีกว่ามานั่งเก็บตอนป่วย ซึ่งอาจได้เพียงเงิน 8,000-9,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณที่ใช้จ่ายสุขภาพอยู่ที่หลักแสนล้านบาท”

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขต้องคุยกับรัฐบาลในส่วนของงบประมาณบุคลากรและปรับปรุงโรงพยาบาลที่เป็นปัญหา แต่เดิม สธ.เคยได้รับ แต่หลังจากมีระบบบัตรทองกลับถูกตัดไปทั้งที่เป็นคนละส่วนจนก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้น รวมถึงการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ประชากรน้อย ที่ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง และชี้ว่าบัตรทองเป็นต้นเหตุทำโรงพยาบาลขาดทุน และควรปรับในส่วนที่เป็นปัญหา เช่น กรณีที่ สปสช.จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมระดับประเทศ แต่กลับถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตีความว่าเป็นการทำไม่ถูกกฎหมาย เพราะไม่มีอำนาจจ่ายยา ภายหลังได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อแทน แต่ด้วยขาดประสบการณ์และมีกระบวนการหลายขั้นตอน ก่อให้เกิดปัญหายาขาดช่วงจนผู้ป่วยได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายระบบบัตรทองเช่นกัน