ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.ชี้ ปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข ด้านการบริหารบุคคลในระดับปฐมภูมิ รพ.สต. จะไม่มีวันจบสิ้น และประชาชนจะเสียประโยชน์จากระบบบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานของรัฐ ถ้ารัฐบาลยังไม่คิดประกาศนโยบายปฏิรูป รพ.สต.ให้เป็นวาระแห่งชาติ

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 ท่าน และปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 ท่าน แต่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข กลับไม่มีการสนับสนุนอัตรากำลังข้าราชการให้แก่ รพ.สต.ซึ่งเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ให้เป็นไปตามโครงสร้างกรอบอัตรากำลังบุคลากร รพ.สต. ตามขนาดเล็ก (S) กลาง (M) ใหญ่ (L) ที่ได้ผ่านการพูดคุยหารือจำนวนบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ที่เหมาะสมกับภาระงาน ระหว่างกลุ่มผู้แทนชมรม สมาคม องค์กรวิชาชีพต่างๆ ร่วมกันแล้ว จนออกเป็นมติอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.กระทรวง) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ทำให้ รพ.สต.กว่า 9,000 แห่ง มีบุคลากรไม่สอดคล้องกับภาระงานตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งส่งผลต่อมาตรฐานคุณภาพบริการประชาชน และพัฒนาไม่ถึงมาตรฐานติดดาว

ปัจจุบัน รพ.สต.ทั่วประเทศ มีบุคลากรปฏิบัติงานจริงเพียงแห่งละ 3-4 คน และบางแห่งมีเพียง 2 คน ในขณะที่กรอบอัตรากำลังที่ควรจะเป็น จำนวนบุคลากรวิชาชีพต่างๆ อยู่ที่ 7, 11, 12 คน ตามขนาดเล็ก (S) กลาง (M) ใหญ่ (L) เวลาล่วงเลยผ่านมา 2 ปี ชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) ยังไม่เคยเห็นเอกสาร หรือรับทราบการสื่อสารจากผู้บริหาร สธ. ว่าได้มีการขออนุมัติอัตรากำลังข้าราชการตั้งใหม่ให้แก่ รพ.สต. ไปที่ ก.พ. และ คปร. เพื่อนำเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติแต่อย่างใด ได้ยินแต่เพียงว่าอัตรากำลังเกินกรอบแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าอัตรากำลังวิชาชีพเกินกรอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามีอัตรากำลังบางส่วนที่ถูกสั่งใช้ เรียกตัว ยืมตัวให้ไปปฏิบัติงานอยู่ใน สสอ. สสจ. เขต ศูนย์วิชาการ รวมทั้งในทุกกรม กองของกระทรวง การจะพิจารณาว่า รพ.สต.มีบุคลากรเพียงพอตามโครงสร้างอัตรากำลังหรือไม่ ต้องพิจารณาที่ฐาน รพ.สต.ตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไปดูในภาพประเทศ ซึ่งไม่รู้ว่าไปกระจุกอยู่ที่ใด และจะกระจายให้ รพ.สต.เมื่อใด อย่างไร

อีกทั้งนโยบายบางอย่างของกระทรวงสาธารณสุข ก็สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ที่บอกว่าจะมีแพทย์ไปให้บริการประชาชนในพื้นที่ร่วมกับ รพ.สต. แต่ข้อเท็จจริงคือใน รพ.สต.ส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีแพทย์ลงไปให้บริการตามเกณฑ์มาตรฐาน คงมีเพียงส่วนน้อยที่มีแพทย์ไปให้บริการประชาชนร่วมกับ รพ.สต. วิชาชีพหลายวิชาชีพยังไม่มีใน รพ.สต. เช่นเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม แพทย์แผนไทย อีกทั้งตำแหน่ง Back office ก็ไม่มีสนับสนุน รพ.สต. เช่นกัน เช่นตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการ ที่จะช่วยงานธุรการและการสารบรรณ ตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี ที่จะช่วยงานด้านการเงิน ตามมาตรฐานการควบคุมภายใน ของหน่วยงานตรวจสอบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ทิศทางการดูแลสุขภาพ และมาตรฐานบริการประชาชนทางสุขภาพของไทย ควรจะมีวิชาชีพเหล่านี้อยู่ประจำให้บริการประชาชนในพื้นที่ มาตั้งนานแล้ว แต่ ณ วันนี้ กลับพบข้อเท็จจริงว่า บัณฑิตนักเรียนทุนวิชาชีพเหล่านี้ ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยการสาธารณสุข ในสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ถูกจ้างเป็นลูกจ้างของรัฐ อยู่ในโรงพยาบาล ไม่มีจ้างใน รพ.สต. เพราะ รพ.สต.ไม่มีงบประมาณอุดหนุนสำหรับจ้าง เมื่อนักเรียนทุนเหล่านี้ เห็นว่าเวลาผ่านไปเนิ่นนาน กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่มีวี่แววจะให้บรรจุเป็นข้าราชการสักที จึงรวมตัวออกมาเรียกร้องขอบรรจุเป็นข้าราชการ ตามสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐบาล ในฐานะนักเรียนทุน

"ปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข ด้านการบริหารบุคคลในระดับปฐมภูมิ รพ.สต. จะไม่มีวันจบสิ้น และประชาชนจะเสียประโยชน์จากระบบบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานของรัฐ ถ้ารัฐบาลยังไม่คิดประกาศนโยบายปฏิรูป รพ.สต.ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะกระบวนการกลไกลการพัฒนาประเทศ ถูกล็อคไว้ด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประกาศแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ไม่ระบุกำหนดให้ความสำคัญกับ รพ.สต. และวิชาชีพด้านการสาธารณสุข ไว้เป็นแผนแม่บทชาติ" นายสมศักดิ์ กล่าว