ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยมีความสำคัญ หลายปีที่ผ่านมา ระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ Long-term care ที่หลายคนคุ้นหู กำลังได้รับความสนใจและจับตามอง โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีความคืบหน้าของการสนับสนุนงานจากกองทุนสุขภาพตำบล

ระบบการดูแลระยะยาว (Long–term care) หมายถึงการจัดบริการสาธารณสุขและบริการสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการความช่วยเหลือของผู้ที่ประสบภาวะยากลำบาก อันเนื่องมาจากภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรัง การประสบอุบัติเหตุความพิการต่างๆตลอดจนผู้สูงอายุที่ชราภาพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน โดยมีรูปแบบทั้งที่เป็นทางการดูแลโดยบุคลากรด้านสาธารณสุขและสังคม และไม่เป็นทางการ ดูแลโดยครอบครัว อาสาสมัคร เพื่อน เพื่อนบ้าน ซึ่งบริการทดแทนดังกล่าวมักเป็นบริการสังคมเพื่อมุ่งเน้นในด้านการฟื้นฟูบำบัด รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นอิสระเท่าที่จะเป็นไปได้โดยอยู่บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ภาพรวมการพัฒนาระบบ Long-term careในประเทศไทย

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care)สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (2561) นำโดย ดร.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปภาพรวมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย ไว้ว่ากลไกกองทุนตำบลและ อปท. ได้รับการยอมรับจากพื้นที่ในการเป็นกลไกที่เหมาะสมในการบริหารจัดการงบ Long Term Care (ทั้งจากข้อมูลการสำรวจและไม่พบแรงต้านจากพื้นที่ศึกษาเชิงคุณภาพ)

ทั้งนี้พบว่ายังมีข้อจำกัดด้านองค์ความรู้และศักยภาพในการจัดบริการ Long Term Care ขณะเดียวกัน ยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นและชุมชนในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน บริการสุขภาพที่จัดแก่ผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนจัดได้เป็นระบบและสม่ำเสมอกว่าบริการด้านสังคม การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านภายใต้นโยบาย HHC, FCT, COC ของกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนหน้ามีนโยบาย Long Term Care และข้อจำกัดด้านการขาดความมั่นใจในระเบียบการใช้งบ Long Term Care รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องระเบียบการใช้งบ อปท. เองในการสนับสนุนการจัดบริการด้านสังคม น่าจะเป็นปัจจัยอธิบายปรากฏการณ์นี้

จากที่นโยบายนี้ยังให้สิทธิเฉพาะผู้สูงอายุภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้สามารถครอบคลุมผู้มีความจำเป็นต้องได้รับบริการ Long Term Care ได้เพียงไม่เกินร้อยละ 60 กระบวนการประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ และญาติ (case conference)เพื่อจัดทำแผนการดูแลเฉพาะราย (individual care plan) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบูรณาการการทำงานของภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการบูรณาการต่อเนื่องเชื่อมโยงของบริการที่ผู้มีภาวะพึ่งพิงจะได้รับ

อย่างไรก็ตาม พบว่าบางพื้นที่ยังไม่ได้ใช้เครื่องมือดังกล่าวในการจัดบริการ ขาดกลไกการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพการทำงานของผู้จัดการดูแลหรือ CM ในอำเภอ พบว่าพื้นที่ที่มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุหรือ CG จัดบริการLong Term Care ได้เป็นระบบและสม่ำเสมอกว่าพื้นที่ที่ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน CG การกำหนดทิศทางนโยบายและการบูรณาการเชื่อมประสานการดำเนินนโยบายของหน่วยงานส่วนกลางถือเป็นจุดคับขันที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การดำเนินนโยบายมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระบบ Long-term care ในประเทศไทย

คณะวิจัยดังกล่าว มีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย ดังนี้

1) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรีบจัดทำความชัดเจนของระเบียบการใช้จ่ายงบ Long Term Care และงบของท้องถิ่นเองให้มีความชัดเจนและสร้างความมั่นใจแก่ท้องถิ่นในการใช้เงินเพื่อสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เนื่องจากประเด็นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานของท้องถิ่น

2) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขทั้งในส่วนกลาง สำนักงานเขตและสำนักงานงานสาธารณสุขจังหวัด ต้องเชื่อมประสานและบูรณาการการดำเนินนโยบายร่วมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายของพื้นที่เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้นควรมีการปรึกษาหารือและให้ข้อมูลกันมากขึ้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพื้นที่ การจัดสรรโควตาและจัดอบรม CM และ CG และการจัดสรรงบประมาณ ควรจัดให้มีกลไกการทำงานร่วมกันในลักษณะภาคีเครือข่ายพันธมิตรการทำงานให้มากขึ้น

3) ในการบริหารจัดการงบ Long Term Care ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ รูปแบบ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมณ์ที่คาดหวัง ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยทำความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นและชุมชนให้สามารถบริหารจัดการระบบ Long Term Care ได้ตามเจตนารมณ์ของการออกแบบระบบ

4) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงการสื่อสารโดยเพิ่มช่องทางมากกว่าการจัดประชุมและหนังสือเวียนด้วยการ ก) ทำวีดีทัศน์ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเอกภาพทางนโยบายของส่วนกลางทุกฝ่าย ข) Website รวบรวมคำถามคำตอบที่พบบ่อยเกี่ยวกับสาระนโยบายโดยเฉพาะระเบียบการเงิน รวบรวมตัวอย่างชุดเอกสารทางการเงินต่างๆ และตัวอย่างการทำงาน อปท. ซึ่งดำเนินการได้ราบรื่น นำเสนอ เป็นต้น

5) กลไกการพิจารณา Care plan อาจต้องมีการทบทวนเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านศักยภาพขณะเดียวกันอาจเป็นสาเหตุให้ไม่เกิดการบูรณาการต่อเนื่องเชื่อมโยงในการจัดบริการในกรณีผู้สูงอายุที่ได้รับบริการ Long Term Care และมีความจำเป็นต้องได้รับบริการ acute care เกิดขึ้น การขยับกลไกดังกล่าวมาที่ระดับอำเภอร่วมกับการมี System manager ภายใต้ระบบ DHS ที่ดูภาพรวมและทำหน้าที่บูรณาการตลอดจนสนับสนุนการทำงานของ CM น่าจะทำให้การจัดระบบบริการมีประสิทธิผลมากขึ้น

6) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ควรทบทวนขยายกลุ่มเป้าหมายของนโยบายให้ครอบคลุมผู้มีภาวะพึ่งพิงทั้งหมด ไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้สูงอายุเนื่องจากยังมีผู้มีภาวะพึ่งพิงจำนวนมากที่ไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน ควรขยายความครอบคลุมไปยังประชาชนทุกสิทธิ์เนื่องจากการให้บริการในชุมชนไม่สามารถเลือกปฏิบัติให้บริการเฉพาะบางสิทธิ์ได้ และเนื่องจากบริการดูแลระยะยาวในชุมชนไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและประกันสังคม

เก็บความจาก

ดร.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และคณะ. (2561). โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. สนับสนุนโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.).