ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 สระบุรีเชิงรุกชี้แจงงบกองทุนบัตรทองปี 62 รายจังหวัด 8 จังหวัดภาคกลางตอนบน สร้างความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง ส่งผลให้หน่วยบริการได้รับชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ที่เป็นธรรม และทันเวลา

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2562 โดยเป็นความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 8 จังหวัดภาคกลางตอนบนร่วมเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดชี้แจงในครั้งนี้ โดยมี นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี บรรยายยุทธศาสตร์ จุดเน้นและนโยบายที่สำคัญของ สปสช. ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยบริการทุกระดับ สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางพื้นที่ รวมกว่า 1,200 คน

นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุ

นายแพทย์ชลอ กล่าวว่า ปี 2562 นโยบายของ สปสช. เน้นสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย องค์กรปกคครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนและองค์กรด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตาม 3 เป้าหมายที่วางไว้ได้แก่ ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ 2.สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ 3.สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน 4.สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและ 5.สร้างความมั่นใจในธรรมาภิบาล

ผลลัพธ์ด้านบริการและสุขภาพ ภาพรวมทั้งประเทศมีอัตราการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเป็น 3.82 ครั้งต่อคนต่อปี อัตราการเข้าถึงบริการผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 0.125 ครั้งต่อคนต่อปี สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (NCD) เข้าถึงการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน 71% และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ 36% และได้รับการดูแล 91.36% ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 86.90% ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 70.56% (ข้อมูล ณ 31 มี.ค.61)

ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน 54% คุมระดับความดัน 65% ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษา 72.53% ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 98.26% ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 54.46% สำหรับกลุ่มโรค Stemi & Stroke ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เข้าถึงบริการมีอัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือด/หัตถการผ่านสายสวนหัวใจ 79.3% (ตั้งแต่ปี 2548-2561) ส่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน/ตีบ มีอัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือด 5.93% (ข้อมูล ณ 31 มี.ค.61)

ผลลัพธ์ด้านการเงินการคลัง พบว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพทำให้ความยากจนที่เกิดจากการรักษาพยาบาลลดลง โดยเปอร์เซนต์ของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลง จากปี 2531 เป็น 2.36% ปี 2559 เหลือ 0.30% ส่วนเปอร์เซนต์ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่ปี 2531 คิดเป็น 7.94% และลดลง 2.06% ในปี 2559 ขณะที่ความพึงพอใจของผู้ให้บริการ ประชาชนต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ชลอ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2562 สปสช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 3,426.56 บาท/ผู้มีสิทธิบัตรทอง ภายใต้หลักการสำคัญของการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนปี 2562 ด้วยการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน สนับสนุนการบริการของหน่วยบริการที่อยู่ในระบบ และความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายต่างๆ ในระดับพื้นที่ โดยปี 2562 มีบริการที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ได้แก่ เพิ่มสิทธิบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประชาชนคนไทยทุกสิทธิ 8 รายการได้แก่ 1.การฝากครรภ์ 2. ตรวจยืนยันโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี 3. ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นปี 4.ตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด 5.การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 6.การคุมกำเนิดกึ่งถาวรการใส่ห่วงอนามัยหรือฝังยาคุมกำเนิดในหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี 7.การคุมกำเนิดกึ่งถาวรการใส่ห่วงอนามัยหรือฝังยาคุมกำเนิดในหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป กรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ และ 8.การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ทั้งนี้มีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2561 ได้แก่ 1.บริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ 2.เพิ่มรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียม colostomy bag 3.วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อฮีโมฟีลุสอินฟูเอนเซ่ ชนิดบี (Haemophilus influenza type B) 4.ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรังทุกสายพันธุ์ 5.ยาในรายการ จ 2 เช่น ยารักษามะเร็ง ยาเพิ่มการขับเหล็กในผู้ป่วยธาลัสซีเมียเด็ก ยารักษาการติดเชื้อราในกระแสเลือด ยา HIV ยารักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน

และเพิ่มการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมากขึ้น ได้แก่ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยการนำร่องโครงการความร่วมมือการจัดบริการ การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ บริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันสูง เน้นการควบคุมป้องกันภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และบริการเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดบปฐมภูมิที่มีแพทยประจำครอบครัว โดยปรับสัดส่วนการจ่ายชดเชยตามผลงานและคุณภาพผลงานบริการแบบ PCC มากขึ้น

ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวต่อว่า นโยบายในระดับเขตปีนี้เน้นการเข้าถึงบริการในกลุ่มที่ต้องมีการดูแลระยะยาว (LTC) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราผู้สูงอายุที่มีอายุยืนค่อนข้างมาก สนับสนุนสร้างโมเดลการดูแลระยะยาวที่ จ.สิงห์บุรี ด้านพระสงฆ์ เน้นความครอบคลุมสิทธิและการเข้าถึงบริการใกล้วัดโดยจัดให้มีการลงทะเบียนสิทธิเชิงรุกและสร้างการรับรู้สิทธิหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่นการได้รับการดูแลรักษาใกล้วัด และการคัดกรองโรคต่างๆ ส่วนผู้ต้องขังในเรือนจำ ขณะนี้ทั้งประเทศได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว การขึ้นทะเบียนจะทำให้ผู้ต้องขังได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น และเรือนจำมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ตลอดจนการได้รับงบประมาณตรงจาก สปสช. หน่วยบริการในเรือนจำสามารถรักษาผู้ต้องขังได้ในศักยภาพที่สูงขึ้น ส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคม ก็จะออกแบบบริการให้กลุ่มผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างสะดวกและครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนรูปแบบการสร้างความเข้าใจในปี 2562 นี้ สปสช.เขต 4 สระบุรีได้เน้นการจัดประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ให้บริการทุกระดับในรูปแบบเชิงรุก รายจังหวัด 8 จังหวัดเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณและการบริการ โดยได้ลงพื้นที่จัดประชุมชี้แจงเรียบร้อยแล้วทั้ง 8 จังหวัดประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ และหน่วยบริการได้รับการชดเชยค่าบริการที่เป็นธรรม สำหรับท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังในการประชุมชี้แจง สามารถฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook: สปสช.เขต 4 สระบุรี และดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมได้ที่ https://saraburi.nhso.go.th เลือกเมนูดาวน์โหลด