ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาวะฉุกเฉินวิกฤต เป็นเหตุการณ์ที่ต้องเตรียมความพร้อม รองรับสถานการณ์อย่างทันท่วงที แข่งขันกับนาทีชีวิต ทรัพยากรในแผนกฉุกเฉินต้องมีความพร้อมทุกเมื่อ เพื่อปฏิบัติภารกิจยื้อชีวิตได้โดยพลัน แต่เมื่อแผนกฉุกเฉินกลับถูกแบ่งปันดูแลคนไข้ไม่ฉุกเฉินวิกฤต นำมาสู่การละเมิดสิทธิคนไข้ฉุกเฉิน

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม

นพ.สุรจิต สุนทรธรรม แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ประเด็นที่สำคัญคือทรัพยากรที่จัดไว้สำหรับภาวะฉุกเฉินมีจำกัดและมีน้อยกว่าภาวะปกติมาก แต่ต้องมีความพร้อมตลอดเวลา ดังนั้นในหลักการสากลจึงต้องห้ามนำไปใช้อย่างอื่นที่ไม่ใช่ภาวะฉุกฉินและไม่พึงกระทำ หากต้องมีการดูแลคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินควรมีแยกบริการและทรัพยากรออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนไข้ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤต เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ได้แยกส่วนบริการคนไข้ฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินอย่างชัดเจน แม้กระทั่งกลุ่มคนไข้เร่งด่วน ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วก็ยังไม่ถือเป็นคนไข้ภาวะฉุกเฉิน

ทั้งนี้คำว่า “คนไข้ฉุกเฉิน” คือ คนไข้ที่เกิดภาวะคุกคามต่อชีวิตอย่างกะทันหัน หากไม่ได้รับรักษาโดยเร็วพลันจะส่งผลให้เสียชีวิตหรือเกิดภาวะรุนแรงวิกฤติยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่าคนไข้กลุ่มนี้มีระยะเวลาที่ถูกบีบคั้นและจำกัดในการช่วยชีวิตมาก ดังนั้นทรัพยากรเพื่อรองรับการดูแลรักษาพยาบาลจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา

เมื่อดูสถานการณ์ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลของประเทศไทยนั้น นพ.สุรจิต กล่าวว่า เท่าที่ดูทุกวันนี้ที่ติดป้ายว่า “ห้องฉุกเฉิน” ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นห้องฉุกเฉิน (Emergency Room) แต่กลับเป็น “ห้องจิปาถะ” (Everything Room) มากกว่า เพราะต้องให้บริการสารพัด แม้กระทั่งการทำแผล การฉีดยา การให้น้ำเกลือ และรักษาคนไข้ที่มาด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่บ้านเรากลับเรียกห้องนี้ว่า ห้องฉุกเฉิน พร้อมนำทรัพยากรที่ต้องเตรียมไว้รองรับคนไข้ฉุกเฉินวิกฤตไปใช้ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเครื่องมือแพทย์ต่างๆ และเมื่อมีคนไข้ฉุกเฉินวิกฤตเข้ามาจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ทันท่วงที

นพ.สุรจิต กล่าวว่า เมื่อก่อน 10 กว่าปีที่ผ่านมา การพัฒนาเวชกรรมในบ้านเราส่วนใหญ่ยังเป็นการพัฒนาเวชกรรมไม่ฉุกเฉินเป็นหลัก ส่วนเวชกรรมฉุกเฉินยังมีการพัฒนาน้อยมาก มีการใช้แพทย์หมุนเวียนปฏิบัติงานในส่วนที่อุปโลกน์ให้เป็น “ห้องฉุกเฉิน” บุคลากรที่ปฏิบัติงานในส่วนดังกล่าวก็ยังมีความรู้ ทักษะ และเจตคติในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มากนัก ผู้ป่วยที่หนักที่สุดในทางการแพทย์ได้รับการดูแลด้วยแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญน้อยที่สุด

เมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลเพื่อเรียนต่อในสาขาเวชพิษวิทยา ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และก็ยังไม่เคยรู้จักวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินมาก่อน แต่ด้วยได้รับพระราชทานทุนให้ไปเรียนต่อด้านเวชพิษวิทยา ซึ่งตามหลักสูตรจะต้องผ่านการเรียนเวชศาสตร์ฉุกเฉินก่อน จึงทำให้มีโอกาสได้รู้จักและได้ศึกษาเป็นวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนี้ และได้เรียนรู้ถึงความจำเป็นของระบบบริบาลเวชกรรมฉุกเฉิน หลังจากที่ได้เรียนจบและกลับมาเมืองไทยในปี 2538 เห็นว่า ในระบบการแพทย์ของไทยก็จำเป็นต้องมีการบริบาลเวชกรรมฉุกเฉินที่เป็นระบบ และก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อวางระบบบริบาลเวชกรรมฉุกเฉินในประเทศไทย อันนำมาสู่การฝึกอบรมแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทางเป็นครั้งแรกในปี 2547

“เมื่อพูดถึงการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักการสำคัญ คือความพร้อมของการรองรับคนไข้ฉุกเฉินวิกฤต ทำให้มีการดึงทรัพยากรส่วนนี้ไปทำในเรื่องอื่นที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งตามหลักการโรงพยาบาลควรแยกส่วนบริการ เพื่อรองรับคนไข้ฉุกเฉินและคนไข้ทั่วไป รวมถึงคนไข้ด่วนที่หมายถึงคนไข้ที่รอการรักษาได้ใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทำให้ผลการรักษาเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้เกิดการดึงทรัพยากรไปจากการบริบาลฉุกเฉิน โดยเฉพาะช่วงนอกเวลาราชการ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ก็เริ่มมีการจัดระบบรองรับในรูปแบบนี้แล้ว ทั้งคลินิกพิเศษ คลินิกผู้ป่วยนอกเวลาราชการ เป็นต้น” นพ.สุรจิต กล่าว

นพ.สุรจิต กล่าวต่อว่า แม้ว่าโรงพยาบาลจะได้เพิ่มเติมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ แต่หากไม่แยกส่วนบริการคนไข้ฉุกเฉินและคนไข้ทั่วไป ยังคงใช้ห้องฉุกเฉินรวมกันเช่นเดิม ปัญหาการดึงทรัพยากรก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี และกรณีที่มีบางโรงพยาบาลเก็บค่าบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่เข้ารับบริการที่ห้องที่อุปโลกน์เป็นห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาไปใหญ่ เพราะในการบริบาลเวชกรรมฉุกเฉินไม่สามารถใช้ระบบคิวตามที่มาก่อนหลังได้ แต่จะดูตามความหนักเบาของอาการ (ความน่าจะตายของผู้ป่วย) หากมีคนไข้ฉุกเฉินถูกส่งเข้ามาและต้องได้รับการรักษาก่อน อาจทำให้ผู้ที่เห็นว่าตนจ่ายเงินแล้วกลับต้องคอยนาน ยิ่งมีอารมณ์หงุดหงิด จนนำไปสู่ความรุนแรงได้ สถานการณ์นี้อาจยิ่งกดดันบุคลากรทางการแพทย์ จากรายงานความรุนแรงในห้องฉุกเฉินพบว่าไม่ได้เกิดจากคนไข้ฉุกเฉินวิกฤต แต่ส่วนใหญ่มาจากคนไข้ไม่ฉุกเฉิน จึงควรแยกคนไข้ไม่ฉุกเฉินออกจากกลุ่มคนไข้ฉุกเฉิน โดยในรายที่ไม่ฉุกเฉินก็ให้เข้ารักษาที่แผนกไม่ฉุกเฉินแทน

“กรณีที่โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่มาใช้บริการนอกเวลาราชการ หลายแห่งที่มีการเรียกเก็บแต่ไม่แยกส่วนบริการและทรัพยากร ยังคงใช้ห้องฉุกเฉินร่วมกัน อาจถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินได้ เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเสียโอกาสในการป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของอาการป่วยหรือการบาดเจ็บนั้นได้ จึงผิดหลักการการแพทย์ฉุกเฉิน และอาจส่งผลให้สถานการณ์ห้องฉุกเฉินยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ดังนั้นหากโรงพยาบาลจะมีการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่มาใช้บริการนอกเวลาราชการ ก็ต้องแยกส่วนบริการให้ชัดเจน อาจเปิดเป็นคลินิกพิเศษเหมือนกับที่โรงพยาบาลหลายแห่งทำอยู่ก็ได้ ขณะเดียวกันตามคำประกาศ "สิทธิ" และ "ข้อพึงปฏิบัติ" ของผู้ป่วย ที่ออกโดย ๖ สภาวิชาชีพ ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ แผนกเวชกรรมฉุกเฉินก็มีสิทธิปฏิเสธไม่รักษาคนไข้ไม่ฉุกเฉินที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนและไม่ถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้เช่นกัน ”

นพ.สุรจิต กล่าวต่อว่า สำหรับแผนกฉุกเฉินนี้ อาจไม่จำเป็นต้องมีในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีทรัพยากร และขีดความสามารถไม่เพียงพอ เพราะอาจทำให้คนไข้ฉุกเฉินวิกฤตเสียโอกาสทองในการได้รับการรักษาได้ อาจมีแผนกฉุกเฉินเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ที่มีความพร้อม มีแพทย์ฉุกเฉิน พยาบาลฉุกเฉิน รวมถึงทรัพยากรที่พร้อมช่วยชีวิตและรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็กก็มีเพียงหน่วยรักษาด่วนสำหรับการเจ็บป่วยที่ไม่ถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาตลอด 20 ปี พบว่า ในจำนวนผู้มารับบริการในส่วนที่ได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นห้องฉุกเฉิน มีคนไข้ฉุกเฉินวิกฤตเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น

ขณะที่ระยะทางจากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลที่มีห้องฉุกเฉินนั้น มองว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ เพียงแต่ต้องวางระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้ดีซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึง 10-20 ปีต่อจากนี้ แต่ต้องมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะระบบสายด่วนฉุกเฉินในการคัดแยกผู้ป่วยและการอำนวยการปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาตั้งแต่ที่เกิดเหตุ โดยการให้คำแนะนำในการกู้ชีวิตและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างถูกต้องโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ช่วยเหลือและผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มขึ้น มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อดูแลรักษาคนไข้ ณ ที่เกิดเหตุก่อนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งต่อให้เหมาะสมกับภาวะฉุกเฉินนั้น เพราะการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินส่งไปยังโรงพยาบาลที่ไม่มีความพร้อมรอบรับผู้ป่วยฉุกเฉิน อาจทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเสียโอกาสได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินบ้านเรายังอยู่ระดับอนุบาล เป็นระบบที่เน้นเพียงการขนส่งคนไข้อย่างเดียว ทั้งที่หลักการสำคัญของระบบฉุกเฉิน คือต้องมีระบบที่สามารถคัดแยกผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์หรือระบบออนไลน์ รวมถึงการให้คำแนะนำช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพัฒนาการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทั้งระบบ โดยยึดหลักการเพื่อปกป้องสิทธิให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน

ที่สำคัญสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมคำนึงถึง คือต้องไม่ดึงทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือชีวิต “ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ไปใช้ดูแลผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน เหมือนนำรถดับเพลิงไปรดน้ำต้นไม้เพราะมองว่าจอดไว้เฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ จนทำให้เพลิงที่ไหม้โหมวอดวาย