ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจงกรณี อปท.ใช้รถพยาบาล (รถตู้) และรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) ในการรับส่งผู้ป่วยไป รพ. ระบุทำได้ตามหลักเกณฑ์ หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินให้ใช้รถส่วนกลางที่ไม่ใช่รถฉุกเฉินได้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงการจัดบริการสาธารณะของ อปท. ในการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ว่า ในกรณีการรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนั้น อปท.อาจดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ โดยผู้ป่วยที่จะได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจาก อปท.ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย สำหรับการจัดบริการรับส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ก็ให้ อปท.พิจารณาตามความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วย โดยกรณีผู้ป่วยที่สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ให้พิจารณาใช้รถส่วนกลาง ที่ไม่ใช่รถฉุกเฉินไปให้บริการได้ โดยการใช้รถส่วนกลางนั้น ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548

ส่วนกรณีที่ อปท.ไม่มีรถส่วนกลาง หรือมีรถส่วนกลางแต่อยู่ในระหว่างใช้ปฏิบัติราชการ หรือรถอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การรับส่งผู้ป่วย ก็ให้ อปท.ประสานมูลนิธิหรือองค์กรอื่นๆ ที่มีรถฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ หรืออาจจ้างพาหนะในพื้นที่ได้

และในกรณีที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแล ให้ใช้รถฉุกเฉินในการบริการ หาก อปท.ไม่มีรถฉุกเฉิน หรือมีรถฉุกเฉินแต่ในขณะนั้นอยู่ในระหว่างรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแลท่านอื่นอยู่ ก็ให้ อปท.ประสานมูลนิธิหรือองค์กรอื่นๆ ที่มีรถฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ หรืออาจจ้างพาหนะในพื้นที่ได้เช่นกัน

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวต่อถึงการใช้รถพยาบาล (รถตู้) และรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) ในการช่วยเหลือประชาชนว่า รถราชการจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ รถประจำตำแหน่ง รถรับรอง และรถส่วนกลาง ซึ่งนอกจากรถประจำตำแหน่งและรถรับรองแล้ว ก็ถือเป็นรถส่วนกลางทั้งสิ้น เช่น รถพยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน รถบรรทุก รถดับเพลิง และรถอื่นๆ แต่ลักษณะการใช้งานแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการจัดหา ซึ่งสำนักงบประมาณได้กำหนดราคามาตรฐานครุภัณฑ์รถพยาบาล (รถตู้) และรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) แยกจากกัน ดังนี้ 1. รถพยาบาล (รถตู้) ปริมาตรกระบอกสูบ ไม่ต่ำกว่า 2,400 ซีซี หรือกำลังเครื่องยนต์สูงสุด ไม่ต่ำกว่า 90 กิโลวัตต์ คันละ 2,000,000 บาท 2. รถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า 2,400 ซีซี หรือกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่ต่ำกว่า 110 กิโลวัตต์ คันละ 1,000,000 บาท

สำหรับรถพยาบาล (รถตู้) และ รถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) จะมีลักษณะการใช้งานแตกต่างกัน คือ รถพยาบาล (รถตู้) จะมีเฉพาะ อปท.ที่มีสถานพยาบาลในสังกัด สามารถใช้รับส่งผู้ป่วยได้ทั้งกรณีฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ระหว่างใช้งานเพื่อนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลจะเปิดไซเรนหรือไม่ก็ได้ มีบุคลากรที่ประจำรถพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วย คือ แพทย์หรือพยาบาล มีการใช้สัญญาณไฟวับวาบเป็น “สีน้ำเงิน”

ส่วนรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) จะมีได้ทุก อปท.ที่ดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน รถยนต์ของสถานพยาบาลที่ใช้รับส่งผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ระหว่างใช้งานเพื่อนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลจะเปิดไซเรนขอทางให้ยวดยานอื่นหลีกทางให้ บุคลากรที่ประจำรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อดูแลผู้ป่วย คือ อปพร.หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายซึ่งผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีการใช้สัญญาณไฟวับวาบเป็น “สีแดงและน้ำเงิน”

“หาก อปท.จะใช้รถพยาบาล (รถตู้) หรือรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) ไปให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน โดยรถที่จะนำไปใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องเป็นรถที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้วย และหากจะนำไปให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแล ก็สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รถเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว