ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาการพยาบาล ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (13) เพื่อรับฟังสภาพปัญหาเฉพาะกลุ่มพยาบาล ที่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลระดับต่างๆในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกือบ 300 คน แบ่งเป็น 11 กลุ่มย่อย หารือปัญหาและแนวทางแก้ไขใน 3 ประเด็นหลัก คือ พยาบาลวิชาชีพห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER), พยาบาลวิชาชีพในระบบบริการปฐมภูมิ และพยาบาลแผนกสูติกรรม

ในส่วนของปัญหาและข้อคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพในระบบบริการปฐมภูมินั้น มีกลุ่มย่อยที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 4 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายประยัติ ศิริรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ท่าเพลิง จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 1 นำเสนอว่า บทบาทของพยาบาลในระบบปฐมภูมินั้นได้รับมอบหมายให้แค่ให้ดูแลครอบครัว ประสานงาน เป็นที่ปรึกษา รักษาพยาบาลเบื้องต้น งาน ANC พัฒนาการเด็ก โภชนาการเด็ก แต่ในทางปฏิบัติยังมีงานส่วนเกิน เช่น จ่ายยาผู้ป่วยเรื้อรัง ฉีดยา ทำแผลเล็กในชุมชน บริหารงานเวชภัณฑ์ งานยาเสพติด ควบคุมโรค เป็นแม้กระทั่งแพทย์สนามมวย งานทุกอย่างมาอยู่กับพยาบาลทั้งนั้น หรือการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.สต. มีพยาบาลอยู่เวร 1 คน ถ้าส่งต่อคนไข้พยาบาลก็ต้องไปด้วย ดังนั้นอยากให้มีเพิ่มจำนวนพยาบาลอยู่เวรเป็น 2 คน

"ในส่วนของงาน Long Term Care งานผู้สูงอายุเป็นงานที่หนักมาก CG ที่อบรมไปทำงานได้ไม่ถึง 30% ส่วนมากเวลาออกเยี่ยมบ้านพยาบาลต้องออกไปประกบ ดูแลติดตาม ประเมินคนไข้ เขียน Care Plan แต่ CM ไม่ได้ค่าตอบแทน และเงินกองทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท อยากขอให้เพิ่มค่าตอบแทนให้พยาบาลที่ทำงานในส่วนนี้ อย่างน้อยเดือนละ 500-1,000 บาท รวมๆก็ใช้เงินประมาณ 60 ล้าน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ" นายประยัติ กล่าว

ด้าน นางปิยะนุช ไชยสาส์น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คลินิกหมอครอบครัวกุมภวาปี จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 2 นำเสนอว่า ข้อคิดเห็นของกลุ่มคล้ายกับกลุ่มก่อนหน้านี้ กล่าวคือพยาบาลทำทุกอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ยิ่งตอนนี้มี PCC มีการส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลแม่ข่ายมาที่ รพ.สต.มากขึ้น ทำให้บทบาทการรักษาของพยาบาลเวชปฏิบัติบางครั้งเกินขอบเขต เช่น มียาบางตัวที่อยู่ในกรอบยาของแพทย์ แต่แพทย์ไม่ได้อยู่กับ PCC ตลอดเวลา บางครั้งคนไข้มารักษาต่อเนื่องจำเป็นต้องใช้ ทำให้เกิดการใช้ยาที่เกินขอบเขตพยาบาล นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ ที่เกินขอบเขตพยาบาล ทั้งซ่อมบำรุง การเงิน พัสดุ บัญชี ซึ่งพยาบาลไม่เคยถูกสอนมา แต่เนื่องจากบริบทของ รพ.สต. มีคนน้อย บางอย่างก็ต้องทำ ทำให้ไม่สามารถ Take Action ในบทบาทของพยาบาลได้เต็มที่

"หรือในเรื่องการทำงานแทนเภสัชกรและเทคนิคการแพทย์ เราทำมานาน แต่ ณ วันหนึ่งก็ถูกเรียกร้องว่าเราไม่มีสิทธิ ตรงนี้อยากฝากหลายๆ ฝ่ายช่วยดูแล" นางปิยะนุช กล่าว

นอกจากนี้ พยาบาลใน รพ.สต.ยังมีความเสี่ยงสูงจากงานอนามัยแม่และเด็ก ANC และหลังคลอด พยาบาลบางจังหวัดยังไม่ถูกพัฒนาศักยภาพในด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์และการทำคลอดฉุกเฉิน แม้มีเคสแบบนี้ไม่มากแต่ก็ถือเป็นความเสี่ยง ดังนั้นอยากให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนแนวทางหรืองบประมาณที่เอื้อต่อการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นใน รพ.สต.นั้นๆ เพราะบางครุภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องใช้ น่าจะให้ รพ.สต.เป็นคนรีเควสเองว่าต้องการเครื่องมืออะไร เอาไปใช้ประโยชน์อะไร เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่จริงๆ

ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการ ก็พบว่าพยาบาลวิชาชีพยังไม่ทราบว่ามีสิทธิในการคุ้มครองผู้ให้บริการมีอะไรบ้าง หรืออาจยังไม่ทราบช่องทางการคุ้มครองสิทธิ ดังนั้น เสนอให้มีการประชาสัมพันธ์หรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธินี้มากขึ้น

นางปิยะนุช กล่าวอีกว่า ในส่วนของบทบาทพยาบาลชุมชนตามโครงสร้าง รพ.สต. และ PCC ปัจจุบันพยาบาลในหลายพื้นที่รับบทบาทบริหารในฐานะเป็นรักษาการผู้อำนวยการ รพ.สต. แต่ไม่มีกรอบหรือตำแหน่งให้ ตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.ยังเอื้อให้บางสายงานเท่านั้น ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ใช่จังหวัดนี้ได้จังหวัดนี้ไม่ได้

ขณะที่นายจักรินทร์ เคนรัง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ท่ามะไฟหวาน จ.ชัยภูมิ เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 3 นำเสนอว่า มีหลายงานที่ไม่ใช่บทบาทพยาบาล เช่น การเงิน ไอที กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ประสานท้องถิ่น ประสานโรงเรียน ดูแลเรื่องอาชีวะอนามัย ฯลฯ ส่วนงานงานแม่และเด็ก ยังมีการฝากครรภ์ไม่ครบตามเกณฑ์คุณภาพ มาฝากครรภ์ครั้งแรกเกินกว่า 12 สัปดาห์ ฝากครรภ์แล้วไม่มาตามนัด และพบว่ายังมีการคลอดที่บ้าน ซึ่งแนวทางแก้ไขคงต้องทำงานร่วมกับ พชอ. รวมทั้งฟื้นฟูทักษะของพยาบาลใน รพ.สต.ให้มากขึ้น

ในส่วนของ Long Term Care ถ้าเป็นไปได้อยากให้แก้ไขกฎหมายเพิ่มสัดส่วนฝ่ายสาธารณสุขในคณะงานทำงานให้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นทีมทำงานจากท้องถิ่น ซึ่งมีภารกิจมาก บางครั้งก็มีการโยกย้ายผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้การประชุมคณะทำงานขาดความต่อเนื่อง ส่วนการปฏิบัติงานก็พบว่ามีแต่เจ้าหน้าที่ รพ.สต.กับเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลที่ดูแลเรื่อง Long Term Care ลงพื้นที่ นานๆ ครั้งทีมสหวิชาชีพจะไปเยี่ยมแบบเต็มทีม ซึ่งก็เข้าใจได้ในการความขาดแคลนบุคลากรของโรงพยาบาล ดังนั้นแนวทางแก้ไขคงต้องปรับแผนงานที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลอาจต้องมีทีมสหวิชาชีพลงพื้นที่จริงๆ

นางอุไรวรรณ ฐิติวัฒนากูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บุ่งคำ จ.อุบลราชธานี เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 4 นำเสนอว่า อยากเสนอให้พยาบาลวิชาชีพมีความก้าวหน้าตามภาระงานที่ได้รับ เพราะปัจจุบันความก้าวหน้ายังต่ำและเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. ไม่ได้จริงๆ แม้กรอบใหม่จะให้พยาบาลเป็นได้ แต่หลายจังหวัดไม่สามารถดำเนินการแบบนั้น มีหลายอำเภอที่ยังกีดกันไม่ให้พยาบาลขึ้นตำแหน่ง เช่น บางอำเภอพอมีหนังสือแจ้งว่าตำแหน่งว่าง รับสมัครนักวิชาการแต่ก็ไม่ให้พยาบาลสมัคร เป็นต้น รวมทั้งเรื่องค่าตอบแทนก็ยังไม่เหมาะสมเช่น ค่าเวร ปฏิบัติหน้าที่มา 20 ปีก็ยัง 600 บาทเหมือนเดิม ดังนั้นน่าจะมีการปรับปรุงในจุดนี้

ส่วนเรื่อง Long Term Care เสนอว่ามีหลายพื้นที่ที่ทำได้ดี ตรงนี้ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าเข้าใจบทบาทมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเสนอว่าพื้นที่ไหนที่มีปัญหาการเบิกเงินอาจต้องไปดูงานในพื้นที่ที่ประสำความสำเร็จ เพื่อศึกษาแนวทางการทำงานและนำไปปรับใช้ต่อไป รวมทั้งเสนอว่าควรมีผู้รับผิดชอบงาน Long Term Care เดี่ยวๆ ไปเลยไม่ต้องรับผิดชอบงานอื่นด้วย บางพื้นที่ 10 หมู่บ้านมีพยาบาลคนเดียว ทำทั้งงานการเงิน พัสดุ การตรวจรักษาโรคเบื้องต้น ทำทุกอย่างจนทำไม่ไหว

อีกปัญหาของผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. คือ ต้องคีย์ข้อมูลเพื่อให้ได้เงิน ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน อีกทั้งโปรแกรมคีย์ข้อมูลก็มีหลายโปรแกรม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ปรับปรุงโปรแกรมต่างๆ ให้เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ หรือสามารถนำเข้าข้อมูลจากโปรแกรมอื่นได้เพื่อให้ง่ายต่อผู้ปฏิบัติ รวมทั้งเกณฑ์การเบิกเงินที่ไม่สอดคล้องกับความจริง เช่น QOF ต้องได้ 80% บางพื้นที่มีประชากร 1,000 คนก็ทำได้ แต่บางพื้นที่ประชากร 10,000 คน คงทำไม่ได้ 80% แน่นอนเพราะภาระงานอื่นๆ ก็เยอะอยู่แล้ว จึงควรทบทวนเกณฑ์ใหม่