ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันประสาทวิทยา เผยการนอนหลับที่เพียงพอส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี หากนอนไม่หลับอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง มีปัญหาด้านสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การนอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ สมองและร่างกายจะใช้ช่วงเวลาขณะหลับในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น การนอนหลับที่เพียงพอจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิติที่ดี มนุษย์ใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ซึ่งความต้องการในการนอนหลับของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนนอนแค่วันละ 5-6 ชั่วโมง

แต่อย่างไรก็ตามทุกคนอาจประสบปัญหานอนไม่หลับขึ้นได้ โดยพบว่า ร้อยละ 10 พบปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งต้องใช้ยาเพื่อช่วยนอนหลับโดยพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ผู้ที่ทำงานเป็นกะผลัดเวร มักเกิดปัญหานอนไม่หลับง่ายกว่าบุคคลประเภทอื่น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขาดงานเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการนอนไม่หลับพบว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะตึงเครียดในชีวิตประจำวัน สภาพแวดล้อม ปัญหาการนอนที่มาจากโรคของการนอนหลับโดยตรง เช่น ภาวะหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับเป็นพักๆ โรคซึมเศร้า การเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การเจ็บปวด อาการไอเรื้อรัง เป็นต้น ดังนั้นถ้ามีอาการนอนไม่หลับเลยมากกว่า 1 สัปดาห์หรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในเวลากลางวัน ไม่ควรนิ่งนอนใจควรปรึกษาแพทย์

สำหรับหลักปฏิบัติที่ส่งเสริมการนอนหลับ ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้ เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน ออกกำลังกายเบาๆ หลังตื่นนอน 10-15 นาที หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ตึงเครียดก่อนเข้านอน จัดห้องนอนให้มืดเงียบ สบาย มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนนานในตอนกลางวัน เพราะส่งผลให้นอนหลับยาก ไม่รับประทานอาหารมื้อเย็นมากเกินไป

อย่างไรก็ตามยานอนหลับไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับเพียงช่วยให้อาการทุเลา การรักษาด้วยยานอนหลับต้องใช้ร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่หากใช้มานานควรค่อยๆ หยุดยาอย่าหยุดยาอย่างกะทันหัน เพราะจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับขึ้นอีก และไม่ควรใช้ยานอนหลับในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้ติดสารเสพติด ผู้ป่วยโรคตับ ไต และ ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้ การปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนที่ถูกต้องและขจัดพฤติกรรมที่รบกวนการนอน ร่วมกับฝึกให้มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการนอนหลับที่ดี โดยปฏิบัติต่อเนื่องอย่างน้อย 6-10 สัปดาห์ จะช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น