ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชนจี้รัฐบาลออกมาตรการเชิงรุก จัดระเบียบงานบวช งานบุญปลอดน้ำเมา เร่งทำข้อตกลงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนุนมติมหาเถระสมาคม วอนชุมชนปรับวิธีคิดเปลี่ยนพฤติกรรม ถอนน้ำเมาจากงานบุญเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และตัวแทนนักเรียน นักศึกษา กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนมติมหาเถระสมาคมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา และยื่นข้อเสนอเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหางานบวช ที่มีการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้มีการแต่งกายแสดงละครเพื่อสะท้อนปัญหางานบวชงานบุญที่มีเหล้าด้วย ทั้งนี้ นายสมพาศ นิลพันธ์ ทีปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นผู้มารับเรื่องแทน

เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แห่นาคงานบวชวัดสิงห์ มีการทำร้าย ครู อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนวัดสิงห์ ขณะกำลังสอบ GAT/PAT เพราะไม่พอใจที่ทางวัดและโรงเรียนขอความร่วมมือลดเสียงดังจากเครื่องเสียงขบวนแห่นาค ซึ่งปัจจัยสำคัญเพราะมีการดื่มสุราทำให้ขาดสติยับยั้งชั่งใจ จนเป็นเหตุสะเทือนใจ สร้างความเสื่อมเสียร้ายแรงต่อพุทธศาสนา และศรัทธาชาวพุทธ อีกทั้งเครือข่ายฯ เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในพื้นที่อื่นๆ อีก รวมทั้งเป็นห่วงศรัทธาของชาวพุทธ เมื่อจะจัดงานบวช งานบุญ จะไปให้ความสำคัญมหรสพ จัดงานเลี้ยงที่ยิ่งใหญ่ มีขบวนแห่นาคที่เสียงดัง จัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มุ่งเน้นไปในทางบันเทิงสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่แก่นหรือหัวใจสำคัญของการบวช หรืองานบุญ ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา

เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า ทั้งนี้ มหาเถระสมาคม ได้มีการประชุมวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เน้นย้ำระเบียบว่าด้วยการจัดงานในวัด เครือข่ายฯ จึงขอสนับสนุนมติดังกล่าว และทางฝ่ายบ้านเมืองควรเร่งดำเนินการเพื่อหนุนเสริมงานของคณะสงฆ์ โดยเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ในระดับประเทศ ขอให้ท่านได้ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม ระดมพลังประกาศนโยบายส่งเสริมค่านิยมแบบอย่างที่ดีโดยงดการจัดเลี้ยง ดื่มแอลกอฮอล์ในงานบวช งานบุญรวมทั้ง รูปแบบพิธีกรรม งานรื่นเริงต่างๆ ให้เหมาะสมกับมติมหาเถรสมาคม

2.ในระดับพื้นที่ ขอให้ฝ่ายราชการโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และชุมชนในพื้นที่ช่วยประสานกับผู้บริหารคณะสงฆ์ในแต่ละจังหวัด หรืออำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้มีการหารือประชุมให้เป็นมติร่วมกันในการจัดงานบวชและงานบุญที่เน้นแก่นแท้ งดการจัดเลี้ยง และการดื่มแอลกอฮอล์

3.สนับสนุนยกย่องเจ้าภาพที่จัดงานบวชไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีรถแห่ขบวนบวชนาคเสียงดัง เป็นการบวชแบบเรียบง่าย ประหยัด

4.สนับสนุนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำหนดให้วัดเป็นสถานที่ ห้ามดื่ม ห้ามขาย อย่างจริงจัง

5.ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง มิให้มีการกระทำการที่เสื่อมเสีย ทำลายเจตนารมณ์พุทธศาสนา รวมถึงการทำผิดกฎหมายในงานบวชงานบุญ หากพบเหตุให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สถานีตำรวจ สำนักงานสาธารณสุข ตลอดจนสำนักงานพระพุทธศาสนา

ขณะที่พระครูสุมณฑธรรมธาดา คณะกรรมการดำเนินงาน เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า ขอสนับสนุนมติของมหาเถระสมาคม ทั้ง 7 ข้อห้ามในวัด นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2537 กว่า 20 ปีแล้ว ในในทางปฏิบัติยังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันปฏิบัติตาม อย่าให้ต้องนำกฎระเบียบออกมาย้ำทุกปี เพราะแนวทางการจัดงานบุญงานบวช ไม่ควรมีเหล้าอบายมุขของมึนเมาเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรเป็นบุญที่บริสุทธิ์ และอยู่ในบวร บ้าน วัด โรงเรียน 3 เสาหลักที่คอยหล่อหลอมคนในสังคม

“ระเบียบต่างๆ จะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งพระสงฆ์ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายปฏิบัติ ต้องช่วยกันลบค่านิยมบวชแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าให้มองเป็นเรื่องปกติ แยกโทษแยกบุญแยกบาปให้ออก เราต้องช่วยกันรักษาศีลรักษากฎหมาย และวัฒนธรรมที่ดี อย่าให้อะไรที่เสื่อมถอยตกไปถึงลูกหลาน ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่างานบุญเปื้อนบาปไม่มีทางจะเข้าถึงบุญ และสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตามกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งมีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง มันไม่คุ้มกันเลย ยิ่งงานไหนเกิดความสูญเสียขึ้นเจ้าของงานก็คงทุกข์ใจไม่น้อย ซ้ำยังเป็นการบั่นทอนกัดกร่อนพุทธศาสนาอีกด้วย จึงอยากให้ชุมชน ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ร่วมกันทำบุญด้วยสติ เข้าถึงธรรมะอย่างแท้จริง” พระครูสุมณฑธรรมธาดา กล่าว