ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต. เสนอ 4 นโยบายปฏิรูป รพ.สต. ต่อหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ย้ำขอความชัดเจน เป็นข้อมูล “หมออนามัย” ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการติดตามนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงรับสมัครเลือกตั้งขณะนี้ ยังไม่มีพรรคใดที่มีความชัดเจนในนโยบายการปฏิรูปการบริการระดับปฐมภูมิในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งพรรคการเมืองควรแสดงท่าทีในเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้หมออนามัยทั่วประเทศจะได้ตัดสินใจเลือกพรรคและผู้สมัครได้ เพื่อให้เข้ามาเดินหน้าปฏิรูประบบปฐมภูมิใน รพ.สต.

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฯ จึงได้จัดทำ 4 ข้อเสนอนโยบายปฏิรูปและพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อขอทราบความชัดเจน เริ่มจาก 1.การแก้ไขปัญหาด้านกำลังคนใน รพ.สต. จากที่ชมรมฯ ได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหากำลังคน เนื่องจากปัจจุบัน รพ.สต.แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ประจำเพียง 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความเป็นจริงในการดูแลประชาชน ทำให้มีการจัดทำโครงสร้างกรอบอัตรากำลังของ รพ.สต.ใหม่ แบ่งตามขนาด รพ.สต. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำที่จำนวน 7-12 คน แล้วแต่ขนาด รพ.สต.นั้น โดยเพิ่มเติม 5 วิชาชีพใน รพ.สต. ได้แก่ ทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม แพทย์แผนไทย ธุรการ และการเงิน ทำให้การบริการใน รพ.สต.มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงสร้างนี้ได้ผ่าน อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ปรากฏว่าทั้ง สธ. สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย กำลังคนภาครัฐ (คปร.) กลับยังไม่เคยนำเสนอเรื่องนี้ต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติแผนกำลังคน รพ.สต.ให้เป็นไปตามโครงสร้าง

ทั้งนี้เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการติดปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากแต่เดิม ครม.เคยมีมติจำกัดกำลังคนในหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถนำเสนอแผนโครงสร้างนี้ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ รพ.สต.เกี่ยวโยงกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชากร จึงไม่ควรรวมกลุ่มหน่วยงานที่ต้องจำกัดอัตรากำลัง และควรเปิดให้มีบุคลากรตาม FTE ซึ่งเรื่องนี้คงต้องนำเสนอ ครม.เพื่อให้ยกเว้นการจำกัดนี้ให้กับ รพ.สต.

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต่อมา 2.เป็นข้อเสนอการปรับปรุงงบประมาณ รพ.สต. ซึ่งงบประมาณที่ รพ.สต.ได้รับจะถูกผ่านจากโรงพยาบาลแม่ข่าย จึงจะเป็นผู้พิจารณาและจัดสรรงบให้กับ รพ.สต.แต่ละที่ให้งบประมาณที่แตกต่างกัน ทำให้งบประมาณที่ รพ.สต.บางพื้นที่ได้รับไม่เพียงพอ ดังนั้นจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องเพิ่มเงินในงบเหมาจ่ายรายหัวประมาณ 100 บาท/ประชากร และส่งตรงให้กับ รพ.สต. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fix Cost) ให้กับ รพ.สต.เพื่อใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งให้ทำข้อตกลงกับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ข้าราชการที่มารับบริการที่ รพ.สต.สามารถเบิกจ่ายตรงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ รพ.สต.แต่ละพื้นที่ได้ ทั้งยัง่ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

3.ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและแผนยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อการบริหารประเทศไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน ไม่มีบัญญัติ "ราชการระดับตำบล" ในราชการบริหารส่วนภูมิภาค เป็นผลให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา รพ.สต. เพื่อระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยมักจะถูกกล่าวอ้างจากส่วนราชการซึ่งมีอานาจหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศว่า รพ.สต.ไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการกฎหมายระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนงบประมาณและกำลังคน ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประกาศแผนปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข ยังไม่มีข้อความบัญญัติให้มีการพัฒนา รพ.สต.และการสนับสนุนกำลังคนวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนใน รพ.สต. แต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมี 4.ข้อเสนอด้านขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ซึ่งที่ผ่านมาทางชมรมฯ และเครือข่ายได้ร่วมกันเรียกร้องกันมา 4 ปีแล้ว ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน ความก้าวหน้า โดยเปิดให้ ผอ.รพ.สต.สายงานวิชาการ เลื่อนระดับตำแหน่งเป็นระดับชานาญการพิเศษ และสายงานทั่วไป เป็นระดับอาวุโส เทียบเท่าซี 8 โดยไม่ยุบรวมตำแหน่ง และการปรับปรุงอาคารสถานที่ รพ.สต. รวมถึงความชัดเจนในนโยบายถ่ายโอน รพ.สต. ซึ่งควรโอนย้ายเป็นกลุ่มไปยังท้องถิ่นขนาดใหญ่ เพื่อให้การทำงานในพื้นที่สามารถยึดโยงกันได้

“ขณะนี้ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฯ ได้ส่งข้อเสนอการปฏิรูป รพ.สต.ไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว จากนี้จะติดตามว่าจะมีพรรคใดตอบรับข้อเสนอ โดยมีการประกาศนโยบายต่อการพัฒนา รพ.สต. ออกมาหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าข้อเสนอที่ทางชมรมนำเสนอนี้ จะทำไปสู่การพัฒนา รพ.สต. ทำให้การบริการปฐมภูมิมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว