ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย ข้อมูลปี 61 “สิทธิบัตรทอง” ดูแลผู้ป่วยมะเร็งกว่า 2.34 แสนคน รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษากว่า 1.43 ล้านครั้ง พร้อมเปิดประเภทมะเร็ง 5 อันดับแรก มีผู้ป่วยรับบริการในระบบมากสุด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ระบุผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง เป็นผลความร่วมมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และหน่วยบริการที่ให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก นอกจากเป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาดแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่แพงมากจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินและล้มละลายได้ โดยในอดีตมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงการรักษา ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้บรรจุให้การรักษาโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) โดยมีการกำหนดดูแลตามมาตรฐานการรักษา (Protocol) โรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดทำโดยคณะทำงานพัฒนามาตรฐานหน่วยบริการที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งสาขาต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงาน

ทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งทุกประเภท ประกอบด้วย มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งในเด็ก และมะเร็งอื่นๆ

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2559-2561 มีผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 4,117,504 ครั้ง ชดเชยค่ารักษาจำนวน 26,679 ล้านบาท ทั้งนี้เฉพาะข้อมูลปี 2561 มีผู้ป่วยที่เข้ารับรักษา จำนวน 234,116 คน รับบริการรักษา จำนวน 1,431,795 ครั้ง ชดเชยค่ารักษาจำนวน 9,557 ล้านบาท

“ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าสิทธิประโยชน์การรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง ช่วยยับยั้งภาวะลุกลามของมะเร็งและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะมะเร็งบางประเภทสามารถรักษาให้หายขาดได้ในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง หน่วยบริการทั่วประเทศที่ให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จัดหายามะเร็งที่มีราคาแพงเข้าสู่ระบบ เพื่อดูแลผู้ป่วยได้ อาทิ ยาเลโทรโซล (Letrozole) ยาโดซีแทคเซล (Docetaxel) และยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2562 นี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงดำเนินสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองและตรวจวินิจฉัยยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรอายุ 50-70 ปี ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้ป่วยมะเร็งและรักษาให้หายขาดได้หากพบในระยะแรกเริ่ม