ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.หนุนโมเดลถ่ายโอน รพ.สต.ยกพวงบริการทั้งจังหวัดไปสังกัด อบจ. ชี้มีความพร้อมทั้งคน เงิน ของ โอกาสก้าวหน้ามีมากกว่าท้องถิ่นขนาดเล็ก แต่มีเงื่อนไขว่าถ่ายโอนไปแล้วต้องไม่ถูกบังคับให้รักษาการหัวหน้า รพ.สต. 2-3 ปีก่อนจะขึ้นตำแหน่งนักบริหารสาธารณสุขได้

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายอำนาจถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปอยู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงสิ้นสุดแผน 2 ของ พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และในระหว่างนี้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมการเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผน 3 เพื่อบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อ

ขณะเดียวกันได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีผู้แทนจาก อบจ. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากชมรม ผอ.รพ.สต. เป็นคณะทำงาน โดยคณะทำงานได้มีการประชุมกันหลายครั้ง ซึ่งในส่วนของของชมรม ผอ.รพ.สต.มีทิศทางว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อปท. ควรถ่ายโอนไปแบบพวงบริการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือ อปท.ขนาดใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมและศักยภาพทั้งคน เงิน ของสูงกว่า อปท.ขนาดเล็ก และการถ่ายโอนไปเป็นพวงบริการทั้งจังหวัดยังยึดโยงเจ้าหน้าที่ที่ทำงานใน รพ.สต. ได้เหมือนเดิม

นายสมศักดิ์ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ อปท.มีสัดส่วนรายจ่ายประจำไม่เกิน 40% ซึ่ง อบจ.มีสัดส่วนรายจ่ายประจำอยู่ที่ประมาณ 30% นิดๆ แต่หากเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ อปท. ขนาดเล็ก มีรายจ่ายส่วนนี้เกือบ 40% แล้ว จึงเป็นอุปสรรคในการสนับสนุนเรื่องคนเงินของแก่ รพ.สต. นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการที่บุคลากรสาธารณสุขจะย้ายไปสังกัดท้องถิ่นก็ต้องมองเรื่องความก้าวหน้าและขวัญกำลังใจ ในอดีตที่ผ่านมาพบว่าโอกาสก้าวหน้าของบุคลากรใน รพ.สต. 51 แห่งที่ถ่ายโอนไปสังกัด อปท. ก่อนหน้านี้ยังมีน้อยอยู่ ไม่มี ผอ.รพ.สต.คนไหนได้ระดับชำนาญการพิเศษหรือซี 8 แต่ถ้าไปสังกัด อบจ. ก็มีโอกาสที่จะได้ซี 8 สูงกว่าเพราะไม่ติดเรื่องจำนวนเม็ดเงิน และผู้บังคับบัญชาระดับผู้อำนวยการกองหรือปลัดอบจ. มีซีสูงกว่าลดหลั่นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่ ชมรม รพ.สต. ได้หารือกับสมาคม อบจ. คือการที่ รพ.สต. โดยเฉพาะผู้อำนวยการ รพ.สต. จะโอนย้ายไปเป็นบุคลากรท้องถิ่น มีความจำเป็นต้องไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบและหลักเกณฑ์บางฉบับของท้องถิ่น โดยหากจะถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. บุคลากร รพ.สต. ต้องไม่ไปนั่งรักษาการในตำแหน่งในระยะเวลาที่ท้องถิ่นนั้นกำหนด เช่น บังคับว่าต้องไปนั่งรักษาการในตำแหน่งหัวหน้า รพ.สต. 2-3 ปีแล้วจึงจะสามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักบริหารสาธารณสุขได้ ซึ่งถ้าจะให้ รพ.สต. ถ่ายโอนไปได้ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์เหล่านี้

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การถ่ายโอนก็ต้องถ่ายโอนลูกจ้างไปด้วย หรือโครงสร้างอัตรากำลังขนาด S M L ทางท้องถิ่นควรเอาไปใช้ได้เลยแล้วเติมคน เงิน ของ ให้สอดคล้องกับกรอบโครงสร้างซึ่ง รพ.สต.เคยใช้ขณะที่ยังอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง แน่นอนว่าต้องการให้ รพ.สต.อยู่กับกระทรวงต่อ อย่างไรก็ดี มันมีความจำเป็นที่ รพ.สต.ต้องเตรียมพร้อมในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในข้างหน้าเพราะเป็นกฎหมาย เมื่อกฎหมายกำหนดให้ไป ทิศทางการกระจายอำนาจกำหนดให้ไป รพ.สต.ก็ต้องไป แต่ต้องไปภายใต้เงื่อนไขที่เตรียมพร้อม ถ้า รพ.สต.อยู่เฉยๆ ทางท้องถิ่นก็จะไม่ทราบว่าต้องการอะไร ติดขัดอะไร ทางชมรม ผอ.รพ.สต.จึงจำเป็นต้องหารือกับ อปท. ในเรื่องเหล่านี้เตรียมไว้ก่อน