ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักชีวิตหรืออีกนัยหนึ่งคือการกลัวความตาย เรียกได้ว่าเป็นสัญชาติญาณพื้นฐานของมนุษย์ แต่กับคนที่คิดฆ่าตัวตายอาจหมายถึงบางสิ่งในชีวิตล่มสลายลงจนคนผู้นั้นคิดว่าไม่อาจกู้คืนได้อีก กระทั่งชีวิตก็ไม่มีค่าที่จะดำรงอยู่

ตัวเลขการฆ่าตัวตายของไทยถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่การพูดว่าปัญหาเรื่องนี้ของไทยเบากว่าที่อื่นก็ไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องนัก เพราะมันหมายถึงการสูญเสียหลายสิ่งอย่าง ที่สำคัญมีหนทางที่จะลดการฆ่าตัวตายลงได้อีก

นพ.ณัฐกร จำปาทอง

‘HFocus.org’ ชวนสนทนากับ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ (ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต) ชวนไตร่ตรองว่าการฆ่าตัวตายที่เรามักตัดสินผู้กระทำอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นข่าว มันมีอะไรสลับซับซ้อนมากกว่านั้นซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ และชวนคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะในบางสถานการณ์ เราเพียงแค่เอื้อมมือออกไปและฟัง ชีวิตหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องสูญเสีย

สถานการณ์การฆ่าตัวตายในระดับโลกกับประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

ตัวเลขการฆ่าตัวตายของประเทศไทยเมื่อเทียบกับของโลกถือว่ายังต่ำกว่าของโลกอยู่พอสมควร ของโลกอยู่ที่ประมาณ 10.7 ต่อประชากรแสนคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ประมาณ 12-13 ในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 14 แต่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 6-6.5 ต่อประชากรแสนคน เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว สถิติการฆ่าตัวตายของไทยค่อนข้างต่ำกว่าของโลกและทวีปอื่นๆ อยู่พอสมควร ซึ่งตัวเลข 6-6.5 ของไทยนี่ก็อยู่ราวๆ นี้มาประมาณ 10 ปีแล้ว เราอาจจะเคยสูงเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วคือประมาณ 8 ต่อประชากรแสนคน แต่หลังจากนั้นก็ลดลง ตอนนี้ก็อาจมีขึ้นลงบ้าง แต่ว่าตัวเลขไม่กระโดด อยู่ที่ 5 ปลายๆ 6 ต้นๆ มาโดยตลอด

พูดได้หรือไม่ว่าปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ?

ผมจะไม่พูดอย่างนั้นครับ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมที่ยิ่งใหญ่ ในมุมนี้ผมไม่ค่อยเทียบกับของโลกมากนัก ผมคิดว่าสถานการณ์การฆ่าตัวตายมันสามารถป้องกันได้ ลดลงกว่านี้ เพราะเอาจริงๆ ตัวเลข 6 ต่อแสน นับเป็นจำนวนคนเท่ากับคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยปี 4,000 คน ซึ่งจำนวนนี้สูงกว่าการตายด้วยโรคไข้เลือดออก สูงกว่าการตายด้วยโรคอื่นๆ การฆ่าตัวตายในประเทศไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติที่สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ คนไทยฆ่ากันตายน้อยกว่าการฆ่าตัวตายอยู่ประมาณ 3-4 เท่า เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวตาย แม้ว่าตัวเลขจะน้อยกว่าของโลกและประเทศอื่น แต่ไม่อาจมองว่าเป็นปัญหาที่เล็กได้

จากการศึกษาของคุณหมอมีการระบุถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายหรือเปล่า ?

เนื่องจากเราดูตัวเลขการฆ่าตัวตายจากใบมรณะบัตรซึ่งไม่ได้ระบุสาเหตุไว้ แต่เรามีแบบสำรวจทางระบาดวิทยาที่กรมสุขภาพจิตดำเนินการอยู่ก็สามารถระบุได้พอสมควรว่า ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีปัจจัยของปัญหาด้านความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด กับคนในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้ง การถูกตำหนิติเตียน หรือการถูกด่าว่าอย่างรุนแรง ก็เป็นปัจจัยที่เราพบก่อนการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ก็ยังพบปัจจัยที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จก็พบว่ามีปัจจัยด้านโรคซึมเศร้า ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์พบปัจจัยด้านโรคจิตเภท ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์พบว่ามีปัญหาการดื่มสุราร่วมด้วย แล้วก็ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์พบว่าเป็นการฆ่าตัวตายซ้ำ หมายถึงว่าเคยทำร้ายตัวเองมาก่อน แต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จเอาครั้งนี้ และผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จที่เป็นการฆ่าตัวตายซ้ำส่วนใหญ่ทำร้ายตัวเองซ้ำในช่วงเวลา 1 ปีหลังการกระทำครั้งล่าสุด

มันหมายถึงอะไร ?

มันหมายถึงว่าถ้าเราจะต้องติดตาม... คือแน่นอนว่ากระทรวงสาธารณสุข ถ้ามีคนทำร้ายตนเองแล้วไม่สำเร็จ แล้วเขาเข้ามาในระบบการดูแลรักษา เราจะต้องมีกระบวนการติดตาม ต้องมีทะเบียนติดตาม ถามว่าต้องติดตามนานเท่าไหร่ ต้องติดตามนาน 1 ปี เพราะว่า 1 ปีคือช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับไปทำร้ายตัวเองซ้ำ

เพศหรือช่วงอายุมีผลเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายหรือเปล่า ?

เราพบว่าเทรนด์ทุกปีเหมือนกันหมด ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 4 เท่า ตัวเลขจะอยู่ 3.5-4 เท่า เป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกปี ผมว่าเป็นเรื่องที่แปลก แต่ว่าผู้หญิงจะมีการพยายามทำร้ายตนเองสูงกว่าผู้ชายประมาณ 3-4 เท่าเช่นกัน แต่ความสำเร็จไปเกิดกับผู้ชาย

ส่วนอายุ ถ้านับเป็นจำนวน วัยทำงานเป็นช่วงที่พบการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเพราะคนวัยทำงานมีเยอะ แต่ถ้านับเป็นอัตราต่อแสนปรากฏว่าอัตราจะสูงอยู่ที่วัยสูงอายุ อย่างปี 2561 เราพบว่ากลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดคือช่วงอายุ 70-74 ปี

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าววัยรุ่นหรือวัยทำงานตอนต้นฆ่าตัวตายสำเร็จค่อนข้างเยอะ เราพบว่าช่วงอายุ 10-19 ปีมีอัตราการฆ่าตัวตายไม่สูง โดยทั่วไปอยู่ที่ 1-2 ต่ออัตราประชากรแสนคน แต่พอขยับเป็นช่วงวัย 20-24 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อยู่ในระดับอุดมศึกษา อัตราการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้นเป็น 6 ตรงนี้มีการก้าวกระโดดของอัตราการฆ่าตัวตายที่น่าสนใจในช่วงรอยต่ออายุ 20 ปี เพราะฉะนั้นช่วงวัยที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยและช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นวัยที่จำเป็นต้องโฟกัส

พอจะทราบสาเหตุของคนวัย 20-24 ที่ฆ่าตัวตายหรือไม่ ?

สาเหตุที่ฆ่าตัวตายเราพบว่ามีความคล้ายคลึงกันกับวัยอื่นๆ คือปัญหาความสัมพันธ์ค่อนข้างมาก ปัจจุบันเรายังไม่ได้พบปัจจัยที่แตกต่างกันชัดเจนในเรื่องปัจจัยนำหรือวิธีการ หรือว่าเพศที่แตกต่างจากคนวัยอื่นๆ ลักษณะของประชากรค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหากันต่อไปว่าทำไมช่วงรอยต่ออายุ 20 ปี การฆ่าตัวตายสำเร็จถึงสูงขึ้นอย่างชัดเจน อาจจะมีหลายอย่างที่เข้ามาในช่วงอายุ 20 กว่าปี เช่น การดื่มสุราและใช้สารเสพติดจนทำให้ความยับยั้งชั่งใจลดลงหรือไม่ มีเรื่องความคิดที่สลับซับซ้อนเนื่องจากวัยที่สูงขึ้น อาจจะเกิดจากความเครียดเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ที่มากขึ้นตามวัยที่สูงขึ้นหรือไม่ อย่างไร ตรงนี้คงบอกได้เพียงกว้างๆ

แล้วทำไมคนในวัย 70-74 ถึงมีอัตราการฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง ?

เราพบว่าผู้สูงอายุชายเลือกวิธีการที่มีความรุนแรงสูง เลือกวิธีการที่มีอัตราความสำเร็จ และเราพบว่าผู้สูงอายุเวลาฆ่าตัวตายจะมีความเด็ดเดี่ยวอยู่พอสมควรเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ บางครั้งพบว่ามีการวางแผน เหมือนกับหลายรายที่เป็นข่าว หลายท่านเลือกใช้วิธีการที่มีความรุนแรง

ในแบบสำรวจทางระบาดวิทยาของเราพบปัจจัยที่สูงขึ้นมาในวัยผู้สูงอายุที่ไม่พบในวัยทำงานและวัยอื่นก็คือปัจจัยการเป็นโรคเรื้อรังทางกาย เป็นปัจจัยที่นำมาอันดับ 2 รองจากเรื่องความสัมพันธ์ โรคเรื้อรังทั้งหลายทางร่างกายที่เขาต้องประสบ และจากการวิจัยเมื่อปี 2561 ของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯ เราพบปัจจัยที่มีนัยสำคัญที่ผู้สูงอายุทำร้ายตัวเองอยู่ 2 ประการ

อันดับแรกคือเรื่องภาวะวิตกกังวลอย่างรุนแรง อันดับที่ 2 คือการเจ็บปวดอย่างมีนัยสำคัญ คือเราจะเห็นผู้สูงอายุหลายท่านทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด อาจจะเจ็บปวดที่เดียวหรือหลายที่ในร่างกาย การเจ็บปวดนั้นอาจจะอธิบายได้หรืออธิบายไม่ได้ทางการแพทย์ การเจ็บปวดนั้นอาจไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ทรมาน ไปพบแพทย์ กินยาแก้ปวดหลายขนาน ทำอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น เราพบว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำร้ายตนเองของผู้สูงอายุ

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม มีส่วนแค่ไหนกับการฆ่าตัวตาย ?

ถ้ามันจะเกี่ยวข้องก็คือมันนำมาซึ่งปัญหาด้านความสัมพันธ์มากกว่า ณ ตอนนี้ปัจจัยพวกนี้เรายังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกี่ยวข้อง แต่ทุกคนรู้โดยสามัญสำนึกว่ามันน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราบอกได้ก็คือว่าปัจจัยเหล่านี้อาจนำมาซึ่งปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือปัญหาในครอบครัว หรือปัญหาการทำงาน หรือปัญหากับคนรอบข้าง ซึ่งนำมาสู่การเป็นโรคทางจิตเวชหรือการทำร้ายตัวเอง

สิ่งที่ผมจำเป็นต้องบอกก็คือไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายใดก็ตาม ไม่สามารถอธิบายได้จากปัจจัยเดียว การฆ่าตัวตายทุกเหตุการณ์จะมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุและเป็นปัจจัยอันสลับซับซ้อนเสมอ เหมือนที่ในสื่อรายงานว่ารายนี้ฆ่าตัวตายสำเร็จน่าจะเกิดจากปัญหาด้านการเรียน น่าจะเกิดจากปัญหาการทะเลาะกับคนนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ การทำร้ายตนเองไม่สามารถอธิบายได้จากปัญหาเดียว

ถ้าเป็นคนวัยทำงาน ปัจจัยที่เราพบใหญ่ๆ คือปัญหาจากคนใกล้ชิด ปัญหาในครอบครัว ถัดมาเป็นปัจจัยการเป็นโรคซึมเศร้า ถัดมาคือปัจจัยด้านโรคจิตเภท ถัดมาอีกเป็นปัญหาด้านการดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม บางคนเราพบปัญหาการว่างงานซึ่งโยงอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม แต่แน่นอน ไม่มีใครที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเพราะปัจจัยเดียวคือว่างงาน คนคนหนึ่งจะมีหลายปัจจัยเสมอ แล้วถ้าเราไปสอบสวนทางจิตใจจริงๆ เราจะพบว่ามันเกี่ยวโยงกันอย่างสลับซับซ้อนมากๆ

ในแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย ปัญหาการฆ่าตัวตายก็มีลักษณะที่แตกต่างกันอีกด้วย ?

ถ้าเอาภาพรวม การฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอมาเป็นอันดับ 1 70-80 เปอร์เซ็นต์ คนไทยใช้วิธีแขวนคอ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีกินยากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงซึ่งถือว่าไม่น้อย ทีนี้ ทุกภูมิภาคในประเทศไทยแขวนคอมากที่สุด ตรงกัน แต่การกินยากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงเราพบว่าไม่เท่ากัน เราพบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนเป็นภาคที่คนฆ่าตัวตายโดยใช้ยากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ บางปีเราพบคนเสียชีวิตจากการกินกลุ่มนี้ 500-700 คน เรารู้ดีว่ายากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันมากก็คือตัวที่สังคมกำลังพูดถึงอยู่ว่าจะแบนหรือไม่แบน เราพบว่าสารเหล่านี้ค่อนข้างอันตราย ขนาดเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้

ผมอาจจะนอกเรื่องนิดหนึ่ง เราพบว่าประเทศที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก เช่นประเทศศรีลังกาซึ่งเคยติดอันดับ 1 ของโลก พอเขาห้ามนำเข้ายากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงบางตัว พบว่าอัตราฆ่าตัวตายลดลง จริงอยู่ว่ามันอาจอธิบายได้เป็นการชั่วคราวหรือจะนานกว่านั้นก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันลดจำนวนคนที่ไม่ควรจะตายลงไปได้มาก

แล้วถ้าดูตามสถานที่ กรุงเทพฯ มีคนภูมิลำเนาอื่นฆ่าตัวตายมาก ผมว่าโดยสามัญสำนึกเข้าใจได้ แล้วก็จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่หลักๆ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี จังหวัดที่มีการย้ายภูมิลำเนาเข้ามาทำงานมากๆ ก็สามารถเข้าใจได้ แต่พอไปดูอัตราการฆ่าตัวตายของจังหวัดนั้นๆ กลับไม่สูง เพราะหนึ่งก็คือจังหวัดนั้นอาจมีประชากรมาก พอคำนวณอัตราแล้วก็อาจดูไม่สูง สองก็คือการคิดอัตราฆ่าตัวตายในปัจจุบัน เรายังคิดตามทะเบียนบ้าน สมมติคนอุดรฯ มาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ได้ 3 เดือน ยังไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แล้วตัดสินใจฆ่าตัวตายที่กรุงเทพฯ บางทีเลขอาจไม่ได้ขึ้นที่กรุงเทพฯ ทำให้เราไม่สามารถคำนวณโดยใช้สถานที่ตายได้ทั้งหมด

ทางกระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์การฆ่าตัวตายอย่างไร ?

ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีมาตรการมาเรื่อยๆ ให้ความสำคัญมากพอสมควรกับเรื่องนี้ อย่างการเฝ้าระวังติดตามผู้ที่ทำร้ายตัวเองไม่ให้กลับมาทำร้ายตนเองซ้ำ นี่เป็นจุดเน้นของกระทรวง และการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิต ยังมีการพยายามมอนิเตอร์ตัวเลขการฆ่าตัวตายทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภออย่างใกล้ชิด โฟกัสพื้นที่เสี่ยง หรือการพยายามจำกัดการเข้าถึงวิธีการที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชันสบายใจ ซึ่งเป็นแอพฯ ที่สามารถประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายด้วยตนเองได้ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยน์

คนมักเข้าใจว่าการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า โดยข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?

ในปี 2561 เราพบเกี่ยวข้องกัน 10 เปอร์เซ็นต์ คงบอกได้ว่าอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ เท่าที่บอกได้ตอนนี้คือไม่สูงเท่าตัวเลขของต่างประเทศซึ่งอาจจะสัมพันธ์กันมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่ของประเทศไทยเราพบปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นโรคซึมเศร้าคงอธิบายการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดแน่นอน

คนไทยยังไม่ชอบไปพบจิตแพทย์ทั้งที่เขาอาจป่วยอยู่ ดังนั้น ตัวเลขการฆ่าตัวตายกับโรคซึมเศร้าจึงไม่สูง?

คือจริงๆ มันมีความบอบช้ำทางจิตใจบางอย่างที่ไม่ถึงระดับของโรคซึมเศร้า แต่มันอาจเพียงพอให้ตัดสินใจกระทำการได้ ซึ่งถ้าเป็นความเปราะบางทางจิตใจระดับนั้น เราเอาแบบประเมินโรคซึมเศร้าเข้าไปจับจะไม่เจอ คะแนนจะไม่ถึง สมมติไปหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็อาจยังไม่วินิจฉัย อาจวินิจฉัยว่าเป็นภาวะวิตกกังวลแบบรุนแรงหรือมีปัญหาบางอย่าง แต่ไม่ถึงระดับโรคซึมเศร้า ในบางพื้นที่เราพบว่าโรคซึมเศร้าเจอน้อย แต่โรคจิตเจอฆ่าตัวตายเยอะก็มี

อะไรคือสัญญาณของคนที่กำลังคิดฆ่าตัวตาย ?

สัญญาณอาจจะเป็นด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปกะทันหัน อารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ หรือแยกตัว เศร้าลงชัดเจน การพูดลดลง แต่ที่พบได้บ่อยๆ คือการพูดเปรยๆ ว่าอยากตาย ไม่อยากอยู่ในโลกนี้ หรือแม้แต่การพูดอ้อมๆ ว่าเหนื่อยมาก รู้สึกหมดหนทาง รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ในเวลานั้น อาจจะเป็นการเขียน พูด หรือโพสต์ ซึ่งในโลกโซเชียลเราจะเห็นได้เยอะ ผมลองเสิร์ชไป มีคอมเม้นต์เหล่านี้เกิดขึ้นมาในโซเชียล ส่วนมากการโพสต์แบบนี้จะไม่ได้รับการตอบสนองหรือตอบสนองในวิธีที่ไม่ถูก คนส่วนใหญ่ไม่กล้าถามว่ามีปัญหาอะไร หรือกำลังคิดอะไร ที่เจอน้อยแต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำคือการกระตุ้นหรือท้าทาย สิ่งนี้ห้ามทำ

คนที่คิดจะฆ่าตัวตายจะไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งใดอีกแล้วบนโลก อยากให้คุณหมอช่วยอธิบายเรื่องนี้และเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร ?

ตรงนี้สำคัญ ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่ามาตรการทางสาธารณสุขเพียงลำพังคงไม่พอ การป้องกันการฆ่าตัวตายต้องเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ซึ่งเรื่อง Connectedness เริ่มจากสมมติฐานว่าคนที่ฆ่าตัวตายไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ในเวลานั้นเขารู้สึกว่าเขาเชื่อมโยงกับใครไม่ได้ในโลกนี้ เขาอาจจะพยายามไม่เชื่อม เขาอาจจะไม่กล้าไปเชื่อม หรือเวลานั้นเขาอาจไม่กล้าพูดกับใครว่าเขาคิดแบบนี้ หรือเขาจะถูกกันออกไป หรือรู้สึกว่าตนเองถูกกันออกไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้นคือใครสักคนที่ยื่นมือไปหาเขา ให้เขายื่นมือไปจับได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีสัญญาณเตือนอยู่แล้วว่าเขากำลังคิดหรือจะทำอะไร บางคนสังเกตเห็นแต่ไม่ได้ฉุกใจ ถามไถ่ หรือไม่เอื้อมมือไปให้เขาจับ

ถ้าเรากล้าถามเขาว่าเขากำลังคิดอะไร ตรงนี้ยืนยันกับสังคมว่าไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายไม่มีใครกล้าบอกคนอื่นว่าตัวเองกำลังคิด เขาอาจกำลังรอใครสักคนมาถามเขา แล้วการถามเรื่องนี้จะกระตุ้นให้คนที่ไม่คิดหันกลับมาคิด ไม่ใช่ การถามไม่ได้เป็นการกระตุ้น อยากให้สังคมกล้าถามและฟังเขา ผมไม่ได้บอกให้แนะนำนะ แต่อยากให้สังคมเข้าไปนั่งฟัง อยู่ด้วย ให้ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาจะพูด โดยไม่ต้องแนะนำอะไรสักอย่าง แค่พยักหน้า เข้าใจ สบตา ให้เขารู้สึกว่าสามารถเชื่อมโยงกับใครได้อีกครั้งหนึ่ง มันเพียงพอที่จะช่วยคนที่คิดจะปลิดชีพตนเองให้กลับมาเชื่อมโยงกับโลกได้อีกครั้ง

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล