ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ห่วงปัญหา “ดวดเหล้า -ใช้สารเสพติด -อดนอน” ตัวการหลักก่ออาการผู้ป่วยจิตเวชกำเริบ เพิ่มป่วยรายใหม่ในช่วงสงกรานต์ เปิดสายด่วน 1323 บริการปรึกษา ให้ รพ.จิตเวชพร้อมรับมือ 24 ชม. และเตรียมจิตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องอีอาร์ รพ.จิตเวชทั่วประเทศ รับมือเทศกาลตลอด 24 ชั่วโมง           

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับเป็นเทศกาลแห่งความสุขของคนไทย มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงได้กลับไปเจอกันสังสรรค์กัน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงคือผู้ป่วยทางจิตเวช ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 600,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 กินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่องและอยู่ในครอบครัว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ต้องขอความร่วมมือญาติและครอบครัวเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคจิตเวชมีความเสี่ยงเข้าถึงสิ่งต้องห้ามอันตรายได้คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด สารเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า และมักจะมีการดื่ม เสพอย่างหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ อดนอน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการกำเริบ

เนื่องจากฤทธิ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดรวมทั้งกระแช่ สาโท อุ  และยาบ้า จะไปออกฤทธิ์โดยตรงที่สมอง มีผลทำให้ประสาทหลอน หลงผิด ควบคุมตนเองยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ขาดสติ เป็นตัวเร่งให้ทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำได้ง่ายขึ้นเช่นทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น  ขณะเดียวกันผลของการดื่ม เสพสารเสพติดอย่างหนักในช่วงนี้ จะทำให้มีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน 

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ได้รับรายงานที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น มีผู้ป่วยจิตเวช เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจากช่วงวันปกติประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จากวันละ 400 คน เป็น 600 -800 คน ส่วนที่เพิ่มนี้ประมาณร้อยละ 20  เป็นผู้ป่วยรายเก่าที่อาการกำเริบและผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดจากการใช้สุราและสารเสพติด ประมาณร้อยละ 80 เป็นวัยทำงานอายุ 30-50 ปี จึงต้องขอให้ญาติผู้ป่วยทุกคนช่วยกันดูแลให้กินยาต่อเนื่อง ชวนผู้ป่วยจิตเวชร่วมกิจกรรมสังสรรค์เช่นร้องเพลงไปเที่ยวได้ แต่อย่าชักชวนร่วมวงเหล้าหรือข้องเกี่ยวเสพสารเสพติด

ในส่วนของกรมสุขภาพจิตได้วางระบบบริการรับมือในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยเปิดสายด่วน 1323 บริการให้คำปรึกษาแก่ญาติฟรีตลอด 24 ชั่วโมง และให้โรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ที่มี 14 แห่งทั่วประเทศ จัดกำลังจิตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำการห้องอีอาร์จิตเวชฉุกเฉินพร้อมรับมือ 24 ชั่วโมงแล้ว       

ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ญาติควรดูแลให้ผู้ป่วยจิตเวชนอนหลับให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง อย่าให้อดนอนอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้สารเคมีสื่อประสาทในสมองเสียสมดุลย์และเป็นตัวก่อความเครียด กระตุ้นให้อาการกำเริบ สัญญาณเตือนอาการกำเริบของผู้ป่วยจิตเวช ได้แก่ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย มีความคิดแปลกๆ พฤติกรรมก้าวร้าว หวาดระแวง วิตกกังวล หวาดกลัว  หูแว่วได้ยินเสียงคนพูดทั้งๆที่ไม่มีคนพูด พูดคนเดียว หรือมีอาการซึมลง แยกตัวไม่สนใจคนอื่น ไม่ร่วมกิจกรรม บ่นเบื่อหน่ายในชีวิต อยากตาย ขอให้ญาติผู้ป่วยทุกคน ช่วยกันสอดส่อง ใส่ใจ พูดคุยรับฟังปัญหาจากผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ไม่ตำหนิซ้ำเติม และประคับประคองจิตใจ ให้กำลังใจ  หากอาการยังไม่สงบ ขอให้โทรปรึกษาที่สายด่วน 1323  หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที