ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขส่งข้อมูลเด็กที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนโปลิโอให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พร้อมประสานแพทย์ผู้ดูแลฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ชี้ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงหลังได้รับวัคซีนโปลิโอพบได้ 1 รายต่อผู้รับวัคซีน 5 - 6 ล้านราย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง หารือกับนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กรณีที่ผู้ปกครองเด็กที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากการได้รับวัคซีนโปลิโอ 4 ราย ว่า กระทรวงสาธารณสุขมิได้นิ่งนอนใจกรณีดังกล่าวโดยได้เร่งให้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพร้อมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีเด็ก 1 รายที่พิสูจน์ทราบแล้วว่าเสียชีวิตจากปอดบวม ส่วนอีก 1 รายติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งจนเป็นเหตุให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนเด็กอีก 2 รายจะได้มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและรอข้อสรุปจากคณะผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งขณะนี้ได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลรักษาเป็นไปตามแนวทางทางการแพทย์ เพื่อให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“ยืนยันเราจะทำความจริงให้กระจ่าง ด้วยคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางและเชื่อถือได้ แต่ละปีเราให้บริการวัคซีนพื้นฐานแก่เด็กทั่วประเทศปีละนับล้านราย กรณีที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ราย มี 2 รายผู้เชี่ยวชาญยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีนโปลิโอ ส่วนอีก 2 ราย ต้องรอผลตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขจะประสานการทำงานกับมูลนิธิฯเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีที่สุด” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายในเดือนเมษายน 2540 แต่จากสถานการณ์ทั่วโลกที่ยังมีการรายงานโรคโปลิโอต่อเนื่อง การนำเด็กมารับวัคซีนโปลิโอตามเวลาที่กำหนดนั้นเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่คุ้มค่า ป้องกันบุตรหลานให้ปลอดภัยจากโรคโปลิโอ ที่อาจจะแพร่ระบาดมาจากประเทศอื่นได้ ส่วนอาการผิดปกติที่พบได้หลังจากได้รับวัคซีนโปลิโอผู้รับวัคซีนชนิดฉีดบางรายอาจมีอาการบวมแดงหรือเจ็บที่ตำแหน่งฉีดวัคซีน ส่วนวัคซีนชนิดกินพบว่าบางครั้งทำให้เกิดโรคโปลิโอจากวัคซีนจนมีอาการอ่อนแรงสามารถพบได้ประมาณ 1 รายต่อผู้รับวัคซีน 5 - 6 ล้านราย กระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน (AFP) ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558