ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานแพทย์แผนไทยฯ กองทุนบัตรทอง เผย 12 ปี กองทุนแพทย์แผนไทยพัฒนาต่อเนื่อง ปัจจุบันมีหน่วยบริการปฐมภูมิแพทย์แผนไทยทั่วประเทศเกือบ 400 แห่ง ขณะที่ บอร์ด สปสช.จัดงบหนุนเพิ่มต่อเนื่อง จากปี 50 จำนวน 0.50 บาท ปี 62 เพิ่มเป็น 11.61 บาท รวมเพิ่มกว่า 535 ล้านบาท พร้อมลงพื้นที่ รพร.สว่างแดนเดิน 1 ใน 16 ต้นแบบหน่วยบริการแพทย์แผนไทย ดูแลผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤต ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานคณะทำงานพัฒนาประเภทและขอบเขต บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พร้อมคณะทำงานกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ สปสช. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดบริการหน่วยบริการต้นแบบการบริการการแพทย์แผนไทยในระดับพื้นที่ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดินและเครือข่าย ปีงบประมาณ 2562 โดยมี นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน (รพร.สว่างแดนดิน) ร่วมประชุมและนำเสนอข้อมูลทางด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของ รพร.สว่างแดนดินและเครือข่าย พร้อมลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลจาก รพ.เครือข่าย ที่ รพร.สว่างแดนดิน

รศ.ภญ.จิราพร กล่าวว่า การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นหนึ่งในทางเลือกด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยที่เป็นภูมิปัญญาไทยล้ำค่า สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต เพื่อสนับสนุนและพัฒนาต่อยอดการแพทย์แผนไทย ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 3 ได้กำหนดให้บริการการแพทย์และสาธารณสุข ให้รวมถึงบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 บอร์ด สปสช.มีมติให้จัดกองทุนชดเชยค่าบริการแพทย์แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ครอบคลุมทั้งการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ เน้นในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ โดยเป็นทางเลือกด้านสุขภาพร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 12 ปี ของการดำเนินงาน “กองทุนชดเชยค่าบริการแพทย์แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” ได้ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เครือข่ายวิชาชีพแพทย์แผนไทย และหน่วยบริการที่ร่วมจัดบริการการแพทย์แผนไทยฯ ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมการบริการและการพัฒนายาสมุนไพรที่หลากหลาย ปัจจุบันมียาสมุนไพรและยาแผนไทยที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมกว่า 74 รายการ ขณะที่หน่วยบริการได้มีการจัดตั้งคลินิกแพทย์แผนไทยเพื่อให้บริการเฉพาะ โดยในปี 2562 มีหน่วยบริการบริการปฐมภูมิแพทย์แผนไทย 397 แห่ง ที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ยั่งยืน

สำหรับในส่วนของงบบริการการแพทย์แผนไทย บอร์ด สปสช.ได้สนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 อยู่ที่ 563.95 ล้านบาท หรือ 11.61 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ จากปี 2550 ที่เริ่มต้นจำนวน 28.2 ล้านบาท หรือ 0.50 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ เพิ่มขึ้น 535 ล้านบาท หรือ 11.11 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ สำหรับในปีงบประมาณ 2563 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 14.8 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ

“รพร.สว่างแดนดิน เป็น 1 ใน 26 หน่วยบริการต้นแบบการบริการแพทย์แผนไทย โดยมีการจัดคลินิกเฉพาะโรคเพื่อดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ไมเกรน ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์-อัมพาต และสะเก็ดเงิน โดยเฉพาะการบริการดูแลผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤต หรือ Intermediate care: IMC โรคหลอดเลือดสมอง โดยการบูรณาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน นอกจากเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ของโรงพยาบาลแล้ว ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นับเป็นต้นแบบการบริการแพทย์แผนไทยไปยังหน่วยบริการอื่นๆ ต่อไป”

ด้าน นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า รพร.สว่างแดนดิน ได้จัดทำคลินิกคู่ขนานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ให้การรักษาโรคร่วมกัน แชร์ข้อมูลคนไข้ แบ่งปันการทำงาน และทำให้เกิดการยอมรับร่วมกัน โดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยดูแลโรคที่ไม่ซับซ้อนหรือไม่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มีการประเมินคนไข้ก่อนรักษาทุกครั้ง หากเข้าเกณฑ์คนไข้สามารถเลือกรับบริการได้ เนื่องจากศาสตร์การแพทย์แผนไทยเป็นการรักษาแบบองค์รวม การปรุงยาต้องทำเฉพาะบุคคล โดย รพร.สว่างแดนดิน มี 45 ตำรับยาทั่วไป ปรุงยาได้ 122 รายการ และมียาทดแทนแผนปัจจุบัน 9 รายการ เปิดคลินิก 4 กลุ่มโรคที่ใช้ศาสตร์แผนไทยรักษาคู่ขนานและมีประสิทธิผลดี ได้แก่ การฟื้นฟูผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง, หอบหืด, ภูมิแพ้, สะเก็ดเงิน และข้อเข่าเสื่อม

นายเที่ยง แร่ทอง

นายเที่ยง แร่ทอง อายุ 67 ปี ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า เมื่อพฤษภาคม 2561 นั่งๆ อยู่ แต่พอกำลังจะลุกขึ้น กลับล้มลง ลูกๆ จึงนำส่ง รพร.สว่างแดนดิน พบว่าเป็นภาวะหลอดเลือดตีบ ซีกขวาอ่อนแรง คุณหมอให้ยาละลายลิ่มเลือดทันทีและนอนเฝ้าระวังอาการที่ รพร.สว่างแดนดิน 3 คืนจนพ้นขีดอันตราย จากนั้นได้กลับมาดูแลต่อเนื่องที่บ้าน โดยทีมแพทย์จาก รพร.สว่างแดนดิน, รพ.สต.บ้านสร้างแป้น และภาคีในชุมชน จากเดิมที่เดินไม่ได้ เข้าห้องน้ำไม่ได้ และคิดว่าจากนี้คงทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่จากการฟื้นฟูโดยวิธีผสมผสานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย อาทิ การนวด ประคบ การฝึกกายภาพบำบัด ทำให้วันนี้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณคุณหมอและทีมแพทย์