ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนาถก “ทิศทางการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติระดับประเทศ” สธ.เผย จัดทำแผนการดูแลสุขภาพประชากรที่ไม่ใช่คนไทยแต่อยู่ในประเทศไทย ทั้งแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาจาก EEC นักท่องเที่ยวต่างชาติ ประชากรข้ามชาติตามแนวชายแดน คาดเข้าสู่การพิจารณาของสภาพัฒน์ ธ.ค.นี้ ก่อนเสนอเข้า ครม.ต่อไป

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 พร้อมทั้งจัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติระดับประเทศ” โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วรัญชัย จึงสำราญพงศ์ รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นายอำนาจ สังข์ศรีแก้ว จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน และนายวรพงศ์ จันทร์มานะเจริญ จากสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม และมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและแรงงานทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติมีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือช่วยเข้ามาทำงานที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ทำ ซึ่งมีผลต่อจีดีพีของประเทศถึงร้อยละ 6.2 ส่วนที่เข้ามาแล้วมีปัญหาก็มี แต่ก็ต้องแก้ไขไป อย่างความต้องการดูแลเรื่องสุขภาพนั้นไม่แบ่งชนชั้นวรรณะอยู่แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามาดูแลเรื่องการประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการซื้อประกันสุขภาพค่อยๆ ลดลง เพราะแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม คิดเป็นสัดส่วน 40 : 60 อย่างไรก็ตามจากการสอบถามพบว่าแรงงานข้ามชาติอยากซื้อประกันสุขภาพเองมากกว่าเพราะจ่ายเพียงปีละ 1,600 บาท ในขณะที่ประกันสังคมเขาต้องจ่ายถึงปีละประมาณ 5,000 บาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าจะส่งเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติแบบใดที่จะเหมาะสม ไม่เป็นภาระกับแรงงาน แต่ก็ไม่เป็นภาระกับประเทศไทยเกินไป ซึ่งมี 2 เรื่อง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรื่องแรกคือการจัดทำแผนการดูแลสุขภาพประชากรที่ไม่ใช่คนไทยแต่อยู่ในประเทศไทย คือ 1. แผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่กำลังจะเติบโตทางเศรษฐกิจและคาดว่ามีคนหลั่งไหลเข้าไป 8-9 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ 2.พัฒนาระบบสาธารณสุขทางทะเล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ 3. การดูแลประชากรข้ามชาติในจังหวัดชายแดน และ 4.การดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการทำงานถึงปี 2565 คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในต้นเดือนหน้า ก่อนส่งเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 การของบประมาณในการให้บริการสาธารณสุขบางอย่างฟรีกับคนที่ไม่ใช่ประชากรคนไทย โดยได้ตั้งของบประมาณ 80-90 ล้านบาท สำหรับ 1. การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 2.การรักษาโรควัณโรคให้หายขาด และ 3.การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งการดูแลดังกล่าวก็เพื่อสิทธิมนุษยชนและเพื่อป้องกันคนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้ติดโรคเหล่านี้ด้วย โดยตนได้ฝากให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ช่วยผลักดัน

ด้าน นายอำนาจ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในไทยแบ่งเป็นแรงงานมีฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งมีทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย กรณีที่มีการนำเข้าผ่านเอ็มโอยู หรือการนำเข้าตามกฎหมายนั้นยอมรับว่าเราดูเพียงแค่ว่ามีใบรับรองแพทย์หรือไม่ เป็นโรคต้องห้ามหรือไม่ หากผ่านตรงนี้ก็อนุญาตให้ทำงานในไทยได้ แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างกับแรงงานที่เข้ามาตามศูนย์แรกรับตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งการตรวจสุขภาพต้องใช้เวลา ดังนั้นจะสามารถทำอย่างไรให้ทราบผลได้เร็ว อย่างไรก็ตาม แรงงานที่เข้ามาจะทยอยเข้าสู่ระบบประกันสังคม ส่วนที่ยังไม่ได้สิทธิตรงนี้ก็ต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข แต่วันนี้ ก็ตอบได้ไม่เต็มปากว่าซื้อประกันสุขภาพ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ดังนั้นต้องมีการหารือและนำเสนอเรื่องระบบการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม