ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีแผนมอบทุนการศึกษา “ให้เปล่า” กับนักศึกษาพยาบาล อย่างน้อย 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 1.98 แสนบาท) ต่อคนต่อปี และหากเป็นสาขาที่รัฐบาลต้องการ เช่น ด้านจิตเวช อาจได้เงินเพิ่มอีก 3,000 ปอนด์ (ประมาณ 1.19 แสนบาท) ต่อคนต่อปี มีครอบครัว หรือเพิ่งแต่งงาน ก็จะได้ทุนสมทบอีกกว่า 1,000 ปอนด์ (3.9 หมื่นบาท) ต่อปี และหากอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนพยาบาลเป็นพิเศษ ก็จะมีทุนการศึกษาสมทบเพิ่มอีก

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประกาศนโยบายใหม่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน “พยาบาล” หลังจากหน่วยงานสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (National Health Service หรือ NHS) พบว่าจำนวนพยาบาลในอังกฤษ ยังขาดแคลนอีกมาก ทำให้ภาระงานของพยาบาลหนักเกินไป จนหลายคนลาออก ไปประกอบอาชีพอื่น

แผนใหม่ของนายกฯ จอห์นสัน ได้แก่การประกาศมอบทุนการศึกษาแบบ “ให้เปล่า” ไม่ต้องใช้คืน ให้กับนักศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ อย่างน้อย 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 1.98 แสนบาท) ต่อคนต่อปี และหากเป็นนักเรียนพยาบาล ในสาขาที่รัฐบาลต้องการ เช่น ด้านจิตเวช อาจได้เงินเพิ่มอีก 3,000 ปอนด์ (ประมาณ 1.19 แสนบาท) ต่อคนต่อปี

นอกจากนี้ หากนักเรียนพยาบาล มีครอบครัว หรือเพิ่งแต่งงาน ก็จะได้ทุนสมทบอีกกว่า 1,000 ปอนด์ (3.9 หมื่นบาท) ต่อปี และหากเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนพยาบาลเป็นพิเศษ ก็จะมีทุนการศึกษาสมทบเพิ่มอีก

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักเรียนพยาบาลมากกว่า 3.5 หมื่นคนทั่วอังกฤษ ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 เป็นต้นไป ให้กับนักเรียน - นักศึกษาทุกคน ที่ศึกษาในหลักสูตรการพยาบาล และการผดุงครรภ์ในอังกฤษ

“สิ่งสำคัญที่สุดที่คนอังกฤษบอกกับผมก็คือ ทุกคนต้องการเห็นระบบสุขภาพของเราดีขึ้น และรัฐบาลควรจะโฟกัสระบบหลักประกันสุขภาพ ให้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้น นโยบายของเราก็คือต้องทำทุกวิถีทางให้สถาบัน NHS แห่งนี้ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยมาตรฐานระดับโลกต่อไป” จอห์นสัน แถลง

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า ระบบสุขภาพอังกฤษที่เดินหน้ามาถึงทุกวันนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่อุทิศตัวอย่างหนัก เพื่อเป็นการตอบแทน รัฐบาลจึงได้เสริม “เขี้ยวเล็บ” โดยให้ทุนนักเรียนพยาบาลทุกคน เพื่อจูงใจให้พยาบาลเข้ามาในระบบมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายกฯ อังกฤษ คาดหวังว่า หลังจากเพิ่มงบประมาณส่วนนี้เข้าไป จะสามารถเพิ่มพยาบาลเข้าสู่ระบบได้มากกว่า 5 หมื่นคน โดยการให้ทุน เป็นส่วนหนึ่งของแพคเกจการ “อัดฉีด” งบประมาณ เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การสร้างสถานพยาบาลแห่งใหม่อีก 1.4 หมื่นแห่ง 2.การฝึกหัดพยาบาล เพิ่มขึ้นอีก 5,000 คน 3.การรับสมัครพยาบาลผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอีก 1.25 หมื่นคน และ 4.จูงใจให้บรรดาพยาบาลที่กำลังจะลาออก หรือลาออกไปแล้ว กลับมาทำงานใหม่อีก 1.85 หมื่นคน

ปัจจุบัน ตัวเลขจาก NHS ระบุว่า อังกฤษ ยังขาดแคลนพยาบาลอาชีพ มากกว่า 4.4 หมื่นคน เนื่องจากมีพยาบาล “เกษียณอายุ” เป็นจำนวนมาก โดยหากอังกฤษ สามารถขับเคลื่อนแพคเกจเหล่านี้ได้สำเร็จ รัฐบาลคาดว่าจะสามารถเพิ่มพยาบาลได้ 5 หมื่นคน ตามเป้าได้ภายในปี 2568 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

การให้ทุนนักเรียนพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ โดยหลังจากนี้ จอห์นสัน บอกว่าเตรียมพิจารณาหางบประมาณ เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้กับพยาบาลในระบบ และเฟสต่อไป ก็จะหาทางเพิ่ม “แรงจูงใจ” ให้กับบรรดาแพทย์ที่อยู่ในระบบ

ปัจจุบัน หมอในอังกฤษจำนวนไม่น้อย ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราค่อนข้างสูง โดยหากมีรายรับ หรือเงินบำนาญสูงเกินปีละ 1.1 แสนปอนด์ (ประมาณ 4.3 ล้านบาท) อาจถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้ ในอัตราสูงสุดถึง 90%

โดย รมว.คลัง และ รมว.สาธารณสุขอังกฤษ เตรียมเข้าพบ สมาพันธ์แพทย์อังกฤษ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนปฏิรูประบบ NHS ทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหา และอุดช่องโหว่เรื่องการขาดแคลนแพทย์ รวมถึงแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ต่อไป

แมทท์ แฮนด์ค็อก รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา NHS อยู่ข้างเราเสมอ เวลาที่เราต้องการ สิ่งที่ต้องขอบคุณเป็นอย่างมากก็คือ “ความทุ่มเท” ของเจ้าหน้าที่ - บุคลากรสาธารณสุข ทุกคน พร้อมกับบอกอีกว่า “ยาย” ของเขาเอง ก็ทำหน้าที่เป็นพยาบาล ทำให้ได้เห็นว่าพยาบาลนั้น ทำงานหนักเพียงใด เมื่อมีโอกาสตอบแทนการทำงานหนักของบุคลากรเหล่านี้ ก็จะตอบแทนผ่านการผลักดันนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขาอย่างเต็มที่

ขณะที่ รูธ เมย์ ประธานพยาบาลแห่งอังกฤษ กล่าวชื่นชมที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของวิชาชีพพยาบาลในอังกฤษ และเชื่อว่าการช่วยเหลือด้วยการให้ทุน รวมถึงอัดฉีดงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพบุคลากร จะสามารถช่วยให้วิชาชีพพยาบาล ไปจนถึงระบบสุขภาพ “แข็งแรง” มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนไข้ และระบบสุขภาพของอังกฤษในระยะยาว

ปัจจุบัน NHS ก่อตั้งขึ้นเป็นปีที่ 71 โดยเป็นรากฐานสำคัญของระบบ “รัฐสวัสดิการ” ในอังกฤษ ก่อนหน้านี้ มีความวิตกกังวลจากชาวอังกฤษจำนวนมากว่าหากอังกฤษ ถอนตัวจากสหภาพยุโรป อาจกระทบกับระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุข รวมถึงอาจทำให้ค่ารักษา ค่ายา สูงขึ้น เนื่องจากอาจไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการค้า – การลงทุน ในสหภาพยุโรปอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้ระบบ “ถดถอย” ลง หากออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงทำให้ระบบนี้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มค่าตอบแทน และแรงจูงใจ ให้กับบุคลากรสาธารณสุข ทุกคน ทุกสายอาชีพ

แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค

แหล่งที่มา

1.Student nurses to get bursary up to £8,000 (www.telegraph.co.uk)

2.Prime Minister backs NHS staff with £5,000 annual payment for nursing students (www.gov.uk)