ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สูติกรรม” ในสมัยอยุธยา

การคลอดบุตรของคนไทยสมัยนั้น ทำได้แต่การคลอดธรรมดา ถ้ามีการคลอดผิดปกติแม่จะอยู่ในระหว่างอันตรายมาก ในขณะที่คลอดจะมีการข่มหน้าท้องโดยใช้กำลังกดที่หน้าท้องให้เด็กออกเร็วขึ้น บางรายใช้เท้าเหยียบหรือใช้ไม้ทำเป็นรูปเท้าอันเล็ก ๆ กดจึงอันตรายมาก โรคที่น่ากลัวสำหรับแพทย์ในสมัยนั้นได้แก่ “สันนิบาตหน้าเพลิง” หมายถึงแม่เกิดการเจ็บป่วยในระยะที่อยู่ไฟเนื่องจากการติดเชื้อเมื่อเวลาคลอด หลังจากคลอดแล้ว แม่ต้องอยู่ไฟ คือ นอนบนกระดานไฟ วิธีการนี้ได้มาจากอินเดีย

โบราณเรียกช่วงเวลาในการอยู่ไฟว่า "เขตเรือนไฟ" ผู้หญิงไทยสมัยโบราณนิยมอยู่ไฟ 7 วันหลังคลอดท้องแรก แต่หลังคลอดท้องที่ 2, 3 และ 4 อาจอยู่ไฟนานขึ้น 8 - 20 วัน ทั้งนี้ระยะเวลาของการอยู่ไฟ จำนวนวัน นิยมเป็นเลขคี่ เพราะถือเป็นเลขสิริมงคลกับมารดาหลังคลอด หลังคลอด 2 - 3 วัน จะมีน้ำเหลืองออกจากแผลรก ซึ่งโบราณเรียกว่า "น้ำคาวปลา" เพราะมีกลิ่นคาวจัด น้ำคาวปลาจะออกมาก ราว 10 วัน หลังจากนั้น ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเมื่อแผลรกหายก็หยุดไป บางคนอาจมีน้ำคาวปลาอยู่นานถึง 1 เดือน ดังนั้นหลังคลอด แพทย์แผนไทยมักให้มารดากินยาขับน้ำคาวปลาและยาระบายเพื่อขับล้างเอาของเสีย และสิ่งเน่าเสียอันเกิดจากการคลอดบุตรออกไปจากร่างกายของมารดาหลังคลอด นอกจากนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องดูแลสุขอนามัยช่องคลอดให้สะอาด ไม่ให้น้ำคาวปลาหมักหมมจนทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่เรียกว่า "สันนิบาตหน้าเพลิง" ซึ่งหมายถึง ไข้ที่เกิดในเขตเรือนไฟ

วิธีการรักษาพยาบาลให้คนเจ็บระหว่างอยู่ไฟ เช่น การทำมดลูกให้เข้าอู่เร็ว การเข้ากระโจม การประคบตัว การนาบหม้อเกลือ การนั่งถ่าง การทำให้มารดามีน้ำนม เป็นต้น

ในสมัยอยุธยา เด็กเกิดใหม่ ๆ จะนำไปอาบน้ำที่แม่น้ำแล้วนำกลับมาให้กินนมนอนในเตียงเล็ก ๆโดยไม่สวมเสื้อหรือห่มผ้าอ้อมให้เลย เป็นเช่นนี้ไปจนอายุหกเดือนก็จะเริ่มให้กินข้าว เด็ก ๆ จะตายเสียมากเมื่ออายุไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือนในจำนวนเด็ก 10-12 คน จะรอดตายได้ราว 2-3 คนเท่านั้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย จ.นนทบุรี แสดงให้เห็นหญิงกำลังคลอด โดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด (ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน)

การประสูติของพระมเหสี

ในกฎมณเฑียรบาลได้กำหนดเกี่ยวกับการประสูติของพระอัครมเหสีในสมัยอยุธยาไว้เป็นการแน่นอน นับตั้งแต่รู้แน่ว่าพระองค์ทรงพระครรภ์ก็จัดพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของพระราชโอรสธิดาในพระครรภ์และพระมารดาเป็นระยะ จนกระทั่งประสูติ เมื่อประสูติแล้วก็มีพิธีสังเวยพระเสื้อเมือง 7 วัน สมโภช ปลูกเรือนไฟ และพิธีสมภพสนาม

ในการเลี้ยงทารกจะมีการคัดเลือกแม่นมและพี่เลี้ยงเตรียมไว้ การเลือกแม่นมนั้นจะทำตามตำราโบราณที่เรียกว่า “คัมภีร์ปฐมจินดา” ซึ่งได้แจกแจงลักษณะของสตรีที่ดีเหมาะสมกับการเป็นแม่นมและลักษณะไม่ดีต่อการเป็นแม่นม เช่น แม่นมที่มีลักษณะกลิ่นตัวหรือผิวกายอย่างใด จะให้น้ำนมชนิดใด และมีรสอย่างใด และน้ำนมรสอย่างนั้นจะให้คุณและโทษแก่เด็กทารกอย่างไรบ้าง จำนวนแม่นมและพี่เลี้ยงนั้นมีอยู่ไม่น้อย คือ แม่นมเอก แม่นมโท แม่นมตรี ป้าเลี้ยง ยายเลี้ยง พี่เลี้ยงอุ้มยืน พี่เลี้ยงอุ้มเสด็จ และพี่เลี้ยงกลางเรือน ซึ่งแต่ละประเภทมีจำนวนหลายคน นอกจากนี้ ยังมีหมอต่างๆ และพนักงานอื่นๆ อีก 2-3 ตำแหน่งๆ ละหลายคน เช่น หมอ หมอสะเดาะเคราะห์ และคนช้า(เห่กล่อม) เป็นต้น

เก็บความจาก

1.ยุวดี ตปนียากร. (2522). วิวัฒนาการของการแพทย์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

2.สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน