ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตประธานบอร์ด HA แนะศึกษาแนวทางญี่ปุ่น จัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือครอบครัวที่มีทารกสมองพิการจากการคลอด” ซื้อประกันคุ้มครองการคลอดไม่ปกติ สนับสนุนครอบครัวคนไข้ระยะยาวในการเลี้ยงดู ทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการทำคลอดที่มีภาวะไม่ปกติ ช่วยลดการฟ้องร้อง สร้างความมั่นใจคนไข้และหมอสูติ หลังจำนวนนักศึกษาเลือกเรียนหมอสูติลดลง ขณะที่หมอสูติในระบบหันมาบริการด้านเทคโนโลยีเจริญพันธุ์แทน

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) กล่าวว่า เกือบทุกประเทศหมอสูตินรีแพทย์เป็นหมอที่ถูกผู้ป่วยฟ้องร้องมากที่สุด จนหาหมอรุ่นใหม่มาเป็นหมอสูติฯ กันยากมาก เกือบทุกครั้งการคลอดที่มารดาเสียชีวิตหรือเด็กทารกพิการมักจะมีการร้องเรียนและตามมาด้วยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนประเทศอื่น แต่เมื่อมีนโยบายเพิ่มประชากรประเทศก็ต้องหาวิธีพลิกระบบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิงและหมอสูติฯ

ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือครอบครัวที่มีทารกสมองพิการจากการคลอด” ตั้งแต่ปี 2547 โดยให้สภาคุณภาพการดูแลสุขภาพแห่งญี่ปุ่น (Japan Council for Quality Health Care : JQ) ซึ่งคือ สรพ.ในประเทศไทย เป็นหน่วยประสานหญิงตั้งครรภ์แต่ละราย โดยรัฐบาลเพิ่มเงินช่วยการคลอดจากเดิมอีกจำนวนหนึ่งเพื่อจ่ายให้สถานพยาบาลในการซื้อประกันกรณีทารกสมองพิการจากการคลอด ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะมีการจ่ายเงินชดเชยก้อนแรกเพื่อช่วยครอบครัวในการเตรียมการดูแลเด็กสมองพิการอย่างรวดเร็ว ไม่รอว่าหมอผิดหรือไม่ผิด โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลดูแลเด็กเป็นรายปี ต่อเนื่อง 20 งวด ขณะเดียวกันสภาคุณภาพการดูแลสุขภาพแห่งญี่ปุ่น จะทบทวนปัญหาการคลอดเพื่อดูว่ามีปัญหาทางคุณภาพหรือไม่ และให้ดำเนินการแก้ไขตามหลักเกณฑ์ที่มี โดยการจัดตั้งกองทุนนี้ทำให้ญาติผู้ป่วยและหมอไม่ต้องขัดแย้งฟ้องร้องกันโดยตรง ซึ่งจากการประเมินระบบแล้วเป็นที่ชื่นชมของหลายประเทศ

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ส่วนประเทศไทยจะเดินตามแนวทางนี้หรือไม่นั้น ก่อนอื่นทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเห็นปัญหาการฟ้องร้องในระบบสุขภาพก่อน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการคลอดที่ไม่ปกติ หากรัฐบาลมีนโยบายการเพิ่มประชากรจะต้องมีนโยบายส่งเสริมการคลอดควบคู่ และทำให้ระบบการคลอดมีความมั่นใจมากขึ้นทั้งกับคนไข้และหมอสูติเองที่ถูกฟ้องร้องมากที่สุด ซึ่งการคลอดไม่ว่าจะทำให้ดีที่สุดอย่างไร โอกาสการคลอดไม่ปกติย่อมเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่มากก็ตาม ทั้งการหาสาเหตุว่าเป็นความผิดยังเป็นเรื่องที่ยากมากและทำให้เกิดความขัดแย้ง จนคนไข้ปะทะกับหมอโดยตรงได้ ดังนั้นจึงต้องมีระบบที่ win win ทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ประเทศไทยมีจุดแข็งหลายเรื่อง สังคมไทยเป็นสังคมชาวพุทธ มีความเข้าใจและเกื้อกูลกัน มีระบบสวัสดิการสังคมดูแลช่วยเหลือในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ยังดีอยู่มาก เพียงแต่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรขึ้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ภาพใหญ่ดูเหมือนจะแย่ไปหมด แต่หากมีระบบการดูแลมีความชัดเจน อย่างการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวที่มีทารกสมองพิการจากการคลอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่น จะยิ่งทำให้คนไข้และหมอสูติมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมกับไทยนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และมานั่งคุยกัน

สำหรับรูปแบบกองทุนนี้ของญี่ปุ่น นอกจากรัฐบาลสนับสนุนเงินดูแลหญิงตั้งท้องแล้ว ยังสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งไปยังสถานพยาบาลเพื่อทำประกันการทำคลอดเฉพาะ โดยเป็นการทำประกันในรูปแบบเพื่อสังคมไม่เอากำไร ที่มีหน่วยงานกลางดูแล และเมื่อเกิดเหตุขึ้นจะดำเนินการเหมือนประกันภัยอุบัติเหตุคือจ่ายก่อนโดยไม่ต้องมาฟ้องเรียกคืนจากหมอ เพียงแต่หน่วยงานกลางจะตรวจสอบปัญหาเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการคลอด ซึ่งในกรณีที่เกิดจากหมอจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิชาชีพที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการดูแลระยะยาว โดยให้บริษัทประกันเป็นผู้จ่ายชดเชยในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนการดูแลเด็กสมองพิการจากการคลอดอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดภาระครอบครัวที่ดูแล

“ผมมองว่าระบบแบบนี้บ้านเราพัฒนาได้ ขณะนี้คนไข้เรียกร้องให้มีกองทุนชดเชยผู้ป่วยและเป็นเรื่องทะเลาะกับหมอ เพราะกลัวว่าอาจทำให้หมอถูกฟ้องร้องมากขึ้น แต่จากรูปแบบของญี่ปุ่น มองว่าเราน่าจะทำเฉพาะในเรื่องปัญหาการคลอดก่อน เพราะปัญหาค่อนข้างชัดเจน ทำให้การถกเถียงน้อยกว่า และเมื่อสำเร็จด้วยดีจึงขยายไปยังเรื่องอื่นต่อไป ซึ่งการจัดตั้งกองทุนฯ ของไทยอาจไม่ต้องใช้เงินเท่าญี่ปุ่น และเชื่อว่าการจ่ายเงินสำหรับการดูแลตรงนี้ สังคมไทยยอมรับได้ แต่ละปีไทยมีเด็กคลอดประมาณ 6 แสนคน หากการคลอดแม่เสียชีวิต 10 ต่อแสนราย หรือประมาณ 50-60 รายต่อปีก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว รวมถึงเด็กพิการทางสมองจากการคลอดที่ไม่ปกติก็มีจำนวนหนึ่ง ครอบครัวดูแลมีภาระหนักและจะดูแลอย่างไร จึงควรมีกองทุนเฉพาะที่รองรับและช่วยดูแลระยะยาว แตกต่างจากการเยียวยาตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ต่อข้อซักถามว่าที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อปัญหาการคลอดมากน้อยแค่ไหน นพ.ศุภชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการเพิ่มประชากรอยู่แล้ว จึงต้องมีแนวทางสำหรับการรองรับปัญหา และต้องมองเห็นปัญหาด้วยว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้หญิงไม่อยากตั้งท้องเป็นเพราะกลัวความเสี่ยงจากการคลอดนี้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดให้ลดลง ขณะเดียวกันต้องมีระบบเพื่อรองรับปัญหาด้วยเช่นกัน เป็นการสร้างความมั่นใจและเพิ่มแรงจูงใจในการตั้งท้องมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางช่วยแก้ปัญหาจำนวนหมอสูติที่ลดลง กองทุนฯ นี้จะทำให้หมอสูติมั่นใจมากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงจากการถูกฟ้อง และยังไม่ต้องซื้อประกันเพื่อป้องกันการถูกฟ้องเองด้วย ซึ่งในสหรัฐฯ หมอสูติต่างซื้อประกันกันเองจนซื้อไม่ไหวแล้ว เพราะเบี้ยประกันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

“ขณะนี้เราหาคนมาเรียนหมอสูติยากขึ้น จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่มาเรียนลดลง คนไม่อยากเป็นหมอสูติกันแล้ว ซึ่งเป็นแบบนี้ทั่วโลกรวมทั้งในไทย ทั้งหมอสูติจำนวนหนึ่งยังเลือกที่จะไปเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ช่วยการตั้งครรภ์มากกว่า เพราะเลี่ยงความเสี่ยงในการถูกฟ้อง”

นพ.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวที่มีทารกสมองพิการจากการคลอดได้เคยนำเสนอในหลายเวทีหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการตอบรับ ส่วนหนึ่งอาจยังไม่เข้าใจรูปแบบ และเรื่องนี้ต้องมีงบประมาณตั้งต้น ซึ่งน่าจะเรียนรู้จากประสบการณ์ดำเนินการในญี่ปุ่นได้ เพราะเป็นแนวทางที่เอื้อผลดีกับทุกฝ่าย