ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอศุภชัย’ ชี้ ทรัมป์ล้มโอบามาแคร์ มีทั้งข้อดีข้อเสีย เชื่อ คนอเมริกันไม่พอใจ แนะ คสช.ดูบทเรียนอเมริกา ใช้โอกาสนี้เร่งผ่าตัดปัญหาระบบสาธารณสุข 3 เรื่อง งบบัตรทองไม่พอ หย่าศึก สปสช. -สธ. และสร้างประสิทธิภาพโรงพยาบาลรัฐ

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า วันแรกที่โดนัล ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็เริ่มลงนามเพื่อนำไปสู่การยกเลิก นโยบายโอบามาร์แคร์ ผลงานชิ้นเอกของอดีตประธานาธิบดีโอบามาที่ช่วยให้คนอเมริกันเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพถึง 40 ล้านคน ซึ่งโอบามาร์แคร์ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์ทั้งข้อดีข้อเสีย เช่น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น บริษัทประกัน บริษัทยา ต้องอยู่ในกรอบของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ดี โอบามาร์แคร์ก็มีส่วนที่ประชาชนไม่ชอบ คือ บังคับให้ประชาชนต้องเข้าระบบประกันสุขภาพ ถ้าไม่เข้าก็จะมีมาตรการลงโทษทางภาษี ซึ่งชาวอเมริกันก็ไม่ได้อยากซื้อประกันทุกคน

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า หากมีการล้มโอบามาร์แคร์ ก็จะทำให้คนจำนวนมากในอเมริกากลับไปสู่สถานะเดิมคือ ไม่มีหลักประกันสุขภาพ แต่ประชาชนอีกส่วนก็เชื่อว่า โดนัลทรัมป์คงไม่โง่พอที่จะกระทำขนาดนั้น เพียงแต่อาจปรับแก้ในบางจุด 

“ทั้งหมดเห็นว่า นี่เป็นความเด็ดขาดของผู้นำที่จะปรับเปลี่ยน ซึ่งการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้กลายเป็นวาระทางการเมืองที่นำมาหาเสียงทั่วโลก ก็เหมือนในประเทศไทย ทุกรัฐบาลก็พยายามแก้ แต่การแก้เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ” นพ.ศุภชัย กล่าว

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า การจัดการระบบโอบามาร์แคร์ก็เหมือนกับเมืองไทย แต่วิธีการทำระบบตรงนี้ต่างกัน ทั้งนี้ระบบสาธารณสุขในไทยถึงเวลาที่รัฐบาลต้องใช้ความกล้าหาญในการแก้ไข ไม่ควรซุกปัญหาเข้าพรมอีก ก็จะทะเลาะกันไม่จบสิ้น และทุกฝ่ายก็เห็นด้วยว่า ต้องรีบแก้ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่จะดูแลระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนมีไม่เพียงพอ รัฐก็ต้องหาเงินมามากขึ้นหรือไม่ก็ให้ประชาชนที่ดูแลตัวเองได้ มาร่วมจ่าย

“สิ่งที่น่าเรียนรู้คือ ในเมืองไทย ระบบสาธารณสุขปัจจุบันมีปัญหาความขัดแย้งมาก รัฐบาลก็ใช้วิธีเตะถ่วงไม่กล้าเข้ามาแก้เพราะกลัวว่า ความขัดแย้งจะบานปลายหมอจะทะเลาะกัน บรรยากาศขณะนี้อยู่ในสถานะที่แก้ไขบางอย่างได้ เพื่อให้ขับเคลื่อน” นพ.ศุภชัย กล่าว

รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอ 3 ประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้

1. งบประมาณบัตรทอง ต้องยอมรับว่า เงินมีไม่พอภายใต้การบริหารจัดการอย่างนี้ ในอดีต โรงพยาบาลมีเงินบำรุง ที่สามารถหาเงินมาได้ แต่เมื่อเงินไม่พอ และก็ไม่มั่นคง เพราะทุกปีต้องต่อรองงบประมาณกับภาครัฐ ซึ่งก็ไม่รู้จะได้มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น วิธีแก้ถ้าจะหาเงินจากแหล่งรัฐบาลอย่างเดียว ก็ต้องดูว่าเอามาจากไหน ถ้ารัฐบอกว่า จะเอาเงินจากภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้า บุหรี่ มาใส่งบประมาณส่วนนี้ก็ควรบอกแหล่งที่มาใหชัด มันต้องมีวิธีหาเงินมา ไม่เช่นนั้นก็ต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายเหมือนระบบทั่วโลก เพราะเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลขณะนี้จะมีสถานะทางการเงินขึ้นได้

2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ต้องมาหารือกันให้มากและปรับการบริหารงาน จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลรัฐไม่มีปัญหากับประกันสังคม แต่กลับมีปัญหากับ สปสช. ดังนั้น ถ้าปรับการทำงานกันคนละครื่งในส่วนที่เห็นด้วยกัน ถอยกันคนละก้าวก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ปัจจุบันมันเป็นเรื่องศักด์ศรีของคน ไม่ได้เป็นเรื่องของเหตุผลที่ว่าทำได้ไม่ได้ คนที่มีศักดิ์ศรีก็มีกันไม่กี่คน ขณะนี้ 2 ฝ่ายสู้กันเชิงทิฐิมากกว่า

ประเด็นที่สาม ต้องกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพของโรงพยาบาลรัฐ ขณะนี้ผู้บริหารทำงานง่าย บอกแค่ว่า ไม่มีเงิน ซึ่งทางออกต้องปรับระบบการบริหารจัดการของโรงพยาบาลรัฐให้ตอบสนองกับท้องถิ่น ให้เขามีความสามารถในการหาเงินได้ ไม่ใช่ให้รงพยาบาลรัฐทั้งหมดมาขึ้นกับส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข มันหมดสมัยแล้ว

"ขณะนี้ผมกลัวว่า รัฐบาลนี้จะเตะปัญหาเหล่านี้ออกไปอีก ไว้รอรัฐบาลหน้า ถ้าตอนนี้ไม่ได้ทำก็ไม่ได้ทำแล้ว แต่ผลสุดท้ายคือความล่มจมของระบบรัฐ คือ ความรุ่งเรืองของระบบเอกชนและความยุ่งยากของคนจน” นพ.ศุภชัย กล่าว