ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิการบดีฝ่ายแพทย์ ม.รังสิต ชี้ล้างไตหน้าท้องของไทย ได้มาตรฐาน สากลยอมรับ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี แนะจะใช้วิธีการใดต้องดูผลประโยชน์ที่ได้กับคนไข้โรคไตทั้งประเทศด้วย ระบุแม้จะมีเสียงวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการล้างไตหน้าท้องที่ให้เป็น PD first แต่ก็ควรชี้แนะด้วยการให้เกียรติกัน ไม่ใช่ทำสงครามศักดิ์ศรีทำลายล้างเอาชนะกัน

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานกรรมการสนับสนุนบริการทดแทนไตของ สปสช. กล่าวว่า ในช่วงหลังมานี้มีผู้วิจารณ์นโยบาย PD first ที่ให้การล้างไตทางหน้าท้องของ สปสช.เป็นทางเลือกแรก ส่วนตัวเห็นว่า การล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีการรักษาที่ได้มาตรฐาน สากลยอมรับ มีใช้อยู่แล้วในกว่า 60 ประเทศ ทำแล้วผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน

ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อน้ำยาล้างไตและใช้บริการไปรษณีย์ไทยส่งให้ถึงบ้านผู้ป่วยในราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่นเพราะซื้อจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อหมอสอนคนไข้และญาติถึงวิธีการล้างไตทางช่องท้องก็สามารถที่จะเอาไปทำเองที่บ้านได้ แต่ต้องมีกระบวนการสนับสนุน และติดตามผล ขณะที่เมื่อเทียบกับการฟอกเลือดแล้วคนไข้จะต้องเข้าคิวรอเครื่องกันอุตลุด โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลก็ต้องไปซื้อเครื่องราคาหลายแสนบาท และต้องใช้พยาบาลกับหมอที่ทำโดยตรง ฉะนั้นก็มีความไม่สะดวกของมันอยู่ ที่สำคัญคนไข้ต้องอยู่ใกล้สถานที่ที่มีเครื่องฟอกไต   

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า แม้ว่า สปสช.จะมีนโยบาย PD first ล้างไตทางช่องท้องแต่ผู้ป่วยที่มีเงื่อนไขไม่สามารถล้างไตทางช่องท้อง ก็สามารถล้างไตด้วยการฟอกเลือดได้

"การเอาของเสียออกจากร่างกาย การล้างไตทางช่องท้องจะเอาของเสียออกได้ช้ากว่า แต่ว่ามันราบเรียบกว่า ฉะนั้นในคนแก่ที่เป็นเบาหวานหรือคนที่มีหลายโรคอันนี้จะสะดวกกว่า คุณภาพชีวิตก็ดีกว่า สรุปเทคนิคก็เท่าๆ กันแต่ถ้าเรามองสภาพประเทศไทย การล้างไตทางช่องท้อง ถ้าเราสอนชาวบ้านได้ดี มี อสม. มีพยาบาลที่สามารถให้คำแนะนำคนไข้ได้ ความปลอดภัยและผลที่ได้จะใกล้เคียงกัน และชาวบ้านเข้าถึงได้มากกว่า" นพ.ศุภชัย กล่าว

นพ.ศุภชัย กล่าวว่า คนไข้โรคไตแต่ละปี มีหลายหมื่นคนทั่วประเทศ ฉะนั้นจะใช้แนวทางใดในการรักษา ต้องมองภาพรวม ไม่มองการรักษาคนต่อคนวิธีฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องก็เหมาะกับแต่ละคน แล้วแต่ปัจจัยที่ต่างกัน บางคนอาจไม่ชอบดูแลตัวเอง สะดวกที่จะไปนอนโรงพยาบาล ไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 3 วัน แต่บางคนที่อยากใช้ชีวิตอิสระ ไม่ต้องมาหมอ ทำงานที่บ้าน ก็จะสะดวกล้างไตช่องท้อง เพราะผลที่ได้ มันก็ใกล้เคียงกัน อยู่ที่แต่ละคนเท่านั้น

นพ.ศุภชัย เสนอทางออกว่า แม้จะมีเสียงวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการล้างไตหน้าท้องที่ให้เป็น PD first  แต่ก็ควรชี้แนะด้วยการให้เกียรติกัน ไม่ใช่ทำสงครามศักดิ์ศรีทำลายล้างเอาชนะกัน ส่วนตัวเข้าใจความรู้สึกของหมอเพราะหมอส่วนใหญ่ดูแลคนไข้ด้วยวิธีล้างไตฟอกเลือดอยู่แต่ในโรงพยาบาล ถ้ามองในเชิงเทคโนโลยีก็มีความง่าย ความสะดวกตรงนี้ แต่อยากให้หมอมองไปถึงสภาพหมู่บ้าน ความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ คนไข้ที่เป็นโรคไตมีจำนวนมาก ก็คงเข้าใจว่า ทางเลือกที่เหมาะและเป็นธรรมสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในขณะนี้ควรเป็นแบบไหน คิดในแง่ดีทุกคนหวังดีต่อคนไข้ ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์ แต่การล้างไตฟอกเลือดต้องใช้หมอ พยาบาลจำนวนมากซึ่งปัจจุบันเกินวิสัยที่จะพัฒนาครอบคลุมได้เร็ว ในอนาคตก็ต้องปรับว่า ต้องเพิ่มทางเลือกของกลุ่มที่สะดวกล้างไตทางฟอกเลือดขึ้นมาอย่างไร เพื่อพัฒนาให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น