ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคแถลงโรคปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา เผยวันนี้ผู้ติดเชื้อในไทยรักษาหายแล้วอีก 1 คน และมีการประชุม "สสจ.-รพ." เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคมี 202 คน เป็นคนขับแท็กซี่ 2 คน คาดอีก 1-2 วันรู้ผลตรวจ แนะประชาชนป้องกันเบื้องต้นด้วยการใส่หน้ากาก ถ้าไม่ป่วยใช้หน้ากากผ้า แต่ถ้ามีอาการไอจามให้ใช้หน้ากากอนามัย

รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาหายแล้วอีก 1 คน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้า สถานการณ์โรคปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 30 ม.ค. 2563 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายและได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 คน ทำให้ตัวเลขโดยรวมตอนนี้มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษา 8 คน และ ผู้ที่อาการกลับมาเป็นปกติกลับบ้านได้แล้ว 6 คน เป็นคนจีน 5 คน และคนไทย 1 คน

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้มีจำนวนเที่ยวบินที่ได้รับการคัดกรองเพิ่มในประเทศไทย โดยขยายการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศจีนทุกเที่ยวบิน ซึ่งการคัดกรองที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้เร็วขึ้น

"เที่ยวบินที่มาจากประเทศจีนจากเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 24-29 ม.ค. 2563 รวม 92 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารและลูกเรือที่ได้รับการคัดกรอง 6,953 คน ซึ่งขณะนี้สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอื่น ๆ ที่เป็นสนามบินนานาชาติ ได้ปรับการทำงานมีผู้ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง" นพ.โสภณ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ระดับโลกมีรายงานประเทศต่าง ๆ พบผู้ป่วยรวมแล้ว 17 ประเทศ รวมจำนวนผู้ป่วย 6,066 ราย โดยประเทศจีนมีรายงานจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 5,974 ราย เสียชีวิต 132 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในต่างประเทศเพราะการรักษาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อย และในไทยทั้ง 14 รายก็เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และผลการรักษาก็ค่อนข้างดี

เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า เมื่อเช้าวันนี้ได้มีการประชุมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเตรียมความพร้อมให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับพื้นที่คือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อที่ทุกหน่วยงานจะได้ระดมกำลัง เตรียมความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในพื้นที่ที่มีสถานที่ท่องเที่ยว มีที่พักอาศัยที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว จะเริ่มวางระบบการเฝ้าระวัง ซึ่งก่อนนี้เน้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว แต่ตอนนี้จะครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เป็นการเตรียมความพร้อมในระดับสูงสุดตามนโยบายรัฐบาลและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

"ในส่วนการเฝ้าระวัง เราเริ่มต้นจากที่สนามบิน ขยับมาที่โรงพยาบาล และขณะนี้ขยายไปที่ชุมชน เมื่อไหร่ก็ตามที่พบผู้ที่มีอาการตามเกณฑ์สอบสวน คือมีไข้บวกกับมีอาการในระบบทางเดินหายใจและเดินทางมาไม่เกิน 14 วัน จะรีบแจ้งทันที นอกจากนี้เรายังมีชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของไกด์ทัวร์เพื่อติดตามอย่างรวดเร็ว โรงแรมต่าง ๆ ก็รับรู้แล้วเพื่อจะได้ช่วยเฝ้าระวัง ส่วนมาตรการป้องกันเชิงรุก มีการกระจายคำแนะนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมไปยังหน่วยงานต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ในส่วนของระบบการรักษาพยาบาลนั้น ขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการหนัก แต่หากระยะต่อไปพบผู้ป่วยมากขึ้นและมีผู้ป่วยที่อาการมากก็จะมีสถานพยาบาลที่เพียงพอในการบริการ ถ้าเป็นในต่างจังหวัดจะมีโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลเอกชนที่สามารถเข้ามาร่วมดำเนินการได้ ถือเป็นช่วงการเตรียมการให้ระบบของเอกชนและรัฐบูรณาการร่วมมือกันเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ในอนาคต ถ้าหากเกิดเหตุขึ้นจะได้ไม่ฉุกละหุก" นพ.โสภณ กล่าว

นักศึกษาไทยในอู่ฮั่นดูอาการที่บ้านได้

สำหรับการเตรียมการดูแลนักศึกษาไทยในเมืองอู่ฮั่นนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยในเมืองอู่ฮั่นประมาณ 60 คน ยังไม่มีใครป่วย และกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าร่วมในกลุ่ม We Chat ของนักศึกษาเพื่อให้คำแนะนำด้านสุขภาพแล้ว ซึ่งหลังจากที่ทางการจีนประกาศปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2563 นักศึกษาไทยก็อยู่แต่ในที่พัก อีกทั้งอยู่ในวัยที่ร่างกายแข็งแรง โอกาสที่จะได้รับเชื้อก็มีน้อย ทั้งนี้หากทางการจีนอนุญาตให้ไปรับตัวได้ ก็จะมีทีมแพทย์ติดตามไปกับเครื่องบิน มีการตรวจสอบ ณ วันนั้นว่ามีอาการป่วยหรือไม่ มีการแจกหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันน้ำลายกระเด็น และถ้ามีอาการก็จะแยกที่นั่งและได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

"เมื่อกลับมาจากจีน เราก็ต้องให้อยู่ในสถานที่ที่สามารถวัดไข้ได้ครบ 14 วัน ซึ่งถ้าไม่ป่วยเลยก็สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อจะได้สังเกตอาการจนครบระยะเฝ้าระวังได้ อย่าเพิ่งออกไปไหน ไม่มีความจำเป็นต้องเอาผู้ที่ไม่ป่วยมาอยู่โรงพยาบาล เพราะอยู่จีนก็อยู่คนเดียวตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2563 จากวันนั้นถึงวันที่สามารถกลับถึงไทยก็เป็นระยะเวลาที่เชื้อฟักตัว ซึ่งถ้าเขาไม่ป่วยก็ค่อนข้างปลอดภัยแล้ว เพียงแต่เรายึดระยะเวลาสังเกตอาการที่ 14 วันเพื่อให้แน่ใจจริง ๆ"

แท็กซี่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 2 คน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีการสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น ไกด์ คนขับรถสาธารณะต่าง ๆ ได้มีการประชุมร่วมกับสมาคมโรงแรมและแท็กซี่เพื่อให้คำแนะนำและให้สังเกตอาการผู้โอยสารหรือลูกทัวร์ที่ป่วย หากพบผู้มีอาการให้แจ้งสายด่วน 1422 เพื่อนำไปสู่การตรวจวินิจฉัย อีกทั้งมีการให้คำแนะนำการทำความสะอาดกรณีรับผู้โดยสารแล้วมีน้ำมูกน้ำลายติดอยู่ ซึ่งแอลกอฮอล์ 70% ก็สามารถฆ่าเชื้อได้ หรือแม้แต่ผงซักฟอกหรือน้ำที่ใช้ทำความสะอาดพื้นผิวก็กำจัดเชื้อได้เช่นกัน

"คนทำงานสาธารณะไม่ว่าจะอาชีพใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ที่ระบาดย่อมมีความเสี่ยง เราให้ความสนใจเป็นพิเศษในการระมัดระวังป้องกันคนที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่คนปกติก็มีความเสี่ยงเพราะอาจยืนอยู่ใกล้กรุ๊ปทัวร์ก็ได้ ดังนั้นถึงต้องรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอนามัย"

ทั้งนี้ ปัจจุบันพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 202 คน เป็นคนไทยจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้มีคนขับแท็กซี่ 2 คน คาดว่าใน 1-2 วันนี้ ผลการตรวจจะทยอยออกมา ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตที่เชียงใหม่ต้องรอผลการชันสูตร แต่ข้อสังเกตคือการเสียชีวิตรวดเร็วแบบนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะถ้าเป็นโรคต้องแสดงอาการ เช่น เป็นไข้ มีอาการไอ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก เหนื่อยหอบมาหลายวัน

นพ.โสภณ กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มสถานการณ์ตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบัน ความรุนแรงของโรคลดลง จากวันแรกที่ดูน่ากลัวมาก แต่วันนี้พบแล้วว่าการป่วยการตายเกิดกับคนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีรายงานการระบาดในไทย แต่อยากให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองง่าย ๆ ด้วยการใส่หน้ากาก ในคนปกติไม่มีอาการไอ จาม จะใช้เป็นหน้ากากผ้าก็ได้เพราะเน้นป้องกันน้ำลายกระเด็นเป็นหลัก ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยให้ใช้หน้ากากอนามัยเนื่องจากมีประสิทธิภาพป้องกันการซึมของน้ำลายได้ดีกว่า นอกจากนี้ให้ล้างมือบ่อย ๆ เพราะอาจเจอคนที่ไอจามทิ้งไว้