ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ อย.เผย หลัง ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวงปลูกกัญชง เตรียมเสนอคณะกรรมกากฤษฎีกาพิจารณาก่อนประกาศใช้ จากเดิมอนุญาตหน่วยงานรัฐ เพิ่มเป็นประชาชน เกษตรกร นิติบุคคล จะได้ประโยชน์ในการสร้างรายได้

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณี ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิตนำเข้าส่งออกจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขทดแทนกฎกระทรวงฯ ว่า หลังจากนี้จะเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาร่างกระทรวงดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะสามารถประกาศใช้ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างกฎกระทรวงนี้จะแตกต่างจากกฎกระทรวงเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2559 ซึ่งของเดิมการปลูกกัญชง จะอนุญาตเฉพาะหน่วยงานรัฐ และใช้เฉพาะเส้นใย ทำเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ แต่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ จะอนุญาตให้ทั้งหน่วยงานรัฐ ประชาชนทั่วไป นิติบุคคล โดยเฉพาะเกษตรกรจะได้ประโยชน์ในการสร้างรายได้

“สำหรับการใช้เมล็ดพันธุ์ ปัจจุบันกฎกระทรวงให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่รับรองตามกฎกระทรวง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะมีทีเอชซีไม่เกิน 1% ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยเป็นสายพันธุ์เน้นเส้นใย แต่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ หากออกมาก็จะสามารถใช้ได้อยู่ ที่สำคัญภายใน 5 ปีแรกจะให้เฉพาะผลิต จำหน่าย ครอบครอง และส่งออก ส่วนเรื่องนำเข้ายังห้าม ยกเว้นตัวเมล็ดพันธุ์ กับส่วนอื่น ๆ เพื่อการวิจัย ดังนั้น สินค้าเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมซีบีดีในกัญชงห้ามทั้งหมด ยกเว้นภายในประเทศผลิตเองได้ และส่งออกได้ด้วย แต่ต้องทำตามข้อกำหนดของ อย.” นพ.ไพศาล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากคนไทยปลูกกัญชง และผลิตสารที่นำไปใช้เป็นเครื่องสำอางก็สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ใช่ เพียงแต่ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เช่น หากจะปลูกกัญชง ก็ต้องขออนุญาต อย. และหากจะผลิตเป็นเครื่องสำอาง ก็ต้องขออนุญาต อย.ตามกฎหมายจำเพาะนั้น ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถขอปลูกได้จำนวนเท่าไหร่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า หากใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ขออนุญาตปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ แต่ถ้าขอตามวัตถุประสงค์อื่น ๆ ขอได้ ตามโครงการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณี