ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” ห่วงแคมเปญ “ตรวจไม่เจอเชื้อ = ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้” (U = U) หลังถูกตีความเกินเลย ทำละเลยป้องกันแพร่เชื้อ HIV รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น พร้อมย้ำเตือน 2 ประเด็นต้องตระหนัก คือ ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นโดยมีวินัยกินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ และการรีบด่วนแปลผลวิจัยครอบคลุมภาพรวมทั้งหมด ทั้งที่การศึกษาจำกัดแค่กลุ่มตัวอย่าง หวั่นเกิดผลกระทบภายหลัง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย 3 โครงการ เกี่ยวกับการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีของผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบเชื้อหลังกินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง จนนำมาสู่ข้อสรุปคือถ้าตรวจไม่เจอเชื้อ ไม่มีทางที่คู่นอนจะติดเชื้อ แม้จะไม่ได้สวมถุงยางอนามัย และเกิดแคมเปญ “ตรวจไม่เจอเชื้อ = ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้” หรือ U = U (Undetectable = Untransmittable) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเอชไอวีในประเทศไทยได้นำมาประกาศเป็นนโยบายและรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิให้กับผู้ติดเชื้อด้วย แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเมื่อมีการสื่อสารออกไป ทำให้ขาดความตระหนักในการป้องกัน และที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคม คือมีผู้ติดเชื้อรายหนึ่งออกมาให้ข่าวว่า จาก U = U เมื่อกินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ต่อไปการมีเพศสัมพันธ์ไม่ต้องป้องกัน ยิ่งส่งผลกระทบต่อสังคมให้เกิดความเข้าใจไม่ถูกต้อง

จากกรณีข้างต้นในฐานะนักวิชาการด้านสุขภาพและแพทย์ที่ดูแลรักษาประชาชน มีสิ่งที่อยากเน้นย้ำเพื่อกระตุกเตือนใน 2 ประเด็น คือ

1.ก่อนประกาศ U=U เป็นนโยบายในประเทศนั้น หน่วยงานที่ประกาศควรต้องฉุกคิดให้ดีก่อนว่า วันนี้สังคมไทยรู้เท่าทันหรือไม่ เพราะเอชไอวีไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพียงโรคเดียว แต่ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ทั้งไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี หนองใน และซิฟิลิส เป็นต้น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและการแพร่กระจายของโรคเหล่านี้ได้ และยังมีเรื่องระเบียบวินัยในการรับผิดชอบต่อตนเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะการกินยาต้านไวรัสของผู้ติดเชื้อที่ต้องสม่ำเสมอ หากเกิดการหละหลวมก็อาจทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้นจนสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนั้นการป้องกันจึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่ควรละเลย

2. การศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีน เพื่อใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรค จะต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและทางคลินิกที่มีถึง 3 ระยะ เพื่อยืนยันสรรพคุณจึงนำไปขึ้นทะเบียนและสามารถใช้กับผู้ป่วยได้ แต่ยังต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่นำมาใช้เป็นวงกว้าง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามียาจำนวนหนึ่งที่มีผู้ป่วยเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากยาจนต้องยกเลิกยาดังกล่าวไป เนื่องจากการศึกษาวิจัยนั้นมีการใช้กลุ่มตัวอย่างศึกษาไม่มาก ทำให้โอกาสในการพบผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์น้อยมากเช่นกัน เช่น ยาแก้ปวดตัวหนึ่งในกลุ่มค้อกซ์-ทู อินฮิบิเตอร์ส (cox-2 inhibitors) ที่นิยมมากในช่วงหนึ่ง แต่ภายหลังที่นำมาใช้แล้วพบว่ายาตัวนั้นส่งผลต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งได้มีการยกเลิกไปในที่สุด

ทั้งนี้ในกรณีของนโยบาย U=U ที่มีการประกาศก็เช่นกัน จากการอ้างอิงการศึกษาทดลองในกลุ่มผู้ติดเชื้อจำนวน 3,000 คน ซึ่งมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 100,000 ครั้ง และพบว่าไม่มีการถ่ายทอดเชื้อไปสู่คู่นอน/คู่สมรสนั้น ซึ่งในความเป็นจริงจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเรามีจำนวนหลายแสนคน และการมีเพศสัมพันธ์ก็อาจมีจำนวนนับสิบเป็นสิบล้านครั้งต่อปี ซึ่งการไม่พบการถ่ายทอดเชื้อในกลุ่มตัวอย่างเพียง 3,000 คนนั้น และสรุปว่า U=U จึงเป็นการแปลผลที่รีบด่วนและเกินเลยไปกว่าขอบเขตของผลวิจัย เพราะความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อยังเป็นไปได้

รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ด้วย 2 เหตุผลหลักนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องชั่งน้ำหนักก่อนจะประกาศเป็นนโยบายใดออกไป ต้องมีการจัดการความเสี่ยงโดยให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ละเลยเพิกเฉยต่อการป้องกันโรคในระดับเบื้องต้น พร้อมเตรียมความพร้อมของสังคมและผู้เกี่ยวข้อง ไม่มองผลจากนโยบายเพียงด้านเดียว ส่วนที่นโยบาย U=U ที่ได้มีการสื่อสารออกไปเป็นวงกว้างแล้วหลายฝ่ายคงต้องช่วยกันในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการแปลผลการวิจัยเพื่อไม่ให้เกิดการตีความจนเกินเลยจากที่ควรเป็น เพราะการติดเชื้อเท่ากับศูนย์นั้นเป็นการจำกัดเฉพาะในขอบเขตการวิจัย

“การประกาศนโยบายสาธารณะ จากนี้ควรต้องมีการตรวจตราผลกระทบให้รอบด้านก่อนจะประกาศ ไม่ใช่เร่งทำนโยบายอย่างเดียว ลึก ๆ แล้วคงไม่มีใครอยากให้เกิดผลร้ายตามมา และเรื่องนี้ผมมองว่าเป็นบทเรียนที่อยากให้ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าเร่งร้อนในการเป่าวประกาศนโยบายสาธารณะ เพราะหากเตรียมการไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนเกิดผลกระทบเชิงพฤติกรรมและอื่น ๆ ตามมาที่คาดไม่ถึงได้” รศ.นพ.ธีระ กล่าว