ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข มอบให้กรมการแพทย์จัดระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร พร้อมจัดตั้งคลินิกไข้หวัด (Fever and ARI clinic) ใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ให้ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวังไปปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงแรมเอเชีย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ประชุมเตรียมความพร้อมการจัดระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร กรณีโรคติดเชื้อ​จากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่​ 2019 โดยมีผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์ จากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยและโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมพร้อมรับการระบาดของโรค

นายสาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก​ในการจัดระบบการรักษาพยาบาล เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้ให้โรงพยาบาลในเครือข่ายจัดตั้งคลินิกไข้หวัด (Fever and ARI clinic) บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ให้ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวังไปปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยจะใช้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เป็นต้นแบบ ซึ่งจะช่วยให้การคัดกรองผู้ป่วยมีความถูกต้อง รวดเร็วและตรงกับโรค เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสม (PUI) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การรับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง ขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลแต่ละแห่ง รับผู้ป่วยตามเกณฑ์และปฏิบัติตามแนวทางของผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์ เพื่อสะดวกต่อการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วย และบริหารทรัพยากรเตียงร่วมกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

ทั้งนี้ ศูนย์รับส่งต่อ โรงพยาบาลราชวิถี จะเป็นศูนย์ประสานงาน นอกจากนี้ให้บุคลาการทางการแพทย์ มีความตระหนักและมีความรู้ ความเข้าใจ ใช้หลักการตามแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก​กระทรวงสาธารณสุข​และ​คณาจารย์​จากคณะแพทย์​ ของมหาวิทยาลัย​ และ​ราชวิทยาลัย​ต่าง​ๆ​ และขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่หรือในชุมชน ได้ทราบเกี่ยวกับสำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม ควรพกหน้ากากอนามัยไว้ติดตัวเพื่อป้องกันตนเอง หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ทันที