ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

30 มกราคม 2563 ณ แหล่งดูงานที่ 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และโรงพยาบาลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี คณะศึกษาดูงานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยมูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 (PMAC) จาก 14 ประเทศ ดูงาน “กองทุนร่วมลงทุนเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพและการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายสมภพ สมิตะสิริ เป็นประธานกล่าวต้อนรับ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายเรืองศักดิ์ วรหาญ รักษาการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตต์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี และคณะเข้าร่วมให้การต้อนรับ

โดยมี Ms.Loraine Hawkins ผู้แทนจาก WHO ภาคพื้นยุโรป ประเทศอังกฤษ และ Mr.Rudolf Abuganaba-Abanga ผู้แทนจากประเทศกาน่า เป็นผู้แทนมอบของที่ระลึกแสดงความขอบคุณในโอกาสดูงาน ทั้งนี้มีนานาประเทศเข้าร่วมศึกษาดูงานทริปที่สระบุรีจำนวน 14 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เยอรมนี ติมอร์เลสเต ญี่ปุ่น ลาว เซเนกัล อังกฤษ เคนยา กานา เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และไทย ที่เป็นบุคลากรขององค์กรด้านสุขภาพในแต่ละประเทศ

นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในการต้อนรับคณะศึกษาดูงานการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยมูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 ในครั้งนี้ สำหรับพื้นที่ดูงานในครั้งนี้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานกรณีตัวอย่างที่ดีในเรื่อง การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ รูปแบบ Matching Fund ใช้กลไกสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง สปสช. กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลและฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน (Intermediate patients) ซึ่งเกี่ยวข้องในประเด็นหลักของการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลและการศึกษาดูงานฯ ในครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ พื้นที่การศึกษาดูงาน พื้นที่ที่ 4 “Local Community Funds for Rehabilitation to Intermediate Patients”

จากนั้นนำเยี่ยมชมนิทรรศการ ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น ผ้าข้ามม้าม้วนเกลียวกายภาพบำบัด ลดอาการปวดไหล่-หลัง กะลาล้อข้อลื่น และศูนย์ร่วมสุข ให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น ไม้ค้ำยันอลูมิเนียม อุปกรณ์ช่วยเดิน 4 ขา เครื่องผลิตออกซิเจน 3 ลิตร และศูนย์ซ่อมอุปกรณ์คนพิการ พร้อมทั้งเยี่ยมชมคลังอุปกรณ์

ช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ดูงานระบบบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.นายประจวบ ยางธิสาร อายุ 60 ปี ผู้ป่วยอ่อนแรงแขนขาสองข้าง ประสบอุบัติเหตุประมาณ 10 เดือน 2.นางกรรณิการ์ เสือไหน อายุ 52 ปี ผู้ป่วยอ่อนแรงแขนขาซ้าย จากโรคหลอดเลือดสมอง ป่วยประมาณ 4 เดือน 3.นางตาดำ ทองก้อน อายุ 74 ปี ผู้ป่วยอ่อนแรงแขนขาซ้าย จากโรคหลอดเลือดสมอง ป่วยประมาณ 3 เดือน และ 4.นางนงลักษณ์ พลอุบล อายุ 74 ปี ผู้ป่วยแขนขาอ่อนแรงซีกขวา และขาร่วมด้วยจากโรคหลอดเลือดสมอง ป่วยประมาณ 20 ปี โดยนางตาดำ ได้กล่าวต่อคณะศึกษาดูงานทั้งน้ำตาว่า ตนและครอบครัวขอขอบคุณกองทุนฯฟื้นฟู ที่จัดบริการในชุมชน ทั้งแพทย์ พยาบาลและ อสม. ที่ช่วยเหลือตนและครอบครัวในการเจ็บป่วยให้บรรเทาลงและสามารถช่วยตนเองได้

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล โดยมูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรภาคีในประเทศและระหว่างประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในระดับโลกที่ผู้นำด้านสุขภาพในทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญระดับโลก และเผยแพร่ ชื่อเสียงเกียรติคุณของ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากล รวมทั้งประเทศไทยได้รับการยอมรับในด้านการเป็นผู้นำด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งประเด็นหลักในปี 2563 ได้แก่ “Accelerating Progress Towards UHC” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม– 2 กุมภาพันธ์ 2563 และกำหนดให้มีกิจกรรม PMAC Field Trips Program ในวันที่ 30 มกราคม 2563 ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้เข้าร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการ การศึกษาดูงานในพื้นที่กรณีตัวอย่าง (Field Trips) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ จะได้ศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศไทยจากพื้นที่จริง อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงานสู่นานาชาติด้วย

สำหรับกิจกรรม PMAC Field Trips Program ครั้งนี้ มีการบรรยายในหัวข้อ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จังหวัดสระบุรี: กองทุนร่วมลงทุนเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพและการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง” โดย นายสุจิน บุญมาเลิศ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และ “Intermediate Care Services in Saraburi Province” บรรยายโดย นางสุภาภรณ์ เทพพานิช นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้นานาประเทศมีความสนใจในการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.สระบุรีเป็นอย่างยิ่ง บรรยากาศในการศึกษาดูงานมีคำถามที่น่าสนใจเช่น แพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร มีการบริหารจัดการและจัดสรรงบประมาณอย่างไร รวมถึงการให้ช่วยเหลือผู้ป่วยมีกระบวนการอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดสระบุรีในการทำอาหารไทยและบริการเสิร์ฟให้กับผู้มาศึกษาดูงานในครั้งนี้