ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านมา 1 เดือนกับปีหนูคลั่ง

สังคมไทยและสังคมโลกสะบักสะบอมจากปัญหารุนแรงหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องฝุ่นถล่ม มาจนถึงไวรัส 2019-nCoV

กัญชายาเสพติดก็ยังคงถูกขับเคลื่อนผลักดันอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ โดยหารู้ไม่ว่าความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสังคมนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ

มาอัพเดตกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

เรื่องแรก...กัญชากับอุบัติเหตุจราจร

Baldock M และคณะ เพิ่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Traffic Injury Prevention เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2020 นี้เอง

เค้ารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการบาดเจ็บในท้องถนน ในเมืองอะดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี 2014-2017 โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลในปี 2008-2010

พบว่า อัตราการตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดเกินมาตรฐานในกลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บนั้นลดลง โดยพบเพียงร้อยละ 11 ในกลุ่มที่ขับรถยนต์ และร้อยละ 5 ในกลุ่มจักรยานยนต์

ที่น่าสนใจคือ ไอ้ที่ตรวจพบผิดกฎหมายมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ สารต้องห้าม ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน และกัญชา (THC) ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มยาเสพติดเหล่านี้ตรวจพบมากกว่าแอลกอฮอล์เกือบ 2 เท่า

นี่คือสัญญาณอันตรายต่อสังคมจากปรากฏการณ์สังคมอุดมกัญชาและเพื่อนพ้องยาเสพติดที่ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็น

สรุปสั้นๆ ว่า "อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป มาตรการรณรงค์ต่างๆ เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุจราจรอาจต้องปรับเปลี่ยนตาม ก่อนจะสายเกินไป อย่ารอให้วัวหายแล้วค่อยมาคิดล้อมคอก"

เรื่องที่สอง...กัญชากับความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศ

Reed E และคณะ ศึกษาในผู้หญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวน 159 คน ในรัฐ Southern California ประเทศสหรัฐอเมริกา

พบว่าราวสองในสามแจ้งว่าเคยถูกคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางการล้อเลียน ทางวาจา หรือทางร่างกาย

การคุกคามทางเพศนี้ กว่าร้อยละ 80 เกิดจากผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

พอรวบรวมประวัติต่างๆ แล้วพบว่า กลุ่มวัยรุ่นหญิงที่ได้รับการคุกคามทางเพศนั้นมีประวัติที่วิเคราะห์พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มจนเมาหัวราน้ำ การเสพกัญชา และการใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ โดยจะทำให้เสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยถูกคุกคามทางเพศ มากถึง 4.5, 4.2, 2.6, และ 5.4 เท่าตามลำดับ

สรุปสั้นๆ ว่า "การใช้ยาเสพติด ไม่ว่าจะแอลกอฮอล์ กัญชา และอื่นๆ นั้น ล้วนทำให้วัยรุ่นหญิงเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ...ดังนั้นอย่าริลองเลยครับ"

เรื่องที่สาม...กัญชากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง

Owens MM พร้อมทีมวิจัยจากทั้งอเมริกาและแคนาดา ศึกษาในคนจำนวน 1,080 คน พบว่า กลุ่มคนที่เสพกัญชานั้นจะมีขนาดของสมองส่วนของ Hippocampus ซึ่งมีส่วนสำคัญในเรื่องความจำระยะยาวและอารมณ์นั้นเล็กกว่ากลุ่มคนที่ไม่เสพกัญชา คิดเป็นปริมาตรของสมองที่เล็กลงเฉลี่ย 250 มิลลิลิตร

สรุปสั้นๆ ว่า "การเสพกัญชาอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง อย่าเสพเลย"

เรื่องที่สี่...กัญชากับความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

Hightow-Weidman L และคณะ ศึกษาพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน กลุ่มเกย์ กลุ่มไบเซ็กช่วล และกลุ่มชายรักชาย ที่ติดเชื้อเอชไอวี และตรวจพบว่ายังมีไวรัสเอชไอวีในระดับที่ตรวจพบได้ จำนวน 146 คน อายุระหว่าง 16-24 ปี ในอเมริกา

พบว่า กลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนแบบไม่ป้องกันนั้นจะมีประวัติการเสพกัญชามากกว่ากลุ่มที่ป้องกันถึง 2 เท่า

สรุปสั้นๆ ว่า "พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศจะเพิ่มขึ้นหากเสพกัญชาในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี อย่าเสพเลยครับ"

งานวิจัยทั้ง 4 เรื่องข้างต้น คงจะช่วยให้เรารับรู้ถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมจากการใช้กัญชายาเสพติด กลไกการติดตามกำกับ และควบคุมสำคัญยิ่ง เพื่อที่จะป้องกันปัญหา มิใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาหาทางจัดการ

...กัญชาเป็นยาเสพติดที่ส่งผลทั้งต่อผู้เสพและคนอื่นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างสมองของผู้เสพ พฤติกรรมเสี่ยงทั้งด้านการขับขี่ยานพาหนะจนเกิดอุบัติเหตุ พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ตลอดจนนำพาผู้เสพอันตรายจากภาวะคุกคามหรือสถานการณ์ไม่พึงประสงค์...

หากจะหาทางใช้ประโยชน์สำหรับการแพทย์ ควรทำตามขั้นตอนมาตรฐานสากลจนพิสูจน์ให้แน่ใจในเรื่องสรรพคุณและความปลอดภัย ไม่ควรรีบด่วนผลักไปใช้กันจนเกินขอบเขตมาตรฐาน และต้องวางแผนป้องกันปัญหาโดยใช้บทเรียนจากนานาอารยประเทศที่ชี้ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

สวัสดีวันหยุดครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

อ้างอิง

1. Baldock M et al. Illicit drugs are now more common than alcohol among South Australian crash-involved drivers and riders. Traffic Inj Prev. 2020 Jan 30:1-6. doi: 10.1080/15389588.2020.1712715. [Epub ahead of print]

2. Reed E et al. Experiencing sexual harassment by males and associated substance use & poor mental health outcomes among adolescent girls in the US. SSM Popul Health. 2019 Nov 20;9:100476. doi: 10.1016/j.ssmph.2019.100476. eCollection 2019 Dec.

3. Owens MM et al. Recent cannabis use is associated with smaller hippocampus volume: High-resolution segmentation of structural subfields in a large non-clinical sample. Addict Biol. 2020 Jan 28:e12874. doi: 10.1111/adb.12874. [Epub ahead of print]

4. Hightow-Weidman L et al. Predictors of Condomless Anal Intercourse in Young HIV-Positive Men Who Have Sex With Men With Detectable Viral Loads. J Adolesc Health. 2020 Jan 24. pii: S1054-139X(19)30927-9. doi: 10.1016/j.jadohealth.2019.12.006. [Epub ahead of print]