ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในประเทศไทย ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลมีผลกระทบต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับผู้ที่มีสัญชาติไทยทุกคน การขอสัญชาติไทยในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะยังดำเนินการได้ล่าช้า

วิวัฒน์ ตามี่

ปัญหาการขับเคลื่อนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะ วิวัฒน์ ตามี่ มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ (พชช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขรวมถึงพัฒนากลไกต่างๆของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะที่รอการพิสูจน์สัญชาติยังต้องทำอีกหลายสิ่ง ปัญหาที่พบ เช่น กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิในกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ) ตามมติครม.23 มีนาคม 2553 ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายจากบนดอยหรือจากอำเภออื่นหรือจังหวัดอื่น แต่พวกเขาไม่ได้ย้ายสิทธิจากต้นทางทำให้เวลาเจ็บป่วยต้องออกเงินค่ารักษาและค่ายาเอง ปัญหาการไม่ย้ายสิทธิของคนกลุ่มนี้ด้วยเหตุจากความยุ่งยาก หลายขั้นตอน ความไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของพวกเขา

วิวัฒน์ยังกล่าวอีกว่าปัญหาสุขภาพของคนที่อยู่ชายแดนที่มักมีปัญหาโรคติดต่อและโรคระบาด เกี่ยวกับมาลาเรีย อหิวาต์ โรคคอตีบ หรือ10โรคที่เคยหายไปจากประเทศไทยอาจแพร่ระบาดในพื้นที่เขตเมืองจากการเคลื่อนย้ายของประชากรแฝง ยิ่งพวกเขาไม่มีสิทธิด้านสาธารณสุข เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและไม่ได้รับการส่งเสริมป้องกันโรค มีโอกาสติดเชื้อ เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูง อีกทั้งเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรคในเขตเมืองได้เพิ่มขึ้น

ปัญหาสำคัญขณะนี้คือ มีกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ตกหล่นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัว อักษร G นำหน้าเลขประจำตัว 13 หลัก ประมาณ 90,000 คน และกลุ่มคนไทยดั้งเดิม(คนจีนโพ้นทะเล) 3.5 หมื่นคน พวกเขาไม่ได้รับสิทธิตามกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ตามมติครม.23 มีนาคม 2553 ดังนั้น การขับเคลื่อนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขของกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิคือการผลักดันให้เพิ่มกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเข้าสู่กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิครั้งที่ 3 เพิ่มเติมเด็ก G และคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการ มติครม.23 มีนาคม 2553 รับข้อเสนอแล้วกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงข้อเสนอและเตรียมนำเสนอ รมต.สธ. เพื่อพิจารณา วิวัฒน์กล่าว

กลุ่มเด็ก G คือใคร ? กลุ่มเด็กนักเรียนรหัส G หมายถึงเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ตกหล่นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 จำนวน กว่า 67,433 คน ที่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลรับภาระหนี้สินจากการให้บริการและเรียกเก็บไม่ได้ ในขณะที่ภาครัฐเองละเลยที่จะแก้ไขด้วยเหตุผลว่าข้อมูลเด็ก G ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถจำแนกได้ว่ามีเด็ก G ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนเท่าไหร่และเด็กที่มีสิทธิซ้ำซ้อนจำนวนเท่าไหร่

วิวัฒน์ มองว่าปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานทางนโยบายล่าช้าและไม่มีความคืบหน้าเกิดจากปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานทางนโยบายของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจาก ครม. ยังไม่สามารถเร่งรัดการจัดทำข้อมูล คัดกรองข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามที่กำหนด อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถตัดสินใจร่วมกันได้ว่า เด็ก G กลุ่มไหนบ้างที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข

การเคลื่อนไหวขับเคลื่อนนโยบายสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แก่เด็กกลุ่ม G โดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิเด็ก และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เสนอให้มีข้อกำหนดชัดเจนว่า เด็ก G ที่ควรได้รับสิทธิ คือ เด็กกลุ่มที่เดินทางข้ามชายแดนมาเรียนหนังสือในประเทศไทยตอนเช้าและกลับเย็น และกลุ่มเด็กที่ไม่มีพาสปอร์ตการเดินทางเข้าประเทศหรือไม่มีพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนและจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเด็กที่มีสถานะทางทะเบียนแล้ว อีกทั้งขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งประสานงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเร่งดำเนินการสำรวจแยกแยะคัดกรองเด็กให้ชัดเจนโดยเร็ว และเร่งดำเนินการพิจารณาและตัดสินใจอนุมัติโดยเร็ว

บทเรียนจากกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ) หากวิเคราะห์ถึงบทเรียนจากการมีกองทุนประกันสุขภาพบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือเรียกสั้นๆว่ากองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ในประเทศไทย ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ ความตระหนักในปัญหาสุขภาพและภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้อันเนื่องจากมีกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิดำรงอยู่จำนวนไม่น้อยในประเทศ ในกรณีปัญหาสุขภาพแท้จริงแล้วเป็นปัญหาสำคัญมากเพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนและมีการเคลื่อนย้ายที่ไม่แน่นอนทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคระบาดและโรคระบาดที่เกือบจะหายไปจากคนไทยกลับมาระบาดอีกครั้ง ส่วนปัญหาการไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายการรับบริการทางการแพทย์ก็มักจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลรัฐตามแนวชายแดน การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นจึงเป็นการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่คุ้มค่า ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขกฎหมายและปัญหาเรื่องสัญชาติอีกทางหนึ่งด้วยเพราะประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลหรือปัญหาสัญชาติเป็นจำนวนมาก “กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนให้มีกองทุนนี้ไปให้ถึงนโยบายคือการสื่อสารสาธารณะ” วิวัฒน์ ตามี่ กล่าว

ในด้านอุปสรรค พบว่าการดำรงอยู่ของกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)นั้นอ่อนไหวขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองและหน่วยงานที่รับผิดชอบในกระทรวงสาธารณสุข นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 การขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็ก G และคนจีนโพ้นทะเล ก็ยังไม่คืบหน้าจากบริบทและสถานการณ์ต่างๆที่ผ่านมา

ในด้านข้อจำกัด กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ดำเนินการในฐานะเป็นกองทุนตามมติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายฝ่ายบริหารอาศัยงบประมาณจากงบฉุกเฉินสำรองจ่ายรายปีในระหว่างรอกระบวนการพิสูจน์สัญชาติบุคคล รอการย้ายสิทธิมายังหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และสิทธิประโยชน์ของกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนอยู่ภายใต้กองทุนนี้จะมีไม่เท่ากับสิทธิตามบัตรทอง ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย และโดยเฉพาะมีความยากลำบากในการย้ายสิทธิที่เงื่อนไขไม่เอื้อต่อกลุ่มเป้าหมายเท่ากับบัตรทองส่งผลให้พวกเขาต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลเอง ในขณะเดียวกันก็ซุกซ่อนปัญหาสุขภาพที่อาจกลายเป็นผลกระทบต่อประเทศได้ด้วย

ภาพจาก facebook เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย