ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบส.เร่งตรวจสอบสถานพยาบาล 9 แห่ง หมอ 4 คน เอี่ยวเครือข่ายอุ้มบุญข้ามชาติ พร้อมเร่งตรวจดีเอ็นเอเด็กหาสารพันธุกรรมสาวท้อง แฉมีความเชื่อมโยงคดีลอบขนอสุจิข้ามประเทศ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 15.00 น. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการจับเครือข่ายรับจ้างอุ้มบุญข้ามประเทศ ว่า ภายหลังจากที่ สบส.ร่วมหับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมเครือข่ายรับจ้างอุ้มบุญข้ามประเทศ ได้ทั้งผู้ต้องหาเป็นทั้งนายทุนต่างชาติ นายหน้า และหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอีก 2 คน นั้น มี 3 ประเด็นที่ สบส.ต้องทำต่อ คือ

1.มีสถานพยาบาลเกี่ยวข้อง 9 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 4 แห่ง คลินิก 4 แห่ง โดยเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ 6 แห่ง อีก 3 แห่งไม่ได้รับอนุญาต ในส่วนนี้ สบส.จะต้องตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับการรับจ้างอุ้มบุญนี้มากแค่ไหน เช่น เป็นสถานที่ทำอุ้มบุญหรือแค่รับดูแลต่อ เป็นต้น ส่วนแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 4 ราย บางคนมีชื่ออยู่ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต บางคนอยู่ในสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต ต้องตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หรือไม่ และเตรียมประสานส่งข้อมูลให้กับแพทยสภาต่อไป

2.กรณีแม่ที่ตั้งครรภ์ 7 คนนั้นจะต้องมีการตรวจสอบว่ามีการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ และมีการตรวจดีเอ็นเอเด็กที่พบในที่เกิดเหตุ 2 คน เพื่อดูว่าเด็กมีพันธุ์กรรมของหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญหรือไม่ หากไม่มีก็จะชัดเจนว่าเป็นเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ 3. ที่บ้านผู้ต้องหา พบว่ามียากระตุ้นฮอร์โมน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ยา 2510 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และพบยาแผนโบราณที่มีสรรพคุณกระตุ้นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 3,000 บาท และกรณีที่พบเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการผสมไข่กับสเปิร์มนอกมดลูก ในส่วนนี้จะมีโทษมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ 2551 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับเด็กที่ถูกส่งออกไปนอกประเทศแล้วนั้น จะมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ติดตามว่าเด็กเหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 2558 คือ 1.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ขออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. เป็นคนกลาง นายหน้า โดยเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการรับตั้งครรภ์แทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเราพบว่าในบ้านแห่งหนึ่งที่เราไปเจอนั้นมีเด็ก 8 ขวบ ก่อนจะส่งไปต่างประเทศ นั่นหมายความว่า 8 ขวบอวัยวะพร้อมใช้แล้ว น่ากลัวมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่าเครือข่ายอุ้มบุญข้ามชาตินี้มีความเชื่อมโยงกับคดีลักลอบขนอสุจิข้ามประเทศเมื่อหลายปีก่อนหรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า จริง ๆ แล้วสืบเนื่องกัน ก่อนหน้านั้นที่พบว่ามีการลักลอบขนอสุจิข้ามประเทศก็มีการเปลี่ยนวิธีการ เอาไข่ อสุจิ อาจจะในประเทศไทย หรือต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถคาดได้ ประเด็นคือเขาจะเอาแพทย์ของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไปทำที่ต่างประเทศแทน แล้วเอาตัวอ่อนฝังเข้ามดลูกหญิงไทย และกลับเข้ามาในประเทศ เพื่อเป็นการเลี่ยงกฎหมายไทย เพราะมองว่า 2 เรื่องนี้ต่อยอดกัน ใช้แพทย์ ใช้วิชาการ และอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีไทยร่วมด้วย และเข้ามาฝากครรภ์ในไทย