ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สคอ. สสส. นำทัพภาคีเกาะติดพื้นที่ต้นแบบ “ท่าซักโมเดล” ร่วมเรียนรู้กลยุทธ์ลดอุบัติเหตุทางถนน ชี้ปีใหม่ 63 ใช้มาตรการ 3 ด่านเข้มข้น ลดเจ็บได้ ตายเป็นศูนย์ พร้อมเผยโรงเรียนแห่งแรกของประทศบรรจุวิชา พ.ร.บ.จราจรทางบกในหลักสูตรการศึกษา

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ จ.นครศรีธรรมราช - ในการประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จัดโดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส ร่วมวิเคราะห์ ค้นหาปัญหาและวางแผนแก้ไข ผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม ลดความสูญเสียอันเกิดจากจากอุบัติเหตุทางถนน

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้มีการเตรียมพร้อมสั่งการลงไปในพื้นที่อย่างเข้มข้น จนทำให้สถิตอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ลดลง ซึงสถิติปีใหม่ 2563

วันที่ 27 ธันวาคม 2562-2 มกราคม 2563 เกิดอุบัติเหตุ 3,421 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 3,499 คน เสียชีวิต 373 คน ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลง ซึ่งก็มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในพื้นที่ วันนี้เราต้องเรียน ร่วมหนุนเสริมกัน อย่างเช่นที่ “ท่าซักโมเดล” ที่ทำแล้วและประสบความสำเร็จ ต้องชื่นชมอย่างยิ่ง ซึ่ง สคอ.และภาคีต้องขอนำบทเรียน วิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้มาเผยแพร่ สร้างการรับรู้ นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่มีความพร้อมให้ครอบคลุมทั้งประเทศ นอกจากนี้ปัจจัยความสำเร็จอีกด้านคือ นโยบายผู้บริหารระดับพื้นที่ ตลอดจนกลไกบริหารจัดการภายในที่ชัดเจน มีการใช้สถิติข้อมูลสร้างการรับรู้บุคคลในพื้นที่ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ได้รับรู้และเข้าใจตรงกัน จนเกิดความร่วมมือและการติดตามประเมินผล คืนข้อมูลให้กับพื้นที่และประชาชนให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

นายเกรียงศักดิ์ ศรีไสย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า ตำบลท่าซักเป็นตำบลขนาดใหญ่มีประชากรกว่า 12,000 คน สภาพวิถีชีวิตชุมชนเมือง จึงทำให้ถนนที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นบริเวณถนนตัดใหม่ สี่แยกไม่มีสัญญาณไฟจาจรและคนมักฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่ง “ท่าซักโมเดล” เกิดขึ้นจากคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้นโยบาย “นครปลอดภัย” โดยแนวคิดของ พ.ต.ท.วิชัย ม่วงสวย รอง ผกก.จร.สภ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้ประสานกับทาง อบต.ท่าซัก เพื่อรณรงค์ปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนน จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนและสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรมแทน พร้อมนำมาตรการ 3 ด่านคือ ด่านครอบครัว ด่านโรงเรียน ด่านชุมชน

ซึ่งในบทบาทของ อบต.ท่าซัก ได้หนุนเสริมเรื่องด่านชุมชนคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ติดสติกเกอร์ โดยตั้งด่านทุกวันพฤหัสบดีช่วงเวลา 17.00-20.00 น. หมุนเวียนไปตามพื้นที่ความเสี่ยง โดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปภร. อสม.ฯ ซึ่งจะคัดเลือกพื้นที่ใน 9 หมู่บ้าน เช่น ชุมชน ตลาดนัด โรงเรียน หมุนเวียนไป เน้นดูแลมอบความห่วงใยมากกว่าจับกุม เพราะการสูญเสีย 1 ชีวิต นับเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือหากท้องถิ่นให้ความสำคัญ และหนุนเสริมก็จะทำเกิดความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

นางมิ่งขวัญ เกตุกำพล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตำบลท่าซัก เป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงต่อเนื่อง ซึ่งปี 2561 ประชากรตำบลท่าซัก เสียชีวิต 7 ราย พิการกว่า 50 คน บาดเจ็บ 233 คน ผ่าตัดใหญ่ประมาณ 100 คน ความสูญเสียดังกล่าวทีมพี่เลี้ยงโดยคณะอนุกรรมการเมืองคอนถนนปลอดภัยจึงได้ร่วมดำเนินโครงการ “ท่าซักโมเดล” ใช้มาตรการ 3 ด่าน คือ

1.ด่านครอบครัว โดยทีมพี่เลี้ยงและ รพ.สต., อสม. ร่วมสำรวจและแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีแดงคือไม่สวมหมวกนิรภัย กลุ่มสีเหลืองคือขับเร็วและเมา และกลุ่มสีเขียวคือบุคคลที่ขับขี่ปลอดภัย นอกจากนี้ลงเยี่ยมบ้านจะนำสติกเกอร์ด้วยรักจึงตักเตือนไปติดที่รถยนต์หรือรถจักรยนต์พร้อมเคาะประตูบ้านโดยนำผู้เคยประสบอุบัติเหตุไปเตือนใจ บอกเล่าประสบการณ์เพื่อลดความเสี่ยง

2. ด่านโรงเรียน นำโดยโรงเรียนวัดนาวง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และขยายผลอีก 4 แห่งในพื้นที่ร่วมดำเนินการ บรรจุหลักสูตรการศึกษาวิชา พ.ร.บ.จราจรทางบก กำหนด 10 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีทีมพี่เลี้ยงหมุนเวียนเข้าไปสอนตามเนื้อหาวิชา เช่น การขับขี่ปลอดภัย เครื่องหมายจราจร การป้องกันอุบัติเหตุ ผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุ การช่วยฟื้นคืนชีพ CPR เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี“นักข่าวจิ๋ว”คอยตักเตือน สนทนาหน้าเสาธง พูดคุยกระตุ้น ติดตามชื่นชม นักเรียน ผู้ปกครอง

3.ด่านชุมชน นำโดย อบต.ท่าซัก ผู้นำท้องถิ่นและภาคี ให้ความรู้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งด่านแก่ ผู้นำชุมชน ใช้รณรงค์สร้างจิตสำนึก ให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานทำให้การเสียชีวิตในปี 2561-2562 ลดลง โดยปี 2561 ตาย 7 ราย ปี 2562 จนถึง มกราคม 2563 ยังคงเป็น 0 ราย การป่วยจากอุบัติเหตุลดลงจาก ปี 2561 จำนวน 233 ราย ปี 2562 เหลือ 47 อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ปี 2561 ประมาณ 15 % ปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 70.23 % ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ทุกคนร่วมกัน ด่านชุมชนเป็นมาตรการช่วยให้มีวินัยในการขับขี่ ด่านครอบครัวและด่านโรงเรียนช่วยปลูกจิตสำนึก สำคัญคือพี่เลี้ยงต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับประชาชนต้องทำงานด้วยความรักและยึดประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก ผู้นำและชุมชนเข้าใจปัญหา มีการออกแบบวางระบบที่ดี ชุมชนร่วมกันพัฒนาต่อเนื่อง มีเป้าหมายเดียวกันคือชุมชนปลอดภัยอย่างยั่งยืน

สำหรับการประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ) สำนักงานกองทุนสนับสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้บริหารและภาคีให้เกียรติร่วมประชุม ได้แก่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด นายวิริยา ธรรมเรืองทอง นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด นายบุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 80 คน