ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"คนที่ไม่เคยเดินทางมาแถวนี้อาจจะคิดว่าเดินทางสะดวก แต่ถ้าได้มาอยู่แล้วจะรู้ว่าไกล" นี่เป็นประโยคบอกเล่าจาก นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,000 เตียงที่อยู่ปลายสุดของภาคตะวันออก ดูแลรับผิดชอบประชาชนในจังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว และ อ.แกลง จ.ระยอง

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

เส้นทางจากพื้นที่นี่หากต้องต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ใน กทม. อย่างต้องใช้เวลา 6 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลพระปกเกล้าจึงเป็นจุดตั้งรับผู้ป่วยในโซนนี้ และต้องสามารถให้บริการได้ในทุก ๆ ด้านของความเป็นเลิศ

อย่างไรก็ดี Pain point จุดหนึ่งของที่นี่คือการให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง เพราะแม้จะเริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2545 แต่เนื่องจากการรักษามีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด ที่สำคัญคือการฉายแสง แต่ละปีโรงพยาบาลพระปกเกล้ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณปีละ 1,700 ราย ในจำนวนนี้กว่า 60% หรือนับพันรายต้องได้รับการฉายแสง ซึ่งในโซนภาคตะวันออกมีเพียงโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีแห่งเดียวที่ให้บริการได้ แค่รองรับประชาชนใน จ.ชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียงก็แออัดแล้ว ผู้ป่วยนับพันรายเหล่านี้ยังต้องไปเป็นคอขวดที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีซึ่งด้วยจำนวนผู้รับบริการและความลำบากในการเดินทางก็ทำให้ผู้ป่วยมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งคือต้องมีการรักษาภายใน 6 สัปดาห์หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แต่ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ในอดีตโรงพยาบาลพระปกเกล้าทำได้เพียงประมาณ 30% ของตัวชี้วัดเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ทางโรงพยาบาลพระปกเกล้าจึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับก้าวสู่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งเพื่อให้สามารถบริการได้ครบวงจร ลดความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ อีกทั้งยังช่วยลดความแออัดจากโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งแล้วเสร็จในปี 2561 จากนั้นระดมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์โดยเฉพาะเครื่องจำลองการฉายรังสีชนิด 3 มิติ, เครื่องฉายรังสีชนิดปรับความเข้มข้นรวมถึงการฉายรังสีในรูปแบบ 4 มิติ และเครื่องใส่แร่ จนกระทั่งเดือน ก.ย. 2562 ก็ได้เปิดหน่วยรังสีรักษาขึ้น ตลอดจนขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในเดือน ต.ค. 2562 เป็นต้นมา

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากจัดซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ เตรียมความพร้อมบุคลากรต่างๆเรียบร้อยแล้ว ทำให้การให้บริการเป็นไปอย่างครบวงจร หลังจากเปิดให้บริการมาประมาณ 5 เดือน ล่าสุดสามารถทำการฉายแสงรักษามะเร็งได้ถึงวันละ 70-75 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองประมาณ 60 กว่าคน ถือว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ตามตัวชี้วัดได้ดีขึ้นอย่างมาก และในปี 2563 นี้ โรงพยาบาลพระปกเกล้ายังเตรียมขยายขอบเขตการรักษาด้วยการใส่แร่เพื่อรักษามะเร็ง มีการจัดส่งแพทย์ไปเรียนต่อด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานเครื่องฉายรังสีเครื่องที่สอง ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณจัดซื้อจากกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการจัดบริการที่ครบวงจรแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนยากจะเข้าถึงการรักษา เพราะการรักษาด้วยการฉายรังสีไม่สามารถทำครั้งเดียวจบ ผู้ป่วยต้องรับการฉายแสงเฉลี่ย 30-35 ครั้ง กินระยะเวลา 2-3 เดือน แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกล เช่น ผู้ป่วยบางรายอยู่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ต้องเดินทางกว่า 250 กม.มารับบริการที่ จ.จันทบุรี เพื่อความต่อเนื่องในการรักษาจึงต้องเช่าที่พักใกล้ ๆ โรงพยาบาล เกิดค่าใช้จ่ายแฝงทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ซึ่งผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายได้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาตามโปรแกรม

ด้วยเหตุนี้ ทางโรงพยาบาล โดยมูลนิธิโรงพยาบาลพระปกเกล้า จึงได้จัดโครงการ "บ้านแสงจันทร์" ซึ่งเป็นการระดมทุนบริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารที่พักแก่ผู้ป่วยและญาติที่มารับการรักษาและไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่พักกว่าปีละ 65,000 คนได้มีที่พักพิง โดยได้เปิดตัวแคมเปญไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมสมทบทุนโครงการได้ที่บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 984-5-82295-9 ชื่อบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลพระปกเกล้า หรือบริจาคด้วยตนเองที่มูลนิธิโรงพยาบาลพระปกเกล้า เบอร์โทรศัพท์ 080-9942457

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่ยากต่อการรักษาและมีค่ารักษาที่แพงมากถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวต้องล้มละลาย ทำให้ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา อย่างไรก็ดี กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้บรรจุการรักษามะเร็งทุกประเภทเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา ซึ่งจากข้อมูลในช่วงปี 2559-2561 มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่องกว่า 4.1 ล้านครั้ง สปสช.มีการจ่ายชดเชยค่ารักษากว่า 26,679 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลพระปกเกล้าเป็นอีกศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาได้ดีมาก และต้องขอชื่นชมความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมทุกสิทธิการรักษา

นายรณกฤต ศรีเกื้อกูล อายุ 18 ปี ชาว อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ซึ่งถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวว่า ตรวจพบมะเร็งเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 และเริ่มการรักษาแบบเคมีบำบัดเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นการรักษาฉายแสง เดือนละ 2 ครั้ง แพทย์บอกว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ ประกอบกับพี่ ๆ ในโรงพยาบาลให้การดูแลดูแลดีมาก คอยพูดคุยไม่ให้เกิดความเครียด ทำให้ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนป่วยแต่อย่างใด ขณะที่การใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เยอะมาก มีเพียงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาหารและที่พักเท่านั้น ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลพระปกเกล้าและ สปสช.เป็นอย่างมากที่ช่วยประชาชนให้เข้าถึงบริการ