ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายลดอุบัติเหตุ นำภาคีเครือข่ายลงพื้นที่ชื่นชมความสำเร็จ ศปถ.อทป.แห่งแรก จ.สกลนคร เผยใช้กฎเหล็ก 3 ข้อ คุมเข้ม หมวก-เมา-เร็ว ลดเจ็บ-ตายเห็นผล พบกว่า 1 ปี หมู่บ้านยังไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตเลย

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ในการประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2563 ณ จ.สกลนคร โดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส ร่วมวิเคราะห์ ค้นหาปัญหาและวางแผนแก้ไข ผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม ลดความสูญเสียอันเกิดจากจากอุบัติเหตุทางถนน

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการนำเสนอต้นแบบความสำเร็จเรื่องความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ ซึ่งท้องถิ่นชุมชนคือตัวแปรสำคัญในการจัดการและแก้ไขปัญหา มาตรการภาครัฐจะถูกนำไปปฏิบัติได้จริงก็ขึ้นอยู่กับผู้นำท้องถิ่นที่เข้าใจ เห็นความสำคัญ นอกจากนี้พื้นที่ต้องสามารถจัดการปัญหาได้ วิเคราะห์ บูรณาการข้อมูล ค้นหารูปแบบที่เหมาะสมจะทำให้งานลุล่วง แม้การขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนยังไม่สำเร็จไปทั่วประเทศได้ แต่กระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ประยุกต์ใช้งานกับทุกเรื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ หรือเรื่องความปลอดภัยทางถนนในระยะยาว ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ร่วมฝ่าฟันวิกฤติ มีเป้าหมายเดียวกันคือปกป้องชีวิตคนในพื้นที่ ปกป้องลูกหลานและคนครอบครัวให้มีความปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน

นายรำลึก อิงเอนุ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร กล่าวว่า อบต.ห้วยยางเป็น อบต.แห่งแรกของจังหวัดสกลนคร ที่จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ด้วยสภาพพื้นที่เป็นชุมชนเขตกึ่งเมืองและมีขนาดใหญ่ประชากรหนาแน่น จึงทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง จึงได้ตั้งคณะทำงาน สำรวจความเสี่ยง ปัญหา มีการประยุกต์นวัตกรรม มีกฎเหล็กหมู่บ้านที่เข้มแข็ง มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามแยกเพื่อรณรงค์สวมหมวกนิรภัยซึ่งทำตลอดทั้งปี ซึ่งการทำงานต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน นโยบายผู้บริหารที่เห็นความสำคัญ ทำอย่างต่อเนื่อง อยากแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งตนเองได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและได้รับความร่วมมือจากภาคีในชุมชนเป็นอย่างดี

นางสวินทร วงษ์หาญ ผอ.รพ.สต.บ้านนาคำ ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร กล่าวว่า จากข้อมูล 3 ปีย้อนหลังจากอุบัติเหตุทางถนน พบว่า ปี 2560 บาดเจ็บ 64 ครั้ง ตาย 9 ราย ปี 2561 เสียชีวิต 8 ราย และปี 2562 เสียชีวิต 6 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่ชำนาญเส้นทาง จึงมีแนวคิดที่จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ได้มีการจัดตั้ง ศปถ.อปท. แห่งแรก คือ ศปถ.อบต.ห้วยยาง มี นายก อบต.ห้วยยาง เป็นประธานศูนย์ฯ มีการตั้งคณะทำงานอย่างเป็นระบบ เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ สำรวจความพร้อมของรถ พ.ร.บ.รถและประสานไปยังเครือข่าย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ลงพื้นที่ดำเนินการจัดทำพ.ร.บ.รถให้ประชาชน และพบว่าอุบัติเหตุเกิดจากดื่มแล้วขับ ขับเร็ว จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้จำหน่ายในเวลาที่กำหนดและไม่จำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเกิดเหตุมีการสอบสอบโดยมีเครือข่าย ศปถ.จังหวัด อำเภอ และตำบล ร่วมกันลงพื้นที่เกิดเหตุทุกราย มีการคืนข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปป้องกันแก้ไขต่อไป จึงทำให้ปี 2563 มีแนวโน้มลดลง เกิดอุบัติเหตุเพียง 15 ครั้ง เสียชีวิตเพียง 2 ราย

นายศรัณยพงษ์ ศราวัน ผู้ใหญ่บ้านหนองบัวทอง ม.11 ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร กล่าวว่า อุบัติเหตุในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นบ่อย รอยต่อหมู่บ้าน คอสะพาน ถนนไม่มีไฟส่องสว่าง ทางแยก ทางโค้ง มีต้นไม้บดบัง และอุบัติเหตุเกิดมากสุดช่วงเทศกาล-งานบุญ รถมากและดื่มฉลอง ขับเร็ว จนมีเคสผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง หลังจากทำเวทีประชาคม ได้ตกลงแก้ไขจุดเสี่ยงโดยขอความร่วมมือไปยังบริษัทห้างร้านขอสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ล้อยางเก่า นำมาทาสี ขาว-แดง ทำป้ายเตือน ทางแยก ทางโค้ง / ทำป้ายควบคุมความเร็ว 30 กม./ชม. ติดตั้งอุปกรณ์เตือนระวัง นอกจากนี้หมู่บ้านยังกำหนดมาตรการชุมชน โดยจัดทำสัญญาประชาคมใช้ร่วมกัน คือ 1.ขับรถเร็ว เสียงดัง แต่งรถ ตักเตือน 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 แจ้งเจ้าหน้าที่ยึดรถ 2.กำหนดความเร็วถนนภายในหมู่บ้าน 30 กม./ชม. 3.เมาแล้วขับถูกจับไม่ประกันตัวทุกกรณี 4.ติดต่อราชการที่ทำการผู้ใหญ่บ้านขับขี่รถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกทุกครั้ง หากไม่สวมไม่เซ็นรับรองให้ 5.เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้กีดขวางการจราจร หากเกิดอุบัติเหตุเจ้าของต้องรับผิดชอบ 6.ห้ามไม่ให้จอดรถบรรทุกบนถนนภายในหมู่บ้าน ซึ่งหากพบการกระทำผิดทุกกรณีจะมีการบันทึกภาพและทำแฟ้มประวัติประวัติไว้เป็นหลักฐาน โดยหลังจากดำเนินการมาแล้ว 1 ปี หมู่บ้านยังไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นเลย

นางมลิ สุขสนวน อสม.เซ็นเซอร์ กล่าวว่า การทำงานของ อสม.เซ็นเซอร์ คือ อสม.ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลครัวเรือน เรื่องรถเสี่ยง รถไม่มี พ.ร.บ. คนไม่สวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว ถนน-สิ่งแวดล้อมเสี่ยง รวมถึงการถ่ายภาพการกระทำความผิดกฎจราจร เพื่อส่งคืนข้อมูลไปยังคณะทำงานให้ส่งต่อไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ก็ยังให้คำแนะนำคนในหมู่บ้านให้ขับขี่อย่างปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎจราจร และสวมหมวกนิรภัย โดยยกเคสตัวอย่างของคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปบอกเล่า ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านรับรู้ ตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารและภาคีเครือข่ายให้เกียรติร่วมประชุม ได้แก่ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด ดร.สรุศักดิ์ วงษ์อินทร์จันทร์ นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 80 คน