ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีสาธารณะ ถอดบทเรียนอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี 2562 “ทางเลือก ทางรอด บทเรียนอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี 2562”

สสส.ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) จัดเวทีสาธารณะ ถอดบทเรียนอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อเป็นเวทีที่ร่วมระดมความรู้ด้านอุทกภัย และการจัดการขณะเกิดเหตุ รวมทั้งการวางแผนการเตรียมการรับมือกับอุทกภัย จากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน ทั้งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์อุตุนิยมวิทยา โครงการชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิสื่อสร้างสุข และเครือข่ายภาคประชาชนที่ประสบภัย จากเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีความคาดหวังเพื่อลดทอนความเสี่ยง ความเสียหายจากภัยพิบัติ และการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ NGO และภาคประชาชน ในการจัดการและเตรียมการรับมือกับอุทกภัยที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก

จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะรองรับน้ำ ประกอบกับปัจจุบันมีการขยายตัวของภาคการเกษตรและผังเมือง ทำให้ช่วงมรสุมที่ผ่านมา ส่งผลให้ลำน้ำหลายสายมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและไหลหลากเข้ามายังพื้นที่ชุมชน ซึ่งมวลน้ำเหล่านี้ไม่สามารถไหลผ่านไปได้จึงทำให้เกิดการท่วมขังและล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ การใช้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ไม่เป็นเอกภาพ บางสถานีวัดน้ำก็ไม่มีการเปรียบเทียบระดับน้ำมานาน และสภาพสถานีวัดน้ำเสื่อมโทรม ส่งผลให้การประเมินสถานการณ์น้ำคลาดเคลื่อน ส่วนด้านการเตือนภัย มีความล่าช้า ไม่ทันเวลา และการให้ข้อมูลที่ประชาชนเข้าใจยาก ทั้งหมดส่งผลต่อเหตุการณ์อุกทกภัยทีเกิดขึ้นบนความฉุกละหุก ต้องอาศัยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมทั้งมูลนิธิต่างๆ และภาคประชาชนด้วยกันเองให้ผ่านพ้นไป

ทั้งนี้ในเวทีเสวนา ได้มีข้อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา และเตรียมการรับมือไว้ต่างๆ ดังนี้

1) ควรมีการจัดการทั้งลำน้ำสาขาอย่างเป็นระบบ หากมีการบูรณาการทั้งลำน้ำก่อนเข้า และออกจากเมืองอุบลราชธานีจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) สร้างกลไกมาตรการแจ้งเตือนให้เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ และสื่อสารด้วยข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ทันที

3) หน่วยงานภาครัฐควรมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ

4) และสร้างองค์ความรู้ส่งต่อชุมชนเพื่อให้ชุมชนรู้จักการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

5) ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และชุมชนสามารถจัดการตนเองได้

6) หน่วยงานภาครัฐต้องมีเอกภาพในการจัดการ และควรมีเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน

7) มีศูนย์กลางของข้อมูลที่ประชาชน และหน่วยงานสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ

และ 8) ควรมีการจัดการงบประมาณเพื่อกลไกที่ยั่งยืน

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ได้เห็นว่าทุกภาคส่วนได้พยายามทำตามบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงกว่าทุกครั้ง ทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน ทั้งหน่วยงานภาครัฐในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งชาวบ้านที่ตระหนก ตลอดจนหน่วยงานเอกชน องค์กรภาคประชาชนที่พยายามช่วยเหลือ ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก แต่เราสามารถเตรียมการรับมือ เพื่อลดทอนความเสี่ยงและความเสียหายได้ และครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ NGO และภาคประชาชนจะร่วมมือกัน อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่พร้อมระดมความคิดเสนอวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต