ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อัพโหลดวิดีโอใน youtube.com เรื่อง การคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ความสามารถของโรงพยาบาลทั่วประเทศในการรองรับผู้ป่วย เป้าหมายการควบคุมโรคและแนวทางการรับมือการระบาดด้วยการเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน (Shelter in Place) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ไทยมีแนวโน้มคุมไม่อยู่

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยค่อนข้างนิ่งประมาณ 40 กว่าราย แต่ในช่วงหลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจาก 2 คลัสเตอร์ใหญ่ คือ ที่ผับและที่สนามมวย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ขยายความว่า ปัจจุบันมีกลุ่มประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ 2 กลุ่ม คือกลุ่มประเทศที่คุมอยู่ คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง และกลุ่มประเทศที่คุมไม่อยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งจากการศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่คุมอยู่หรือคุมไม่อยู่ พบว่ามีช่วง Golden Period คือ ณ วันที่มีรายงานของแต่ละประเทศว่าพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย ประเทศที่คุมอยู่ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 5 วันจึงเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 200 ราย แต่กลุ่มที่คุมไม่อยู่จะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ณ วันที่ 15 มี.ค. 2563 ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 114 รายนั้น ใช้เวลา 3.5 วันในการเพิ่มจำนวนเป็น 200 ราย หมายความว่ามีแนวโน้มเป็นประเทศที่คุมการระบาดไม่อยู่

ปล่อยไว้แบบนี้ผู้ป่วย 3.5 แสนรายใน 1 เดือน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศที่คุมไม่อยู่จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 33% ในแต่ละวัน ซึ่งอัตราการเพิ่มของประเทศไทยก็อยู่ในลักษณะนี้เช่นกัน หากปล่อยให้เป็นแบบเดิม ทุกคนออกจากบ้าน ใช้ชีวิตในสังคม ยังคงพูดคุยกัน ยังทำงานเหมือนปกติ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นแบบ exponential จุดเริ่มต้นของไทยที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายคือวันที่ 15 มี.ค. 2563 จากการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาคาดการณ์ว่าในวันที่ 15 เม.ย. 2563 จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณ 351,948 ราย ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 52,792 ราย ผู้ป่วยหนัก 17,597 ราย และผู้เสียชีวิต 7,039 ราย

ตรวจศักยภาพสาธารณสุขไทย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับศักยภาพสาธารณสุขไทยในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ในส่วนของห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว (Isolation) ในกทม. มี 237 เตียง ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดรวม 2,444 เตียง ห้องแยกผู้ป่วยรวมหลายเตียง (Cohort ward) ใน กทม.มี 143 เตียง ในต่างจังหวัด 3,061 เตียง และห้องความดันลบ (AIIR) ใน กทม. 136 เตียง และต่างจังหวัดรวม 1,042 เตียง ส่วนจำนวนบุคลากร มีแพทย์ 37,160 คน อยู่ในภาครัฐ 29,449 คน ภาคเอกชน 7,711 คน พยาบาล 151,571 คน อยู่ในภาครัฐ 126,666 คน ภาคเอกชน 24,905 คน อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าแพทย์ทุกคนจะสามารถทำการรักษาผู้ป่วยหนักได้ ต้องใช้แพทย์ที่รู้ลึกเฉพาะด้านขึ้นไปอีก

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

ไม่อยากเป็นแบบอิตาลี

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เมื่อจำนวนผู้ป่วยทะลักจนเกินศักยภาพโรงพยาบาลเมื่อไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้องมีการรักษาพยาบาลนอกพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลสนาม เป็นต้น แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือผู้ป่วยหนัก ถ้าย้อนกลับไปดูตัวเลขประมาณการณ์ในกรณีไม่ทำอะไรเลย ถ้าปล่อยให้จำนวนผู้ป่วยหนักขึ้นไปถึงระดับ 17,000 ราย จะเป็นตัวเลขที่เกินกว่าประเทศไทยจะดูแลได้

"ขอย้ำว่าไวรัสโควิด-19 หากเข้าสู่ร่างกายแล้วร่างกายไม่สามารถต้านทานได้ มันจะทำลายปอด เมื่อมีอาการมากขึ้น คนไข้เหล่านี้อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยการทำงานของปอดและหัวใจ ผู้ป่วยหนักจะใช้เวลาอยู่ในห้องผู้ป่วยหนักนานเป็นสัปดาห์ๆ เมื่อมีคนไข้หนักสะสมเข้ามาอีกเรื่อยๆ คนเหล่านี้จะเจอเหตุการณ์แบบที่อิตาลี คือ ต้องเลือกว่าจะรักษาใคร เราไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ตั้งเป้าคุมผู้ป่วยให้เพิ่มวันละ 20%

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ไทยเริ่มต้นช้า โอกาสที่จะควบคุมการระบาดให้ต่ำแบบญี่ปุ่นคงเป็นไปได้ยากแล้ว แต่อย่างน้อยเราต้องการดึงอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงมาจาก 33% เป็นไม่เกิน 20% ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 15 เม.ย. 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 24,269 ราย ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 3,640 ราย ผู้ป่วยหนัก 1,213 ราย และผู้เสียชีวิต 485 ราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นในอัตรา 20% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับมือได้ ยังมีเตียงผู้ป่วยหนักที่พอจะช่วยกันรับมือได้ จึงตั้งเป้าหมายไว้ที่ตัวเลขนี้

ไทยระบาดเข้าระยะ 3?

สำหรับมาตรการที่ควรใช้เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คนติดเชื้อจากข้างนอกเข้ามาในประเทศ การวัดไข้ที่สนามบินมีความไวในการตรวจจับอย่างมาก 48% ยังมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะหลุดรอดเข้ามา ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือระงับการเดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่ง ณ วันนี้ รัฐบาลดำเนินการแล้วในระดับหนึ่ง คือระงับการเดินทางของคนจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในประเทศ โดยทุกคนที่จะเดินทางเข้ามาต้องมีหนังสือรับรองว่าปราศจากเชื้อโควิด-19 และเข้ามาแล้วต้องถูกกักตัว 14 วัน รวมทั้งปิดด่านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนระยะที่ 2 ผู้ที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้คนในประเทศ มาตรการที่ควรใช้คือตรวจจับและนำไปกักกันเพื่อแยกออกจากสังคม รวมทั้งนำผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไปกักกันเฝ้าระวังจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค แต่เดิมประเทศไทยใช้วิธีคัดกรองด้วยวิธีวัดไข้ แต่เนื่องจากวิธีนี้มีความไวในการตรวจจับไม่เพียงพอ ทำให้มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะหลุดรอดไปได้เช่นกัน และอีกมาตรการหนึ่งที่ควรทำคือการปิดพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง กระบวนการนี้ต้องเด็ดขาดและครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ออกมาแล้วเพื่อไม่ให้คนรวมตัวกัน

สำหรับ ระยะที่ 3 คนในพื้นที่แพร่เชื้อให้กันและกัน ขยายวงไปเรื่อยๆ ดังเช่นปัจจุบัน มาตรการที่ต้องรีบทำคือปิดประเทศ ปิดเมือง เพื่อไม่ให้คนติดเชื้อรายใหม่เข้ามาและไม่ให้คนในพื้นที่ออกไปแพร่เชื้อด้วย โดยต้องดำเนินการร่วมกับมาตรการให้คนในประเทศพยายามอยู่ในบ้าน ไม่เดินทางพร่ำเพรื่อ เพราะเชื้อมีอยู่ทั่วไป มีโอกาสติดได้เสมอ (Shelter in Place) หากรีบทำตามมาตรการดังกล่าว จะช่วยตัดวงจรการระบาดได้ โดยควรมีระยะเวลาอย่างน้อยเท่ากับระยะฟักตัวบวกกับระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้ คือราว 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ซึ่งแนวปฏิบัติโดยทั่วไปอยู่ที่ 3 สัปดาห์

"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องช่วยกันตั้งแต่วันนี้ อย่ารีรอจนทุกอย่างช้า" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว

Shelter in Place และ Social Distancing

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงมาตรการ Shelter in Place ว่าเป็นนโยบายที่อนุญาตให้ออกจากบ้านได้ เช่น ออกไปซื้ออาหาร แต่ให้ออกให้น้อยที่สุด ระยะเวลาใกล้ที่สุด ระยะทางสั้นที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการรับและแพร่กระจายเชื้อ ซื้อเสร็จให้กลับเข้าบ้าน และต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) อย่าเข้าไปใกล้คน เพราะการพูดคุยกันตามปกติจะมีละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนที่ออกมากับน้ำลาย จำนวน 3,000 ละอองในระยะ 1 เมตร นี่คือเหตุผลที่ทำไมควรต้องอยู่ห่างกัน 2 เมตร และที่ดีที่สุดคือใส่หน้ากากเพราะละอองที่ออกไปจะติดบนหน้ากาก แต่ต้องเปลี่ยนหรือซักหน้ากากทุกวันด้วย ส่วนผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในการดูแลสุขภาพและการบริการสาธารณะ การทำงานในพื้นที่ต้อง Social Distancing ส่วนงานที่สามารถทำจากที่บ้านได้ (Work at Home) ก็ให้ทำจากที่บ้าน

ทั้งนี้ คำว่า Social Distancing นั้น อยากให้เข้าใจตรงกันว่าหลักการคือ "โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าคนไม่ติดต่อกัน" การพูดจากปกติควรอยู่ห่างกัน 2 เมตร นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่คนหมู่มากมาอยู่ร่วมกัน และการเดินทางก็ยากที่จะทำ Social Distancing ดังนั้นในหลายประเทศจึงปิดบริการขนส่งสาธารณะ

ขอให้ทุกคนอยู่บ้าน 3 สัปดาห์

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อเชื้อโควิด-19 แพร่เข้าสู่ร่างกายคนไม่ได้เพราะประชาชนทำ Social Distancing อย่างเต็มที่ เชื้อจะค่อยๆ ลดลง ผู้ที่ป่วยไม่รุนแรงจะเกิดภูมิต้านทานต่อเชื้อได้ นี่คือเหตุผลของการที่รัฐบาลสื่อม็อตโต้ว่า "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ"

"มาตรการอยู่บ้านนี้ขอให้ทุกคนทำ โดยเฉพาะใน 3 สัปดาห์ ซึ่งก็จะมีการพูดคุยและรัฐบาลคงมีประกาศออกมาอีก การอยู่บ้านลดโอกาสติดเชื้อ แค่นี้ช่วยชาติได้เยอะแล้ว จากประสบการณ์ของจีน หลังประกาศปิดประเทศจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าสามารถลดการเล็ดรอดของผู้ที่ติดเชื้อออกไปนอกประเทศได้ประมาณ 70.5% และช่วง 3.5 สัปดาห์แรก สามารถลดการเล็ดรอดของผู้ที่ติดเชื้อออกไปนอกประเทศได้ถึง 81.3% เพราะฉะนั้นนโยบายนี้มีความสำคัญ”

ถ้าช่วยกันเต็มที่การระบาดสิ้นสุดใน 9 เดือน

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ย้ำว่า ถ้าช่วยกันดำเนินมาตรการเหล่านี้เต็มรูปแบบ จะชะลออัตราเพิ่มจำนวนการติดเชื้อหลังจากดำเนินมาตรการไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ และชะลอการระบาดของโรค ลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้สามารถเข้าสู่ระยะที่ 4 และคาดว่าจะสิ้นสุดได้อย่างเร็วที่สุดในระยะเวลา 9 เดือน

"ผมย้ำอีกครั้ง เราจะเลือกอะไร คนไทยทุกคนนี่แหละเป็นผู้เลือก เราจะเลือกให้วันที่ 15 เม.ย. 2563 มีผู้ติดเชื้อ 3.5 แสนราย หรือจะเลือก 2.4 หมื่นราย ต้องการให้คนนอนโรงพยาบาล 5.2 หมื่นคน หรือแค่ประมาณ 3,600 คน ต้องการมีผู้ป่วยหนัก 1.7 หมื่นราย หรือ 1,200 ราย และจะเลือกให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7,000 ราย หรือตายน้อยกว่า 500 คน เราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว