ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชพยาบาล เผยมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ระดับหนึ่ง อยู่ระหว่างกลุ่มประเทศที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่อย่างวางใจ ยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีก ย้ำขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติเว้นระยะห่าง-อยู่กับบ้านช่วยชาติ ขณะที่ในอาเซียน ไทยเป็นอันดับ 2 ติดโควิด รองจากมาเลเซีย

วันที่ 31 มี.ค.2563 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงการณ์คาดการณ์การระบาดโควิด-19 ภายหลังมีมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเป็นการแถลงผ่านการไลฟ์สดของ Mahidol Channel ว่า หลังจากเคยมีการชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 ซึ่งครั้งนั้นเน้นจุดการเปลี่ยนแปลงจากคนไข้จำนวน 100 คนเป็น 200 คน โดยสร้างกราฟแบ่งกลุ่มประเทศเป็นกลุ่มที่ควบคุมได้ดีกับประเทศที่ควบคุมไม่อยู่ แล้วดูว่าประเทศไทยจะอยู่ในแนวไหน ซึ่งในการชี้แจงคราวนั้น กรณีที่ไม่ทำอะไรเลย สถานการณ์ของไทยก็จะวิ่งตามประเทศที่คุมโรคไม่อยู่ คือมีอัตราการเพิ่มประมาณ 33% แต่หากมีมาตรการออกมาก็ตั้งเป้ากดตัวเลขผู้ป่วยใหม่ให้ไม่เกิน 20% เพื่อให้แน่ใจว่ายังอยู่ในศักยภาพของระบบการดูแลของไทย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ช่วง 1 สัปดาห์นี้ได้มีมาตรการหลายอย่างออกมาเป็นระลอก ทั้งรัฐบาล หน่วยงานระดับจังหวัด ท้องถิ่น หรือแม้แต่เอกชนได้มาช่วยกัน โดย ณ วันที่ 30 มี.ค. 2563 มีผู้ป่วยรวม 1,524 ราย ซึ่งถ้าดูลักษณะกราฟ ประเทศไทยอยู่ระหว่างกลุ่มประเทศที่ควบคุมโรคได้กับควบคุมไม่ได้ โดยมีตัวเลขสูงกว่าแนวโน้มที่คาดการณ์ไว้เดิมอยู่บ้าง และหากเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยมีผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับ 2 โดยมีลักษณะกราฟคล้ายกับมาเลเซีย แต่ความชันของอัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย มาเลเซียค่อนข้างเยอะกว่า ส่วนฟิลิปปินส์ก็มีอัตราการเพิ่มที่น่าเป็นห่วง ขณะที่เวียดนามมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจาก 100 ราย เป็น 200 รายโดยใช้เวลานานห่างกันมาก แนวโน้มที่จะพลิกกลับมามีผู้ป่วยจำนวนมากจึงไม่น่าจะมากนัก

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าวันที่ 23 มี.ค. 2563 มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนหนึ่งจาก กทม. ไปภูมิภาค ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนคนไข้ระหว่างในกทม.และต่างจังหวัดที่เริ่มกลับสัดส่วนกัน กล่าวคือพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดมากกว่า กทม. ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2563 แต่หลังจากนั้นสัดส่วนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเริ่มลดลงแล้ว กทม.กลับมาสูงกว่าต่างจังหวัดอีก

"จริงๆ ตัวเลขก็ใกล้ๆ กัน ถ้าเทียบเป็นสัดส่วน ณ ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อใน กทม.และต่างจังหวัดอยู่ใกล้กันคือต่างจังหวัด ประมาณ 50:50 ส่วนแผนที่การพบผู้ป่วยนั้นจะมีการกระจายแทบทั่วประเทศ หลายคนอาจตกใจว่าสีแดงไปหมด แต่อยากให้ดูว่าพื้นที่สีชมพูบางแห่งมีคนไข้แค่ 1 ราย ส่วนในต่างจังหวัดที่พบผู้ป่วยมาก คือ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี และภาคใต้ ส่วน กทม.ก็ยังเป็นสีแดงเข้มเพราะมีผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวสรุปว่า สถานการณ์ในเวลานี้ ตนคิดว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคในระดับหนึ่ง มาตรการที่ออกมาหลายอย่างงโดยรัฐบาล ท้องถิ่น กทม. และความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ทำให้ตอนนี้เราดึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ลดลงอยู่ในระดับที่น่าจะใกล้เคียงกับศักยภาพของระบบบริการสุขภาพของไทย

อย่างไรก็ดี คณบดีศิริราชฯ กล่าวว่า แนวโน้มที่เห็นในวันนี้อาจจะดูสบายใจขึ้นว่าจำนวนผู้ป่วยไม่ได้สูงมาก แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นได้อยู่ ซึ่งทรัพยากรทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเตียง บุคลากร หรืออุปกรณ์ช่วยป้องกันการติดเชื้อ สิ่งเหล่านี้ปริ่มๆ ค่อนไปทางขาดแคลนด้วยซ้ำ ถ้าจำนวนคนไข้มากขึ้นเรื่อยๆ คนไข้หนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งจะเกินศักยภาพที่ระบบรองรับได้ ด้วยเหตุนี้จึงอยากชวนคนไทยทุกคนช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้น้อยลง ใน 2 วิธีคือ 1.ขอให้อยู่บ้าน เพราะทุกครั้งที่ออกบ้านมีความเสี่ยงจะรับเชื้อหรือแพร่เชื้อออกไป และ 2.หากจำเป็นต้องออกบ้าน ขอให้รักษาระยะห่างประมาณ 2 เมตร และใส่หน้ากากเพื่อไม่ให้รับละอองต่างๆ ระหว่างพูดคุย ใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด

"ถ้าช่วยกันแบบนี้ เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยจะค่อยๆลดน้อยลง แต่จะไม่ลดลงเร็วในทันที เราอาจเจอตัวเลขแบบนี้อีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าสกัดดีพอ จำนวนผู้ป่วยจะน้อยลงแล้วศักยภาพในการดูแลก็จะเพียงพอดูแลผู้ป่วยทุกคน ขณะเดียวกัน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างจริงจัง ไม่มารวมตัวกัน ไม่สังสรรค์กัน อย่ารอให้ต้องใช้กฎหมายที่เด็ดขาด เป็นจิตสำนึกที่เรากำลังช่วยชาติจริงๆ รวมทั้งชักชวนคนรู้จักหรือเพื่อนฝูงให้ดำเนินการด้วย ถ้าเราทำตามมาตรการต่างๆ ด้วยจิตที่เป็นฉันทะ นี่จะเป็นสิ่งที่งดงามที่สุด" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.มนศักดิ์ ชูโชติรส รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราชได้ขยายศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยโดยตลอด ณ วันที่ 23 มี.ค. ศิริราชมีคนไข้ 38 ราย มีเตียง 62 เตียง หลังจากนั้นคนไข้เพิ่มจำนวนขึ้น ทางโรงพยาบาลก็พยายามเพิ่มศักยภาพ โดยหากรวม 3 โรงพยาบาล คือ ศิริราช ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และศิริราชปิยมหาการุณย์ จำนวนเตียงได้ขยายเพิ่มเรื่อยๆ ปัจจุบันมี 102 เตียง ส่วนจำนวนคนไข้ก็เพิ่มตามเป็น 70 คน แต่ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ อย่างไรก็ดี การขยายศักยภาพของโรงพยาบาลอาจทำได้อีกไม่มาก อาจจะเพิ่มได้อีก 16-25 เตียง ก็เต็มศักยภาพแล้ว

อนึ่ง ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ วช. เผยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.จนถึงปัจจุบัน พบ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ระบาดโควิด-19 พบ อันดับ 1 คือ กัมพูชา อันดับ 2 ประเทศไทย อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 คือ อินโดนีเซีย รองลงมา สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน กัมพูชา พม่าและลาว