ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอประสิทธิ์ชมคนไทย “ทำดี” เลี่ยงโควิด-19  Worst-Case Scenario ได้สำเร็จ ยกเคสญี่ปุ่น ปล่อยคนจากต่างประเทศกลับมากไปทำตัวเลขผู้ป่วยพุ่ง ชี้หลังจากนี้ต้องผ่อนมาตรการ หา “จุดสมดุล” ไม่ให้ตึงเกินไปจนกระทบรากหญ้า

วันที่ 15 เม.ย.63 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยายวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านช่อง Mahidol Channel ระบุว่า การประเมิน เมื่อเดือนที่แล้ว คือเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ คล้ายประเทศเยอรมนี โดยหากเพิ่มวันละ 33% จากการประเมินเมื่อเดือนที่แล้ว ไทยจะมีผู้ป่วยกว่า 3.5 แสนราย ซึ่งถ้าเป็น 3.5 แสนรายจริง สัดส่วนคนไข้ที่หนัก คนไข้วิกฤตนั้น เราจะเอาไม่อยู่ ศักยภาพจะไม่พร้อมรองรับ

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าไทยทำได้ดี คือสามารถดึงกราฟลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คือ 30-40 รายต่อวัน ไทยกลายเป็นมีผู้ติดเชื้อลำดับที่ 5 ของอาเซียน รองจาก ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อัตราการเพิ่มที่ช้านั้น ทำให้ไทยสามารถบริหารจัดการคนไข้หนักได้ดี และสามารถจัดการทรัพยากรได้ ปัจจุบัน สัดส่วนคนไข้หนักมีอาการน้อยลงชัดเจน และจำนวนคนไข้ที่หายดี กลับบ้านแล้ว ก็มีจำนวนมาก ซึ่งทำให้โรงพยาบาล ยังสามารถบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด – 19 ได้

เชื่อไทยไม่ได้ตรวจน้อยเกินไป

ขณะที่จำนวนการตรวจโควิด-19 ที่หลายคนรู้สึกว่าประเทศไทยอาจตรวจไม่เพียงพอนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์กันจริงๆ ไทยสามารถตรวจไปได้แล้วมากกว่า 1 แสนเทสต์ สัดส่วนไม่ได้น้อยไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่คุมไม่อยู่นั้น มีการตรวจประชากรจำนวนมหาศาล ซึ่งสะท้อนว่าการตรวจเยอะ ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไร ทั้งนี้ มาตรการหลังจากตรวจเจอ ก็ถือว่ามีความสำคัญว่าหลังจากตรวจเจอแล้ว จะดูแลคนไข้อย่างไรต่อไป

“อีกประเทศหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ ไต้หวัน มีอัตราการตรวจสูงมากทีเดียว แล้วก็เป็นยุทธศาสตร์ที่เห็นผล คือไต้หวันคุมสำเร็จ เพราะไต้หวันรู้สถานการณ์จริงๆ ว่ามีผู้ป่วยอยู่มากน้อยเท่าไหร่” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ยกตัวอย่างญี่ปุ่น-สิงคโปร์ ตัวเลขเพิ่มหลังจากนิ่ง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลอดเดือน ก.พ.-มี.ค. มีตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่น้อยมาโดยตลอด แต่หลังจากวันที่ 25 มี.ค. ญี่ปุ่นกลับมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนประกาศภาวะฉุกเฉิน ในวันที่ 7 เม.ย. และควบคุมคนจากต่างประเทศ ที่เข้ามาญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด

ปัจจุบัน ญี่ปุ่น มีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 8,100 ราย และเสียชีวิต 146 ราย ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเยอะ ตามจำนวนของผู้ป่วยที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ก็เป็นประเทศที่มีคนชรามาก จำนวนผู้ป่วยหนัก-ผู้เสียชีวิต ก็มากตาม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการให้ประชาชนใช้ชีวิตกลางคืนน้อยลง ควบคุมการรักษาระยะห่างทางกายภาพ หรือ Physical Distancing ให้ห่างมากกว่า 2 เมตร หรือการมาร์คจุดในห้างสรรพสินค้า เพื่อไม่ให้คนใกล้ชิดกันเกินไป ซึ่งหลังจากนี้ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เชื่อว่าตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในญี่ปุ่นจะลดลง เพราะคนญี่ปุ่น ค่อนข้างมีวินัย

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวอีกว่า อีกประเทศที่น่าสนใจคือสิงคโปร์ จากตัวเลขที่คงที่ มั่นคง แต่ตัวเลขผู้ป่วยใหม่นับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. กลับเพิ่มขึ้นมากมาย จนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด ขึ้นไปถึง 3,252 คน ซึ่งถือว่าจำนวนค่อนข้างมาก สำหรับประเทศที่มีพื้นที่เล็กอย่างสิงคโปร์

ด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ ต้องกลับมาเข้มงวดเรื่องมาตรการให้เว้นระยะห่างทางกายภาพอีกครั้ง และให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกเวลา เมื่อเดินทางไปในพื้นที่สาธารณะ

ทั้ง 2 ประเทศ เป็นตัวอย่างว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ แม้จะดูเหมือนนิ่ง แต่ก็สามารถกลับมาเพิ่มได้เสมอ

เผยการจัดการในเวียดนามดูดี

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เวียดนาม ถือเป็นประเทศในภูมิภาคที่สามารถบริหารจัดการได้ดูดี โดยขณะนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เพียง 267 รายเท่านั้น และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว

“หากย้อนมองกลับไป เวียดนามมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 50 คน เป็นหลักร้อยนั้น ใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อีกอย่างหนึ่งคือ พอมีผู้ป่วย 20 ราย เวียดนามก็เริ่มประกาศทันทีว่าโรคนี้ ถือเป็นโรคระบาดร้ายแรง เมื่อประกาศแล้ว ก็ชัดเจนว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ของเวียดนามน้อยลง เหลือวันละ 5-10 รายเท่านั้น” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุ

นอกจากนี้ เวียดนาม ยังมีตัวเลขการเทสต์ผู้ป่วยที่น่าสนใจ โดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เวียดนาม สามารถเทสต์ผู้ป่วยไปได้มากกว่า 1.2 แสนเทสต์ โดยเป็นชุดตรวจที่เวียดนาม จัดซื้อจากเกาหลีใต้มาได้กว่า 2 แสนชุด ซึ่งการเทสต์ ควบคู่ไปกับการออกมาตรการเข้มงวด มีการรักษาระยะห่างทางกายภาพ จนทำให้เวียดนามสามารถกดตัวเลขผู้ป่วยให้อยู่ในหลักร้อยได้สำเร็จ

คนไทยทั้งประเทศ ช่วยให้มาถูกทาง

สำหรับมาตรการในไทยนั้น พบว่า การอยู่บ้าน รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก และล้างมือ ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ได้ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลงได้

“ถึงแม้เราไปได้ดีระดับหนึ่งแล้ว แต่อย่าหยุด สิ่งเหล่านี้ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยจิตสำนึกที่ดี ตระหนักถึงบทบาทของตัวเองกับสังคม บทบาทของตัวเองกับประเทศ สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ออกมาควบคุม ถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ”

“มาตรการนั้น เล็กกว่าจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และความมีวินัย แต่ถ้าเมื่อไหร่มาตรการหย่อน แล้ว 3 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นของเราไม่ดี ประเทศไทยจะย้อนกลับ แล้วถ้าย้อนกลับ เราอาจจะมีคนไข้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุ

ขณะเดียวกัน การที่คนไทยช่วยกัน เปรียบเสมือน “ต้นน้ำ” ทำให้ “ปลายน้ำ” ซึ่งผู้รับผิดชอบการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะจากรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ และทรัพยากรต่างๆ ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป แต่ทั้งหมด ก็ยังวางใจไม่ได้ แม้ในทาง “ต้นน้ำ” และ “ปลายน้ำ” จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีคนไทยเสียชีวิตมากขึ้นทุกวัน 10 กว่าวันมาแล้ว

ยก 22 เม.ย. จะ “เห็นภาพ” ว่าควรผ่อนล็อกดาวน์หรือไม่

สำหรับข้อเสนอให้ผ่อนล็อกดาวน์นั้น จะต้องพิจารณา 14 วัน ซึ่งเป็นระยะ “ฟักตัว” เฉลี่ยของโคโรนาไวรัส 2019 โดยหากนับจากวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งอัตราผู้ป่วย ลดเหลือ 54 คนเป็นวันแรก จากที่ก่อนหน้านั้น ผู้ป่วยอยู่ที่ระดับ 100 รายมาโดยตลอด ก็จะหมายความว่า วันที่ 22 เม.ย. หรืออีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า จะเห็นผลว่าไทย สามารถลดอัตราผู้ป่วยใหม่ได้ต่อเนื่องหรือไม่ และพร้อมที่จะผ่อนปรนข้อกำหนดบางอย่างแล้วหรือยัง

“ถ้าตัวเลข เราต่อเนื่องไปอีก 7 วัน ถ้าตัวเลขผู้ป่วยใหม่น้อยลง อัตราการเสียชีวิตไม่แตกต่าง จำนวนผู้ป่วยกลับบ้านไม่แตกต่าง และจำนวนเทสต์ต้องไม่ลดลง แสดงว่าคนที่มีเชื้ออาจจะน้อยลงจริง” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลระบุ

ทั้งหมดนี้ อาจนำไปสู่การพิจารณาปรับเปลี่ยนมาตรการ เพื่อหา “จุดสมดุล” ระหว่างการดูแลสุขภาพ การดูแลระบบเศรษฐกิจ และการดูแลสภาพสังคม ให้ไปต่อได้

“เราเห็นตัวอย่าง 2 ประเทศ ที่ลดมาตรการเร็วเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการปล่อยให้ผู้ป่วยใหม่เข้าประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ศ.นพ.ประสิทธิกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากไม่ผ่อนมาตรการเลย คุมทุกอย่างได้เรียบร้อยก็จริง แต่สุดท้ายก็จะไปกระทบกับรากหญ้า กระทบกับรายรับ-รายจ่ายของคนกลุ่มนี้อย่างหนัก และอีกส่วนหนึ่งคือกระทบกับสภาวะสังคม

“ณ วันนี้ มีการพูดถึงประเทศที่มีการล็อกดาวน์ ระดับความเครียดของประชากรจะมากขึ้น ฉะนั้น ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล เพราะฉะนั้น มีบางโมเดลที่หลายประเทศกำหนดคือ อาจหย่อนมาตรการล็อกดาวน์ลงบ้างในระดับหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้น ก็คุมเข้มใหม่”

“ความเห็นส่วนตัวของผมก็คือ อาจปรับเปลี่ยนมาตรการ แต่ขอให้หลังครบ 14 วัน และให้ค่อยเป็นค่อยไป ให้หย่อนเฉพาะกิจกรรมสำคัญ อย่าไปหย่อนหมด อย่าไปหย่อนในกิจกรรมที่คนเยอะๆ อยู่รวมตัวกัน เพราะถ้าเราไม่ช่วยกัน สถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการ แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องก็คือต้องรักษาระยะห่าง ป้องกันตนเองและสังคม ใส่หน้ากาก ล้างมือต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป ส่วนผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการ ก็ยังควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เพราะถ้าคนกลุ่มนี้ติดเชื้อ ยังมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการตัดสินใจ แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศที่ต้องตัดสินใจ

“สิ่งดีๆ ที่คนไทยทั้งประเทศร่วมกันทำทั้งประเทศตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขที่ไม่ขึ้นเป็นร้อยเป็นพัน ทำให้เราสบายใจขึ้น สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยส่งเสริม ทำให้ทุกคนยังคงทำสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป แล้วก็หวังว่าเรา จะสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ต่อไป”

“มันคงไม่เร็วนัก กว่าไวรัสตัวนี้ จะหายไปจากประเทศไทย คงอีกเป็นเดือนๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ ความรุนแรงของมันน้อยลง อัตราการเสียชีวิตน้อยลง ก็หมายความว่า เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ในเวลานี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

รับชมคลิปวิดีโอได้ที่

https://www.facebook.com/iptv.mahidol/videos/216543982779566/?vh=e&d=n