ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศิริราช” ชี้ หลังผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 อาจมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่ม อย่าตกใจ เพราะอาจมีคนติดเชื้อไม่แสดงอาการอยู่ ยังต้องเน้นเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ อย่างเข้มข้น แต่ผู้สูงวัยยังต้องงดออกจากบ้าน

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ รพ.ศิริราช นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มในการมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมโรคได้ดี เพราะคนไทยให้ความร่วมมือกัน เกือบ 17 วันที่เรามีตัวเลขลดลงต่อเนื่องหรือค้อนข่างคงที่ มี 9 จังหวัดที่ไม่พบคนป่วยเลย ก่อนหน้านี้ความสามารถในการแพร่โรคของไทยอยู่ที่ 1 คน แพร่ต่อได้ 2.2 คน

“แต่ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ความสามารถแพร่โรคอยู่ที่ 1 ต่อ 0.77 คน ล่าสุดเชื่อว่าลดลงมาที่ 1 ต่อ 0.6 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตที่ 50 คน นั้น เฉลี่ย 1.8% ในขณะที่อัตราการรักษาหายกว่า 2 พันคน เหลือรักษาใน รพ.หลักร้อยราย นับเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดี และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ดังนั้นเป็นจังหวะดีที่ประเทศจะมีมาตรการผ่อนปรน โดยใช้ทฤษฎีทุบด้วยค้อนแล้วปล่อยให้ฟ้อนรำ (The Hummer and The dance) หมายถึงต้องใช้มาตรการคุมเข้มเพื่อดึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ลดลง แล้วค่อยๆ ผ่อนมาตรการให้ประชาชน เหมือนในหลายๆ ประเทศที่ทำอยู่ ซึ่งมาตรการทุบด้วยค้อนไม่ควรทำติดต่อกันเป็นเวลานาน เต็มที่ไม่ควรเกินเดือนครึ่งเพราะมีผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจ คนเครียดเพราะรายได้ลดลง ดังนั้นต้องมีการสร้างสมดุลทาง สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาที่ไทยจะเริ่มผ่อนปรนให้คนไทยใช้ชีวิต ดูตามพื้นที่ และกิจกรรม แต่ไม่ผ่อนปรนเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด คือการเว้นระยะห่าง ออกนอกบ้านแต่อย่าออกไปนาน การสวมหน้ากากทุกครั้ง การล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่างต้องทำอย่างเข้มข้นห้ามผ่อนปรน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องบอกเอาไว้ก่อนจะได้ไม่ตกใจคือ เมื่อมีการผ่อนสถานการณ์แล้วจะมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น เพราะอาจจะมีคนที่ติดเชื้อไม่มีอาการอยู่ ซึ่งถ้าประชาชนให้ความร่วมมือดี กราฟผู้ป่วยก็อาจจะไม่ชันมาก แต่ก็ต้องดูว่าจะเพิ่มเร็วหรือไม่ ซึ่งจะนำมาสู่การตัดสินใจมาตรการอะไรอีก หากยอดป่วยสูงต้องดึงลง ต้องกลับมาควบคุมอีก มีการลงค้อนครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นจะเป็นลักษณะของการ ควบคุม ผ่อนคลาย สลับๆ กันแบบนี้ ประเมินผลเป็นระยะ พร้อมทบทวนมาตรการที่ใช้ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะบางมาตรการลงทุน ลงแรงไปเยอะได้ผลตอบแทนมาไม่เยอะก็อาจจะต้องทบทวน

“ผู้สูงอายุยังขอให้งดออกนอกบ้านไปก่อนระยะหนึ่งเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรง และเสียชีวิต ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล หรือระบบสุขภาพ เราจะแพ้หรือชนะอยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน ผิดแค่จุดเดียวอาจจะกระทบกับทั้งประเทศ เราคงจำความรู้สึกวันที่ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ป่วยใหม่พุ่งสูงถึง 188 ราย เราตกใจ ตระหนกกันมาก อย่าให้เกิดแบบนั้นอีก ดังนั้นต้องช่วยกันป้องกันตัวเองจากการรับและแพร่เชื้อฯ ต่อ ดังนั้นรักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ต้องทำเข้มข้นห้ามผ่อนผัน” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว