ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ซอยบางลา จ.ภูเก็ต ซึ่งเต็มไปด้วยสถานบันเทิงและเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือพื้นที่การระบาดไวรัสโควิด-19 แบบกลุ่มก้อน (Cluster) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสนามมวยลุมพินี

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากการล้มป่วยของนักธุรกิจต่างชาติ ก่อนที่เชื้อจะแพร่ไปสู่พนักงานในร้าน และกระจายไปสู่นักท่องเที่ยวในเวลาอันรวดเร็ว

ทุกตารางนิ้วในซอยบางลาตกอยู่ในความเสี่ยง ทางการจัดให้อาณาบริเวณนี้เป็น “พื้นที่สีแดง”

3 วันก่อน ซอยบางลาได้รับเกียรติประเดิมปฏิบัติการ “ปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุก” (Active cases finding : ACF) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ปฏิบัติการนี้เป็นความหวัง และผลลัพธ์ที่ได้ก็อยู่ในระดับยอดเยี่ยม

สำนักข่าว Hfocus พูดคุยกับ นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 ถึงความสถานการณ์ของ จ.ภูเก็ต จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด

- ‘บางลา’ กับความจำเพาะบางประการ -

ว่ากันตามหลักการพื้นฐานแล้ว หากพบการระบาดที่เป็น Cluster กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่งทีมลงไปสอบสวนโรค

แต่ด้วยซอยบางลา ป่าตอง เป็นมีลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างไปจากพื้นที่ทั่วไป นั่นทำให้การสอบสวนโรคยุ่งยากกว่าที่ควรจะเป็น

นพ.พิทักษ์พล บอกว่า ซอยบางลามีข้อจำกัดอยู่ 3 ประการ ทั้งหมดคืออุปสรรคต่อการสอบสวนโรคทั้งสิ้น

1. การซักประวัติ ... เนื่องจากมีบุคคลต่างชาติเป็นจำนวนมาก การซักประวัติจึงมีข้อจำกัด ตั้งแต่เรื่องภาษา ความสะดวกใจที่จะให้ข้อมูล นั่นทำให้การตามหาผู้สัมผัสโรค (Contact Cases) กลายเป็นเรื่องยาก ที่สุดแล้วจึงมีผู้สัมผัสโรคที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบประวัติจำนวนหนึ่ง

แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสจะแพร่เชื้อต่อ จนทำให้ไม่สามารถจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้

2. พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ... ความต้องการของนักท่องเที่ยวคือการไปเที่ยว นักท่องเที่ยวจึงมักเดินทางไป-มา ไม่ยอมอยู่ในที่พัก และถึงแม้ จ.ภูเก็ต จะประกาศล็อกดาวน์ไปตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ทว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่ก็คือยังมีการรวมตัวเฮฮา และแอบดำเนินธุรกิจในซอยบางลาอยู่

3. ห้องปฏิบัติการมีแห่งเดียว ... ในขณะที่ห้องปฏิบัติการ (Lab) ของ จ.ภูเก็ต มีเพียงแห่งเดียว และมีศักยภาพในการตรวจเชื้อได้แค่วันละ 80 ตัวอย่าง แต่ห้องปฏิบัติการแห่งนี้กลับต้องรองรับสิ่งส่งตรวจจากจังหวัดใกล้เคียงด้วย จึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหา “คอขวด” และความล่าช้าในการยืนยันผลขึ้น

จากข้อจำกัดทั้งสามประการนี้ ถึงแม้ ผวจ.ภูเก็ต จะสั่งปิดสถานบันเทิงไปแล้ว หากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ราวๆ วันละ 5-10 ราย โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 109 ราย รักษาหาย 17 ราย

- สอบสวนโรคแบบเดิมๆ คงไม่พอ -

โดยปกติแล้ว การสอบสวนโรคตามมาตรฐานทางการระบาดวิทยาแบบดั่งเดิม (Conventional) จะเริ่มจาก “ผู้ป่วย” เป็นลำดับแรก

1. เมื่อทราบว่าใครติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปสัมภาษณ์เพื่อให้ทราบว่า 14 วัน ก่อนหน้านั้น ผู้ป่วยเดินทางไปที่ใด และพบปะผู้ใดบ้าง

2. เมื่อทราบแล้วว่าผู้ป่วยได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร ก็จะจำแนกคนใกล้ชิดเหล่านั้นออกเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk) และผู้มีความเสี่ยงต่ำ (Low Risk)

3. เจ้าหน้าที่จะตามไปตรวจเชื้อผู้ที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมทั้งเฝ้าระวัง 14 วัน

4. ในกลุ่มของผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังเฉยๆ โดยไม่มีการตรวจเชื้อ

แต่ด้วยความจำเพาะของซอยบางลาตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสอบสวนโรคแบบปกติ ทำให้ จ.ภูเก็ต ต้องปรับวิธีการด้วยการเปิดปฏิบัติการปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุก ด้วยการ scan พื้นที่ ตามความเสี่ยง สีแดง-สีส้ม-สีเหลือง-สีเขียว

นพ.พิทักษ์พล อธิบายว่า ซอยบางลาถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง จึงจำเป็นต้องเชิญผู้ที่อยู่ในพื้นที่มาตรวจเชื้อทั้งหมด รวมถึงผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น นวดแผนไทย ด้วย

สำหรับการตรวจในปฏิบัติการปูพรมเชิงรุกจะเป็นการตรวจอย่างละเอียด ทั้งการซักประวัติ พฤติกรรม ตลอดจนผลจากห้องปฏิบัติการ

“ในกลุ่มคนไทย เขาอยากให้เราตรวจอยู่แล้ว เพราะหลักของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คือสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ตรวจฟรีทุกรายตามที่แพทย์เห็นถึงความจำเป็น”

ฉะนั้น วิธีการทำงานภายใต้ปฏิบัติการปูพรมฯ ก็คือการ Scan พื้นที่ เพื่อตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นี่คือสิ่งที่ จ.ภูเก็ต กำลังทำ ซึ่งเป็นที่แรก และที่เดียวในประเทศไทย

- ล็อกดาวน์ภูเก็ต-ปิดป่าตอง คือจุดเปลี่ยน -

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เปิดปฏิบัติการปูพรมเชิงรุกได้ก็คือ “คำสั่งล็อกดาวน์” โดยในวันที่ 30 มี.ค.2563 ผวจ.ภูเก็ต มีคำสั่ง “ปิดจังหวัด” ทั้งทางบก-ทางเรือ

“จังหวัดภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะที่มีทางเข้าออกไม่กี่ทาง เมื่อท่านผู้ว่าฯ สั่งปิดเมืองก็สามารถปิดกั้นผู้ที่เดินทางเข้า-ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากคำสั่งปิดป่าตองในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ก็ยิ่งทำให้เรา Scan พื้นที่ได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ การแบ่ง zone ความเสี่ยงเป็นสีต่างๆ ได้แก่ แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว ยิ่งทำให้ง่ายต่อการกำหนดมาตรการที่เข้มงวด อย่างในพื้นที่สีแดงคือการห้ามออกจากบ้าน ตรงนี้สนับสนุนให้การเข้าไปค้นหาเชิงรุกทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าไปเชิญผู้ที่สัมผัสเชื้อ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงออกมาตรวจเป็นรายคน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตรงกับวันที่ 2 เม.ย. เจ้าหน้าที่ได้เปิดปฏิบัติการ Scan พื้นที่เป็นครั้งแรก โดยได้ตรวจประชาชนที่แทบจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา จำนวน 201 ราย พบว่ามีผู้ติดเชื้อ ถึง 12 ราย คิดเป็น 5%

นั่นสะท้อนว่า หากไม่ค้นหาแบบ active ก็จะยังมีผู้ติดเชื้อซุกซ่อนอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

“คนเหล่านี้เขาไม่ได้อยากจะปกปิดเรา เพียงแต่เขาอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้ออยู่ ซึ่งถ้าเราค้นหาพบก็จะได้เชิญให้ไปเฝ้าระวังได้ ตรงนี้จะเป็นผลดีต่อสุขภาพเขา เพราะถึงแม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่ถ้าเชื้อลงปอดจะทำให้ปอดอักเสบจนโคม่าและเสียชีวิตได้”

จากการทำงานเมื่อวันพฤหัสบดี นพ.พิทักษ์พล ประเมินว่า เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะสามารถค้นหาผู้ที่ติดเชื้อได้

“ขณะนี้มีคำสั่งล็อกดาวน์ป่าตองตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เราเดินหน้าปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุกได้ง่ายขึ้น โดยในวันที่ 5 และวันที่ 6 เม.ย.จะมีปฏิบัติการอีก จากนั้นค่อยมาประเมินกันว่าเพียงพอแล้ว หรือต้องเปิดปฏิบัติการเพิ่มเติม”

ขอบคุณภาพจากเพจ ภูเก็ตรวมใจต้านภัย Covid-19

- ถ้าปิดเมืองเข้มข้น ‘ภูเก็ต’ รอด -

ยิ่งตรวจมากยิ่งเจอมาก ฉะนั้นอย่าได้ตกอกตกใจหากตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมวันละ 7-8 ราย เป็นวันละ 15-20 ราย

“หลักการทำงานคือค้นหาให้เร็วเพื่อนำตัวออกมาเฝ้าระวัง ในช่วงแรกที่อาการเบายังไม่ค่อยน่าเป็นห่วงอะไร แต่ถ้าอาการเริ่มหนักมากขึ้นก็จะได้ให้ยาได้ทันเวลา เพราะถ้าอาการหนักแต่เราให้ยาช้า โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตย่อมมีมากขึ้น”

...

“ถ้าเราพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการเบาหรือแทบจะไม่แสดงอาการเลย เราจะส่งเขาไปสังเกตการณ์ที่โรงพยาบาลสนาม ที่ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตแห่งใหม่ ส่วนผู้ที่มีอาการมากก็จะส่งไป admit ที่โรงพยาบาลต่อไป”

...

“เรามีแนวปฏิบัติทางการแพทย์หรือไกด์ไลน์ที่บอกว่า ณ จุดไหน ควรให้ยาอะไร เช่น ยาขั้นต้น ยาขั้นที่สอง ยาขั้นที่สาม ซึ่งยาขั้นต้นจะเป็นยากลุ่มที่ราคาไม่สูงมาก ผลิตได้ในประเทศไทย แต่ถ้ายากลุ่มแรกเอาไม่อยู่ ราคาหนักขึ้น เราก็จะมียากลุ่มที่สอง กลุ่มที่สาม

“ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก ขณะนี้เรามียาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งท่านรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ไปหามาจากจีนและญี่ปุ่น พร้อมอยู่ในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว”

...

“เบื้องต้นผมได้สั่งการให้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตติดตั้งห้องแล็บเพิ่มแล้ว ซึ่งก็ต้องมีขั้นตอนการทดสอบ และการผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน

“ผมจึงได้แก้ปัญหาด้วยการประสานห้องแล็บเคลื่อนของภาคเอกชนจาก กทม.มาช่วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช.”

...

สำหรับ จ.ภูเก็ต เดิมมีการตั้งสมมุติฐานไว้ว่ากรณีที่รุนแรงสุด คือมาตรการทางสังคมใช้ไม่ได้ผลเลย ผู้ป่วย 1 คน จะสามารถแพร่เชื้อออกไปได้ถึง 2.2 คน ซึ่งปลายเดือน เม.ย.นี้ จะมีผู้ป่วยประมาณ 248 ราย

อย่างไรก็ตาม ก่อนมีมาตรการปิดเมืองกลับพบว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการประมาณการกันใหม่ว่าผู้ป่วย 1 คน จะสามารถแพร่เชื้อได้ถึง 3 คน

ดังนั้นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ปลายเดือน เม.ย.นี้ จะมีผู้ป่วยถึง 700 ราย

“หลักการคิดแบบนี้ ก็เพื่อที่จะได้เตรียมเตียงให้เพียงพอสำหรับความต้องการให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลฉลอง พร้อมกับโรงพยาบาลเอกชน”

อย่างไรก็ดี นพ.พิทักษ์พล เชื่อมั่นว่า หากมีมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มข้น และมีการ Scan พื้นที่อย่างจริงจัง จำนวนผู้ป่วยจะไม่ถึง 700 รายอย่างแน่นอน

“ตามมาตรฐานขั้นต่ำ การปิดเมืองให้ได้ผลอย่างน้อยต้องปิดประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าปิดยิ่งมากก็ยิ่งดี ดังนั้นหากภูเก็ตปิดเมืองได้ดีไปจนถึงกลางเดือนนี้ คิดว่าสถานการณ์จะสงบลง ไม่น่ามีปัญหา”

ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ควรจะเป็น ซึ่งจังหวัดอื่นสามารถดำเนินการได้เช่นกัน

ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด จุดที่จะชี้ขาดความสำเร็จในปฏิบัติการปูพรมค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุก อยู่ที่ความเข้มข้นของมาตรการ “ล็อกดาวน์”

หากไม่เด็ดขาด ก็คงไม่สามารถยับยั้งภัยคุกคามครั้งนี้ไปได้

ผู้เขียน : ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน