ในปลายเดือน มี.ค. ขณะที่การระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ใน “จุดพีค” ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นหลักร้อยในแต่ละวัน หลังจากพบ “Super spreader” แพร่เชื้อในสนามมวยและสถานบันเทิง ตามด้วยแรงงานแห่กลับจังหวัดภูมิลำเนาเมื่อรัฐบาลประกาศปิดห้างร้านในเขตกรุงเทพฯ
นพ.ธนิต (นามสมมติ) แพทย์จบใหม่ใช้ทุนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของภาคใต้ ตามข่าวการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมดูแลแรงงานกลับภูมิลำเนาที่อาจป่วยจากโรคโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าเขาจะกลายเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อเสียเอง
“วันนั้น ผมเข้าเวรตรวจผู้ป่วยนอกตามปกติ มีผู้ป่วยเป็นหวัดมาขอเข้าตรวจ ผมถามไปถามมา ผู้ป่วยคนนั้นถึงค่อยบอกว่าไปสถานบันเทิงในภูเก็ตมา ผมเลยรีบส่งต่อเคสให้ตรวจเชื้อโควิด อีกวันผลออกมาว่าเป็นบวก ผมเลยถูกสั่งกักตัว 14 วันทันที” ธนิตเล่าเหตุการณ์
“วันนั้นผมใส่แค่หน้ากากอนามัย ไม่ได้ใส่ชุดป้องกัน เพราะที่โรงพยาบาลมีชุดจำกัด เราต้องจัดแบ่งชุดให้กับหมอที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อก่อนเป็นลำดับแรก แพทย์ที่เข้าเวรห้องตรวจทั่วไปจะได้รับแค่หน้ากากอนามัยคนละชิ้นต่อวัน”
ธนิตผ่านการกักตัวโดยไม่พบอาการผิดปกติ แต่แพทย์รุ่นน้องในโรงพยาบาลของเขาไม่โชคดีเช่นนั้น เพราะเขาติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจอาการและดูแลผู้ป่วยอีกรายหนึ่ง
การพบผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ขาดอุปกรณ์ป้องกันแห่งนี้ ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องเสียบุคคลากร รวมทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สัมผัสกับผู้ป่วย ให้กับการกักตัวและรักษาโรคโควิด-19 โดยในวันที่พบผู้ป่วย ทุกคนใส่เพียงหน้ากากอนามัยเท่านั้น
กรณีของธนิตและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของเขา เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างสถานการณ์ที่บุคลากรแพทย์พบได้ทั่วไป ในขณะที่ทำงานควบคุมการระบาดของเชื้ออยู่ที่ “หน้าด่าน”แต่กลับไม่มีการรับรองความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เพราะขาดอุปกรณ์ป้องกัน (Personal Protection Equipment: PPE) โดยเฉพาะ หน้ากาก N95 และชุดกันเชื้อโรค
และเป็นที่รู้กันว่าเรื่องนี้ “ผู้ใหญ่” ห้ามพูด เพราะจะทำให้หน่วยงาน “เสียหน้า” กลายเป็นองค์กร “อนาถา”
แม้จะพูดกันไม่ได้เต็มปาก แต่ปัญหาการขาคแคลนอุปกรณ์ป้องกันก็ฟ้องผ่านตัวเลขการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมียอดเพิ่มขึ้นรายวัน
โดยในวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา นพ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวน 102 คน คิดเป็นร้อยละ 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในไทย
ร้อยละ 65 ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อมาจากการปฏิบัติหน้าที่ อีกร้อยละ 20 ติดเชื้อจากในชุมชน ที่เหลือไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อจากที่ไหน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 40 แพทย์ร้อยละ 10 ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาลร้อยละ 10 นอกจากนี้ ร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผยประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโควิด-19
จากตัวเลขทางสถิติ หลายภาคส่วนพุ่งเป้าโทษผู้ป่วย ในฐานะ “จำเลย” ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่ในความเสี่ยง แต่สาเหตุหลักที่หน่วยงานส่วนกลางมักปฏิเสธ คือ ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่ห่างไกลจากเขตเมือง
หน้ากาก ชุดป้องกัน ยังขาดแคลน
ก่อนหน้านี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่าให้กระทรวงพาณิชย์ประสานโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 แห่ง เพื่อรับหน้ากากจำนวน 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน แล้วกระจายให้เจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน พบว่ายังไม่ได้รับหน้ากากอนามัยจากรัฐบาลจนถึงวันนี้
“เราไม่แน่ใจว่าหน้ากากอนามัยอยู่ที่ไหน ทุกวันนี้ เรายังต้องขอบริจาคหน้ากากอนามัยและชุดกันเชื้อโรคอยู่เลย เพราะเรามีไม่พอ เข้าใจว่าเราเป็นโรงพยาบาลห่างไกลขนาดเล็ก พอเราพบผู้ติดเชื้อ เราก็ส่งเข้าโรงพยาบาลระดับจังหวัด เลยดูเหมือนว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน” แพทย์คนหนึ่งบอกกับ Hfocus โดยขอให้ปิดบังชื่อและตัวตน
“แต่จริงๆแล้ว โรงพยาบาลของเราอยู่ในพื้นที่มีการระบาดสูง เวลาผู้ป่วยมีอาการไข้มาขอตรวจ เจ้าหน้าที่ของเราก็เสี่ยงกันหมด ไม่รู้ว่าเขามีเชื้อไหม แต่ก็ต้องตรวจ พอผลตรวจออกมาเป็นผลบวก เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสเขาก็ต้องหยุดงานไปกักตัว 2 สัปดาห์ เราก็ขาดคนทำงาน
เรามีชุดกันเชื้อโรคไม่กี่ชุด หลังๆ ก็เอาเสื้อกันฝนมาใช้แทน ทำหน้ากาก Face Shield เอง ใช้หน้ากาก N95 ที่มีอยู่ซ้ำๆ มันยังดีกว่าเราไม่มีอะไรป้องกันตัวเลย”
จากสถานการณ์ขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ในหลายโรงพยาบาลเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อจัดการตัวเอง แทนที่จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
เช่น ในกรณีของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดชายแดนใต้ ทีมแพทย์และพยาบาลกำหนดกติกาภายในให้ใช้ชุดป้องกันเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นผลบวก โดยจัดระเบียบตรวจผู้ป่วยในห้องกักตัว 1 ครั้งในรอบ 4-5 วัน วันอื่นๆ ใช้วิธีคุยผ่านวีดีโอคอล เพื่อลดการใช้ชุดกันเชื้อโรค ซึ่งเมื่อใช้แล้ว ต้องทิ้งทันที ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแต่ยังไม่ทราบผลตรวจ ให้บุคลากรใส่ชุดกันฝนแทน
“ตอนเราเจอผู้ติดเชื้อรายแรกในโรงพยาบาลก็ค่อนข้างวุ่นวาย เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์จัดการโรคโควิด แต่เมื่อผ่านไปสักพัก เราค่อยๆ เรียนรู้และจัดระบบได้ลงตัว แม้ว่าเรามีทรัพยากรจำกัดมาก” แพทย์ประจำโรงพยาบาลเล่า
ขณะที่อุปกรณ์ป้องกันยังคงขาดแคลน หรือเดินทางไปไม่ถึงมือของบุคลากรทางการแพทย์ ก็มีข่าวการกักตุนและโก่งราคาหน้ากาก N95 และชุดป้องกัน รายงานออกมาเป็นระยะ
ในวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 9 /2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) และมีฉบับแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 12/2563
โดยมีหน้าที่หลายข้อ รวมทั้งวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน กำหนดราคากลาง หลักเกณฑ์และวิธีการกระจายพัสดุ เวชภัณฑ์ป้องกัน และสินค้าหน้ากากอนามัย ที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 เพื่อกระจายทรัพยากรไปยังบุคลากรทางการแพทย์ให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ก็ไม่วายโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าออกคำสั่งมาช้าเกินไป ในตอนที่โรงพยาบาลต่างทยอยปรับตัว จัดการความขาดแคลนให้ระบบการคัดกรองและรักษายังเดินต่อไปได้
อุปกรณ์ป้องกันต้อง “เพียงพอ” และ “ได้มาตรฐาน”
“ปกติ บุคลากรทางการแพทย์ในไทยก็มีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว และโควิด-19 ก็เป็นโรคระบาดรุนแรงที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน จะดีที่สุด ถ้าเราสามารถปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ยังรวมถึงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ Hfocus
นพ.ธีระเสนอว่าต้องมีการจัดการใน 2 ประเด็นหลัก ข้อแรก ต้องตรวจสอบมาตรฐานการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ปิดช่องโหว่ที่มีอยู่ เช่น ระบบการทำงานที่ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การวางแผนจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล
รวมทั้งการคมนาคมซึ่งเป็นประเด็นที่เมืองไทย “ไม่ค่อยพูดถึง” เช่น การจัดหาที่พักใกล้โรงพยาบาล หรือในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
นพ.ธีระอ้างอิงถึงงานวิจัย Characteristics of health worker fatality in China during the outbreak of COVID-19 infection จัดทำโดย Wei Li และคณะ วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ในเซี่ยงไฮ้
พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 24 คนในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยร้อยละ 54% เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 1 ใน 3 เกิดจากการเสียชีวิตกระทันหันจากสาเหตุอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหัวใจหยุดเต้น และหัวใจขาดเลือด อีกร้อยละ 12.5 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทั้งในระหว่างการทำงานและหลังเลิกงาน
“อีกข้อคือ บุคลากรทางการแพทย์จะสู้กับโรค ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน โดยต้องมี ‘เพียงพอ’ และ ‘ได้มาตรฐาน’ เพียงพอคือไม่ต้องมา reuse (ใช้ซ้ำ) จะได้ไม่เสี่ยงติดโรค ได้มาตรฐานคือเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพ”
ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดทั่วโลก กำลังผลิตอุปกรณ์น้อยกว่าความต้องการ มีคนพยายามกว้านซื้อ หรือผลิตของไม่ได้มาตรฐานออกมาจำหน่าย เช่น ในกรณีขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งทำหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน พบว่ามีเอกชนบางรายเข้ามาเสนอขายสินค้าอย่างเร่งรีบ หรือ “รีบร้อนให้ซื้อ” แต่พบว่าสินค้าไม่มีคุณภาพ เช่น ตะเข็บชุดป้องกันมีรูรั่ว
“การระบาดของเชื้อโควิดเป็นตัวทดสอบ Preparedness หรือความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรง” นพ.ธีระ กล่าว
“โควิดไม่ได้มาครั้งเดียว โควิดหรือโรคอื่นๆ จะมาจู่โจมซ้ำ หลังจบศึกครั้งนี้ในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า เมืองไทยต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาระบบให้ยั่งยืน เราเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ต้องมีการผลิตอุปกรณ์ป้องกันให้เพียงพอ ให้เราพอหายใจหายคอได้เวลาที่เกิดวิกฤติ”
เพิ่มศักยภาพการผลิตชุดป้องกันระดับ “อุตสาหกรรม”
ภายหลังประสบปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนัก เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ก้าวเข้ามาอยู่ใน “สปอตไลท์” โดยประกาศสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท และตั้งเป้าผลิตหน้ากากอนามัยให้ได้ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆนี้ว่า เครื่องจักรในการผลิตหน้ากากอนามัยพร้อมที่จะผลิตได้ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยจะส่งมอบหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และแจกฟรีให้กับประชาชน
คาดการณ์กันว่า การเขยิบเข้ามาในวงธุรกิจผลิตหน้ากากอนามัยของเอกชนทุนหนาอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรับมือต่อวิกฤตของไทยในอนาคต อย่างไรก็ดี ศักยภาพการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ รวมทั้งยาของไทย ยังถือว่ามิได้มีมากนัก และไม่มากพอที่จะทำให้ไทยพึ่งพาตัวเองได้หากเกิดวิกฤติการระบาดในครั้งต่อไป
เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ ประกอบกับการตอบสนองต่อวิกฤติอย่างทันท่วงทีของรัฐบาล คือปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศต้นแบบอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน สามารถจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ได้
โดยไม่เกิดปัญหาขาดแคลนหรือกักตุนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ไม่มีปัญหาบริษัทผูกขาดสินค้าโดยผู้ผลิต รวมทั้งยังมีสินค้าเหลือมากพอที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ
“ในเรื่องของชุด(กันเชื้อโรค) รัฐบาลน่าจะผลักดันให้เราผลิตชุดในระดับอุตสาหกรรม ส่วนยา เรายังนำเข้ามากกว่าที่ผลิตได้เอง” นพ.ธีระ กล่าว
“เราต้องวางแผน แต่ต้องใช้เวลา ใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างโรงงานให้ได้มากขึ้น ในระยะยาว หากรัฐทำงานร่วมกับเอกชนในการเพิ่มศักยภาพการผลิต น่าจะทำให้เราตอบสนอง(ต่อวิกฤติโรคระบาด)ครั้งหน้าได้ดีขึ้น”
ผู้เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ
- 1052 views