ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แสงสว่าง ปลายอุโมงค์ริบหรี่ ผู้อาวุโสในวงการสาธารณสุขไทยจึงมิอาจเพิกเฉย

ไม่บ่อยนักที่ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.) และอดีตปลัด สธ. จะแสดงท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน สธ. โดยความไม่ลงรอยในนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน(P4P)

"หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานบริการสาธารณสุขในชนบทมาให้ความเห็น จะทำให้หลงทางกันไปใหญ่ ... การถอยอย่างผู้เจริญแล้วในขณะนี้ดูเหมือนจะสายเกินไป แต่เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างพังทลายลงไป" คือข้อกังวลของ นพ.มงคล ซึ่งส่งผ่านมาทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุด นพ.มงคล ให้สัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติม"ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขควรลดการใช้อำนาจลง"นพ.มงคล ระบุ

นพ.มงคล บอกว่า ผู้มีอำนาจก็จะใช้อำนาจสั่งการมีอำนาจก็ยึดว่าไม่ต้องฟังเสียงผู้น้อย เมื่อต่างฝ่ายต่างพูดแต่ภาษาของตัวเอง ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกันโดยยึดหลักฐานข้อเท็จจริง โดยผู้บริหาร สธ. ควรเปิดโอกาสให้ผู้น้อยได้เข้าไปนั่งคุย ให้เด็กได้เสนอปัญหา

"กระทรวงสาธารณสุขควรหาช่องทางพูดคุยกับชมรมแพทย์ชนบทให้มากกว่านี้ ผมเห็นว่าขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังขาดสติแต่ผู้น้อยขาดสติยังไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ขาดสติ เพราะจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น" แพทย์อาวุโสรายนี้แสดงความเป็นห่วง

คุณหมอมงคล แสดงความคิดเห็นเพิ่มอีกว่าสถานการณ์ปัจจุบันทั้งสองฝ่าย คือ ผู้บริหาร สธ.และชมรมแพทย์ชนบทเอาแต่พูดเฉพาะภาษาของตัวเอง ไม่ฟังกัน แน่นอนว่าคงไม่สามารถหาทางออกได้

สำหรับการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทที่ยกระดับขับไล่ รมว.สธ. ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสม แต่นั่นอาจเป็นเพราะหมดหนทางอื่นแล้วก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งครั้งนี้คือประชาชน ดังนั้นการขอให้รมว.สธ.ลาออกอาจไม่ใช่ทางแก้ไข วิธีที่ดีที่สุดคือการหันหน้าพูดคุยกันให้มากกว่านี้

อดีต รมว.สธ.รายนี้ วิเคราะห์ว่า ความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้บริหาร สธ.รับข้อมูลมาไม่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น เชื่อว่าแพทย์ในชนบททำงานไม่เต็มที่ เนื่องจากพฤติกรรมที่มักส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในพื้นที่ไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และยังเชื่ออีกว่าระบบP4P จะมาช่วยแก้ปัญหาทั้งที่สาเหตุของแพทย์ในชนบทคือความไม่พร้อมของโรงพยาบาลในชนบท

ประกอบกับกฎเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ว่า แพทย์ที่ผ่าตัดโดยไม่พร้อมจะมีความผิด ดังนั้นจะโทษว่าแพทย์ในชนบทไม่ทำงานคงไม่ได้

นพ.มงคล สะท้อนการทำงานของแพทย์ในชนบทว่า งานในชนบทไม่เหมือนการให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป คือ ต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่นในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ

การส่งเสริมและป้องกันโรคจะไม่สามารถนำไปนับเป็นแต้มในระบบ P4P ได้ ส่งผลให้แพทย์ในชนบทมุ่งแต่ให้บริการรายบุคคลเพื่อทำคะแนนผลพวงที่ได้รับจากนี้คือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่ม แต่สุขภาพประชาชนแย่ลง

"ผู้บริหารที่ไม่เคยสัมผัสงานในชนบท จะไม่รู้ว่าจิตวิญญาณในชนบทเป็นอย่างไร" นพ.มงคล ระบุ

เขาบอกอีกว่า ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านระบบ P4P แต่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ ระยะเวลา และงานเช่น การบริการทางการแพทย์รายบุคคลสามารถใช้P4P ได้ แต่การทำงานด้านสาธารณสุขอาจใช้การให้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายถึงเหตุผลในการปรับ ทั้งผู้บริหารและบุคลากรควรจะมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผลและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องนี้คงไม่สามารถตัดสินได้ว่าขาวหรือดำ ถูกหรือผิด แต่อยู่ที่บริบทว่าจะเอาปัจจัยใดเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งน่าจะยืดหยุ่นต่อรองกันได้หรือพบกันครึ่งทาง

"โรงพยาบาลศิริราชเองก็มีการใช้ระบบ P4P เพราะเห็นว่าฐานเงินเดือนข้าราชการทั่วไปต่ำกว่าเอกชนมาก ทำให้มีช่องว่างสูง การจะดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ให้อยู่กับองค์กรจึงเป็นเรื่องลำบาก"นพ.อุดม ระบุ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 เมษายน 2556