ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Cofact เชื่อมต่อโลกออนไลน์ ระดมความคิดเห็นและแนวทางรับมือ “โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร - infodemic” ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 อย่างไร ไม่ให้ตื่นตระหนก และตกเป็นเหยื่อข่าวลวงข้อมูลเท็จ

เมื่อเร็วๆ นี้ ในการเสวนาออนไลน์เรื่อง เราควรรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) อย่างไรให้สมดุล จัดโดย ภาคประชาสังคม และกลุ่ม CoFact หรือ Collaborative Fact Checking แพลตฟอร์มใหม่ของภาคพลเมืองในการตรวจสอบข่าวลวง 

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม สำนักสร้างเสริมระบบสื่อสารและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ในภาวะแพร่ระบาดโควิด-19 ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญมาก การที่ประเทศไทยสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้สูงเกินขีดความสามารถด้านสาธารณสุข ส่วนสำคัญการมาจากการสื่อสาร และส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ แต่ระหว่างทางก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเผยแพร่อยู่บ้าง จนต้องมีการบัญญัติศัพท์คำว่า infodemic คือ การระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรค ลักษณะการแพร่ระบาด เช่น กรณีที่ถกเถียงกันเรื่องแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศได้หรือไม่ ซึ่งในรายละเอียดที่ถูกต้อง หมายถึงรูปแบบการรักษาพยาบาล ที่ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย อันเป็นพื้นที่เฉพาะมากๆ เมื่อตีความผิดจึงทำให้เกิดความตื่นตระหนก

“ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนหรือไม่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้ประชาชนปฏิบัติตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์แพร่ระบาด และเกิดเป็นคำถามรวมถึงไม่เชื่อมั่น ขณะเดียวกันในด้านของผู้ออกนโยบายเอง ก็ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อจัดทำนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น Cofact ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญมาก ที่จะเปิดให้ทุกคนและทุกภาคส่วน ได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วม ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร”

นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีกลไกการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ต่อไปนี้จากการแข่งขันที่ความรวดเร็วในการสื่อสาร อาจปรับเปลี่ยนเป็นความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนั้น ในการสื่อที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเท็จ นักระบาดวิทยาเราให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยกำหนด” ด้วยว่าเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้เข้าไปจัดการกับชุดข้อมูลเหล่านี้ ให้ถูกต้องและชอบธรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งกลไกรัฐ ความร่วมมือจากสื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ และภาคประชาสังคมด้วย นอกจากนี้ ในแง่การสร้างความตระหนักรู้ และการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชน สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะ รวมถึงหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงตอบข้อสงสัยได้ ถือเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ด้าน พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ กล่าวว่า สำหรับคนทำงานด้านการตรวจสอบความถูกต้อง ของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในสังคม ตอนนี้ในช่วงการระบาดโควิด-19 เหมือนเป็นช่วงเวิลด์เอ็กซ์โปรหรือโอลิมปิก เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่มีข่าวปลอมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเป็นข้อมูลที่มีความหลากหลายหมวดหมู่ รวมถึงหลากหลายแหล่งที่มาด้วย ซึ่งเบื้องต้นสามารถสรุปแหล่งที่มาหลักๆ แบ่งออกเป็น 8 แหล่ง คือ 1. สื่อทุกระดับ ทั้งจากสื่อหลัก สื่อรอง และบุคคลที่อ้างตัวเป็นสื่อ 2. ผู้เชี่ยวชาญ หลายคนอ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ และสื่อสารข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสน 3. คนขายของ มุ่งหวังให้เกิดความเชื่อถือในตัวสินค้า 4. ประชาชน รู้เท่าไม่ถึงการณ์เผลอแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบ 5. ลวงข้ามชาติ ข้อมูลที่แปลและส่งต่อๆ กันมา 6. หน่วยงาน/นักการเมือง จากการสื่อสารที่ทำให้เกิดความสับสน และอาจเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นจากการไม่ลงรอยกัน 7. เกรียน/ป่วน กลุ่มคนที่ตั้งใจให้แตกตื่น และ 8. อุบัติเหตุ จากการสื่อสารที่ขาดความครบถ้วน

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม เพียงแค่วันละประเด็นก็ยากแล้ว แต่ตอนนี้ทั่วโลกทุกประเทศ และทุกคนเจอปัญหาเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ บางอย่างไม่เหมือนกัน ทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการแบ่งประเภทของข้อมูลเท็จ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ “ข้อมูลที่ทำให้ตื่นตระหนกตกใจ” ปัญหาของกลุ่มนี้ทำให้คนบางคนเกิดความกังวลจนเกินความจำเป็น หรือบางส่วนก็ชะล่าใจเกินไป ทางแก้จำเป็นต้องไปตรวจสอบข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังการสื่อสาร ที่ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความดราม่า “ข้อมูลที่ทำให้สำคัญผิด” โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการแพทย์ เมื่อคนเข้าใจผิดก็ทำให้เกิดการปฏิบัติ หรือดูแลสุขภาพแบบผิดๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเสียชีวิตได้ และ “ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเครียดสับสน” อาจเกิดจากการปิดบังข้อมูล ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และสุดท้ายปัญหาเหล่านี้ ก็ไม่ได้รับการชี้แจงหรือแก้ข่าว

“สำหรับคำแนะนำในการตรวจสอบความถูกต้อง ต้องเริ่มจากสืบหาต้นตอ วิเคราะห์ที่มา และตรวจสอบเนื้อหา เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ อาจเริ่มต้นจากการสงสัยไว้ก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ที่มาไม่ชัดเจน” พีรพล กล่าว

ขณะที่ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ในภาวะโรคระบาดการแชร์ข่าวสารที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง ในมุมมองคนทำงานด้านเทคโนโลยี ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี ก็มองว่าต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ อย่างเช่นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ถ้าใช้คนอย่างเดียวไม่มีทางรวบรวมได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นมากที่เราต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมูลบนโซเชียลมาเก็บไว้ในฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า และออกแบบระบบคัดกรองข้อมูล พร้อมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้ผู้ใช้งานเข้ามาค้นหาและคัดกรองเนื้อหาได้ง่ายๆ ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความท่วมท้นของข้อมูล หากเรามีการจัดทำ Daily Summary สรุปประเด็นสำคัญรายวัน ไม่เกิน 10 ประเด็น อิงตามความสนใจของประชาชน พร้อมทั้งสรุปข้อมูลเท็จข่าวปลอมในแต่ละวัน น่าจะช่วยลดความตื่นตระหนก การจากรับข้อมูลข่าวสารที่มากมายหลากหลายได้

ทั้งนี้ Cofact เกิดขึ้น จากการรวมตัวขององค์กรสื่อ และหน่วยงานภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม และบทบาทในการตรวจสอบ ความถูกต้องแม่นยำข้อมูลข่าวสาร