ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Infodemic: การแพร่ระบาดของข้อมูลเท็จในวิกฤติโควิด-19 กับมาตรการจัดการข่าวลวงของแต่ละประเทศ

ในขณะที่เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดใน 180 ประเทศทั่วโลก รัฐบาลต้องประสบกับการแพร่กระจายของข่าวลวง (Fake news) และข่าวลือ (Rumor) ที่สร้างความตระหนก และความสับสน รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ปรากฏการณ์นี้เรียกกันว่า “การแพร่ระบาดของข้อมูล” หรือ “Infodemic” ซึ่งพบทั้งข้อมูลเท็จที่ปล่อยมาอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ (Misinformation) ได้แก่ ข่าวลือและข่าวเล่นตลกซึ่งผู้ปล่อยไม่มีเจตนาสร้างความเสียหาย และข่าวบิดเบือนที่ปล่อยอย่างตั้งใจ (Disinformation) เช่น ข้อมูลให้ร้าย โฆษณาชวนเชื่อ หรือข่าวลวงที่ตั้งใจก่อให้เกิดความเสียหาย

ไม่ว่าจะเป็นใน Facebook, Instagram, Youtube, Whatsapp ไปจนถึง Line ต่างพบว่าข้อมูลเท็จในหลายโพสต์มียอดเอ็นเกจเมนท์สูงกว่าข้อมูลถูกต้อง ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และภาครัฐเสียอีก

Infodemic สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลและองค์กรนานาชาติต่างๆ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ซึ่งต้องรีบออกแก้ไขข้อมูลเท็จในหน้าเว็บ Myth Busters และยังส่งตัวแทนเข้าหารือกับบริษัทโซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตัลต่างๆ รวมทั้ง Facebook, Pinterest และ Amazon เพื่อขอความร่วมมือในการลบข้อมูลเท็จหรือสินค้าปลอมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด-19

แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะรีบออกนโยบายจัดการกับข้อมูลเท็จในทันที แต่ก็ไม่สามารถเก็บล้างได้หมด ร้อนถึงรัฐบาลในแต่ละประเทศ ที่ต่างต้องออกมาตรการออกมาจัดการกับข้อมูลเท็จเพื่อมิให้สร้างความสับสนต่อสาธารณะ รวมทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลในการระงับการระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี แนวทางการจัดการกับข้อมูลของแต่ละรัฐมีความแตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ทัศนคติผู้นำ และค่านิยมของประชาชน เช่นในสิงคโปร์ ซึ่งมีการปกครองกึ่งอำนาจนิยม พบว่าใช้กฎหมายปราบปรามและจับกุมผู้ที่ปล่อยข้อมูลเท็จอย่างเด็ดขาด ขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อในแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่ง ปล่อยให้สื่อและประชาชนจัดการกับข้อมูลข่าวสารกันเอง

ขณะที่ในประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ใช้ศูนย์ต่อต้านช่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ในการมอนิเตอร์และตรวจสอบข่าวสาร โดยดำเนินการแก้ข่าวบนหน้าเว็บไซต์ศูนย์ รวมทั้งส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุมผู้โพสต์ข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับโควิด-19 ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินควรหรือไม่

Hfocus รวบรวมมาตรการในบางประเทศ เพื่อให้เห็นแนวทางจัดการข้อมูลเท็จที่แตกต่างกัน พบว่าการสร้างความโปร่งใสในข้อมูลจากภาครัฐและภาวะผู้นำ มีผลอย่างมากต่อการลดความตระหนกจากข้อมูลเท็จ และเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งการระบาดของโรค

สิงคโปร์—ใช้ยาแรง สั่งแบนเว็บไซต์ ลงโทษผู้ปล่อยข้อมูลเท็จโดยเจตนา

รัฐบาลสิงคโปร์ใช้ยาแรงในการจัดการกับข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้กฎหมายต่อต้านข่าวลวง “Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act” หรือ POFMA (พระราชบัญญัติป้องกันจากความเท็จและการปลุกปั่นบนสื่ออนไลน์) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค. ปี 2562

มีบทลงโทษบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ “โดยเจตนา” เป็นค่าปรับมากถึงหนึ่งล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 23 ล้านบาท) และจำคุกสูงสุด 10 ปี แน่นอนว่าการใช้ยาแรง ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนว่ากฎหมาย POFMA ให้อำนาจรัฐบาลมากเกินไป และอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา States Times Review สื่อออนไลน์ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวชาวสิงคโปร์ลี้ภัยในต่างประเทศ โดนรัฐบาลแจ้งข้อหาละเมิดกฎหมาย POFMA ภายหลังเผยแพร่รายงานสถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยบนเพจเฟซบุ๊ค กระทรวงการสื่อสารและข้อมูลของสิงคโปร์จึงออกคำสั่งให้ผู้บริหารเว็บไซต์แก้ไขเนื้อหา แต่ไม่มีการปฏิบัติตาม จึงสั่งแบนเว็บไซต์ดังกล่าวทันทีในเดือน ก.พ. เป็นต้นมา

รัฐบาลยังดำเนินคดีกับบุคคลที่ให้ข้อมูลการรักษาและการสัมผัสโรคที่เป็นเท็จ เช่น ในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา คู่สามีภรรยาชาวจีนและสิงคโปร์ หนึ่งในนั้นติดเชื้อโควิด-19 ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ด้วยการให้ข้อมูลเท็จกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าตนกักตัวอยู่ในห้องพัก ทั้งๆที่ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกตามปกติ

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังตรวจสอบข้อมูลเท็จตามโซเชียลมีเดีย แล้วแก้ไขข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาลเป็นระยะๆ รวมทั้งเผยแพร่สารจากนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) ซึ่งมักกล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา

เกาหลีใต้ — สร้างความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ สยบทุกข่าวลวง

เกาหลีใต้พบข่าวลวงและข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 บนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และสร้างความตระหนกให้กับสาธารณะ เช่น มีผู้โพสต์ข้อความเท็จระบุสถานที่ที่มีคนติดเชื้อ โพสต์รูปหน้ากากเปื้อนเลือด พร้อมระบุสถานที่พบหน้ากาก รวมทั้งมีการสร้างข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมคนจีน สร้างความกังวลว่าอาจนำไปสู่ความเกลียดกลัวคนจีน (Xenophobia) และความขัดแย้งในสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์ข้อความในลักษณะกลั่นแกล้ง หรือที่เรียกกันว่า Prank เช่นในกรณีของแจจุง (Jaejoong) นักร้องเคป็อปแห่งวง JYJ โพสต์ข้อความลงบนแอคเคาท์อินสตาแกรม อ้างว่าตนติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวัน April Fools สร้างความขุ่นเคืองให้กับสาธารณะจนเจ้าตัวต้องมาขอโทษในภายหลัง

แม้รัฐบาลเกาหลีตระหนักว่ามีข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก สร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและสาธารณสุข แต่รัฐบาลเกาหลีใต้เลือกใช้แนวทางประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา

โดยเน้นการเปิดเผยข้อมูลจากภาครัฐให้มากที่สุด สร้างความโปร่งใสในข้อมูล เพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ ทั้งยังรณรงค์ให้ประชาชนรับฟังข่าวสารจากรัฐบาล และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการเข้าตรวจเชื้อในสถานพยาบาลและจุดคัดกรองต่างๆ

“เราไม่ได้เพียงแต่เผชิญหน้ากับไวรัส” ประธานาธบดี มุน แจ-อิน (Moon Jae-in) กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของข้อมูลบิดเบือน “เราควรยืนหยัดต้านความวิตกกังวลและความกลัว อาวุธที่จะปกป้องเราจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่ความหวาดกลัวและความเกลียดชัง แต่คือความไว้วางใจและความร่วมมือ

รัฐบาลยังสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการตรวจสอบข่าวสาร โดยขอให้หน่วยงานกำกับการสื่อสาร ผู้จัดทำบล็อกและเว็บไซต์ ลบหรือบล็อคข้อความที่เป็นเท็จ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งเกาหลีใต้ (National Police Agency) ปฏิบัติการตรวจตราโซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้น

ด้วยแนวทางการดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่เน้นที่การเอาผิดบุคคลรายเล็กรายน้อย แต่เน้นที่การปิดช่องทางส่งผ่านข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และจัดการกับผู้กระทำผิดรายใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่ปล่อยข้อมูลเท็จจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคและสาธารณะเป็นวงกว้าง

เช่น ในกรณีที่มีกลุ่มบุคคลฉวยโอกาสในช่วงระบาด ส่งข้อความผ่านมือถือถึงชาวเกาหลี และเสนอช่องทางการเข้าถึงข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยหลอกให้ผู้รับข้อความลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนบุคคล หรือในกรณีที่มีคนโพสต์ว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นแหล่งระบาดเชื้อ

อังกฤษ — รณรงค์ความรู้เท่าทันสื่อ ตั้งหน่วยตรวจพิเศษตรวจสอบข้อมูลเท็จ

รัฐบาลอังกฤษตั้งหน่วย Rapid Response Unit ภายใต้การสั่งการของสำนักงานคณะรัฐมนตรี นำโดยกระทรวงดิจิตัล วัฒนธรรม สื่อและกีฬา มีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและบริษัทเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้าร่วม

หน่วยปฏิบัติการนี้ทำหน้าที่มอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์ เมื่อพบข้อมูลเท็จ จะมีการขอความร่วมมือไปยังผู้ดูแลแพลตฟอร์มให้ดึงข้อมูลออก โดยพบข้อมูลเท็จมากกว่า 70 ชิ้นต่อสัปดาห์ มีหลายลักษณะ เช่น ข้อมูลที่อ้างถึงผู้เชี่ยวชาญอย่างผิดๆ ข้อความหลอกลวงให้คนเสียทรัพย์

นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังทำแคมเปญ Don't Feed the Beast รณรงค์ให้คนรู้เท่าทันสื่อ โดยเปิดเว็บไซต์ SHAREchecklist แนะวิธีการแยกแยะข้อมูลเท็จให้กับประชาชน รวมทั้งเปิดช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็นเท็จมายังเจ้าหน้าที่รัฐ

ความตื่นตัวของรัฐบาลอังกฤษในการจัดการข่าวสารด้านเชื้อโควิด-19 เกิดจากการแพร่สะพัดของข่าวลวงและข่าวลือบนโลกออนไลน์ ซึ่งมักมียอดวิวและยอดแชร์สูงกว่าข้อมูลที่ถูกต้องจากรัฐบาล เช่น บทความที่พูดถึงการรักษาผู้ติดเชื้อด้วยยารักษามาลาเรียและสารซิงค์

ในกรณีของเว็บไซต์ WND.com ได้เผยแพร่บทความว่าด้วยหมอชาวอเมริกันที่สามารถรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายร้อยรายได้สำเร็จ มียอดเอ็นเกจเมนท์บนเฟซบุ๊คมากกว่า 160,000 คนใน 1 วัน เป็นยอดที่สูงกว่าบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ National Health Service ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลสุขภาพของรัฐบาลอังกฤษ

นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือด้านการรักษาโรคโควิด-19 แบบผิดวิธี เช่น การกลั้วน้ำในคอเป็นเวลา 15 วินาที เพื่อให้เชื้อไหลลงสู่ท้องและถูกฆ่าโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร รวมทั้งข่าวลวงเรื่องการทำงานของรัฐบาล เช่น การปรับบุคคลที่ออกจากบ้าน ภายหลังประกาศมาตราการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลไม่มีมาตรการลงโทษทางอาญากับบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรการ

สหรัฐอเมริกา — สื่อและประชาชนตรวจสอบกันเอง

ข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับการระบาดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ มีตั้งแต่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการระบาด เช่น ข่าวลือการพบเชื้อบนบรรจุภัณฑ์กระดาษชำระ ความเข้าใจผิดว่าเชื้อไวรัสตายในอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส

ไปจนถึงทฤษฏีสมคบคิดที่ว่าเชื้อโควิด-19มาจากการเพาะเชื้อในแล็บของสายลับจีน และบิล เกต (Bill Gate) เจ้าพ่อแห่งบริษัทไมโครซอฟต์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการระบาด เพราะต้องการทำกำไรจากวัคซีน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง

ในประเทศที่นิยมเสรีภาพอย่างสหรัฐฯ รัฐบาลไม่ใช้มาตรการควบคุมสื่อ แต่ปล่อยให้สื่อและประชาชนตรวจสอบกันเอง

โดยสื่อสำนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น The New York Times, Washington Post, The Atlantic หรือ CNN ต่างตั้งทีมข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งมีภาคประชาสังคมหลายกลุ่มตั้งเว็บ Fact-checking เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเท็จที่ปล่อยในโซเชียลมีเดีย น้อยมากที่จะมีกรณีรัฐดำเนินคดีกับผู้ปล่อยข่าวลวงและข่าวลือ

แต่ก็กลับเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เมื่อผู้นำประเทศ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นผู้ปล่อยข้อมูลเท็จเสียงเอง จนทำให้เกิดความสับสนในข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการระบาด และส่งผลต่อมาตรการยับยั้งการระบาดที่ไร้ประสิทธิภาพ

เช่น ทรัมป์กล่าวอ้างว่าชาวอเมริกันส่วนมากได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริง สหรัฐฯมีอัตราการตรวจเชื้อต่อหัวประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น หรือการกล่าวหาว่ารัฐบาลสหรัฐฯในยุคของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barak Obama) ออกกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรต่อการตรวจเชื้อ ซึ่งไม่เป็นความจริง

การตรวจสอบของสำนักข่าว CNN พบว่าทรัมป์ปล่อยข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับการระบาดเชื้อโควิด-19 มากถึง 33 ครั้งในระหว่างวันที่ 2-15 มี.ค. ที่ผ่านมา

ประเทศอื่นๆ

ในอียิปต์ มีการจับกุมผู้ปล่อยข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการระบาด เช่น การกล่าวอ้างจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกินจริง รวมทั้งจับกุมนักสิทธิมนุษยชนและนักเขียนในข้อหาปล่อยข่าวลวง จากกรณีที่เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและนักวิพากย์วิจารณ์ที่ถูกจองจำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในคุกแออัด

ในอินเดีย ประธานาธิบดี นเรนทระ โมที (Narendra Modi) ประกาศใช้แชทบอทในแอพพลิเคชั่น WhatsApp ซึ่งเป็นแอพฯที่ชาวอินเดียนิยมมากที่สุด และพบข้อมูลเท็จสะพัดมากที่สุด โดยผู้ใช้แอพฯสามารถถามข้อมูลและอัพเดทข่าวสารจากบอท

ขณะที่ในบราซิล ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ปล่อยข้อมูลเท็จเสียเอง โดยให้ข้อมูลแก่สาธารณะว่าเชื้อโควิด-19 เป็นเพียง “ไข้หวัดอ่อนๆ” รวมทั้งกล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ยารักษามาลาเรียใช้รักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เป็นความจริง จนกระทั่งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และยูทูป ต้องลบวีดีโอของโบลโซนารูออกจากระบบ เพื่อป้องกันการแพร๋กระจายของข้อมูลเท็จ

เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ