ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากมีประวัติเสี่ยง และมีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อโรค COVID-19 การจะบอกว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ จะต้องตรวจโดยการเพาะเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม การเพาะเชื้อจะใช้เวลานาน วิธีปัจจุบันเราจึงใช้ RT-PCR เป็นมาตรฐานปัจจุบันในการตรวจนั้น เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (viral RNA) แทน

คนที่ติดเชื้อ และได้รับการดูแลรักษาจนหายดีนั้น นอกจากไม่มีอาการแล้ว ยังต้องตรวจ RT-PCR ให้ได้ผลเป็นลบ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย จึงจะเป็นหลักฐานพอจะเชื่อถือได้ว่าหายแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากไปตรวจอุจจาระของผู้ป่วย จะพบว่าสามารถตรวจ RT-PCR ได้ผลบวกยาวนานกว่าการตรวจจากสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ในขณะที่เลือด ปัสสาวะ น้ำตา และสิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอด มักตรวจไม่พบ

ตามธรรมชาติของโรค COID-19 นี้ ผู้ป่วยมักมีไวรัสปรากฏในสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจตั้งแต่ 2-3 วันก่อนที่จะมีอาการ และจำนวนไวรัสจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสัปดาห์แรกของการเกิดอาการ

ผู้ป่วยที่อาการหนัก มักจะมีปริมาณไวรัสมาก

จากการศึกษาต่างๆ พบว่า สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ถึง 7 วันหลังจากอาการต่างๆ ของผู้ป่วยหายไป โดยมีผู้ป่วยรายหนึ่งที่สามารถตรวจพบยาวนานถึง 49 วัน ซึ่งการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสนี้อาจเป็นซากของไวรัสที่ตายแล้วและไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้

เฉกเช่นเดียวกับการตรวจ RT-PCR แล้วพบในอุจจาระ ซึ่งจะตรวจพบได้ยาวนานกว่าในสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าการตรวจพบเป็นผลบวกนี้จะเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อ

โดยสรุปแล้ว ในสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 นี้ หากเรามีประวัติเสี่ยงไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือทำงานที่ต้องพบปะคนเยอะ หรือไปตะลอนในที่ที่คนเยอะ เช่น ตลาด ห้าง แหล่งท่องเที่ยว แล้วเกิดมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อยหอบ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ และตรวจให้ดีว่า ตกลงเป็นหวัด หวัดใหญ่ หรือ COVID-19

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อทุกอย่างข้างต้น ใช้หลัก New Normal = New "Me" ใครเคร่งครัด...โอกาสติดเชื้อต่างๆ ก็น้อย

แต่หากแจ็คพอต มีอาการเหล่านั้นขึ้นมา ก็ต้องรีบไปตรวจรักษา และกักตัว อยู่ห่างจากคนอื่นๆ รวมถึงสมาชิกในครอบครัว

1 ปีถัดจากนี้ เราต้องรอยา รอวัคซีน อาวุธที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันตัวเองครับ

เป็นกำลังใจให้ทุกคน...

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

#StayHome

#ออกจากบ้านยามจำเป็น

#ใส่หน้ากากเสมอล้างมือบ่อยๆอยู่ห่างจากคนอื่นๆ

#WorkfromHome

#NewNormal_NewMe

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine 2020. Rapid Expert Consultation on SARS-CoV-2 Viral Shedding and Antibody Response for the COVID-19 Pandemic (April 8, 2020). Washington, DC: The National Academies Press.